เหตุผลต้องรู้ ก่อนตรวจหายีน มะเร็งเต้านม
ดิฉันมีกรรมพันธุ์เป็นโรค มะเร็งเต้านม แม่และยายเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม ทำให้มีความกังวลมาก นอกจากตรวจแมมโมแกรมแล้ว ทางโรงพยาบาลมีการตรวจยีนมะเร็งเต้านม ด้วย แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง จึงขอเรียนถามคุณหมอว่า ดิฉันควรตรวจหรือไม่ เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคมะเร็ง
พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดพิจิตร ตอบคำถาม
มะเร็งเต้านม เป็นโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิงทุกคน ในประเทศด้อยพัฒนา แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ จำนวน 1.8 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม 464,000 ราย และประมาณร้อยละ 60 ของจำนวนนี้เสียชีวิต ส่วนในประเทศไทย แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 15,000 คน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ประมาณ 3,000 ราย ถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด และเป็นโรคร้ายที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของผู้หญิง
แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ แต่พบว่าสถิติของโรคเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเชื่อว่าเกิดจาก 2 เหตุผล คือ
1. มีวิธีคัดกรองมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ทำให้ค้นพบโรคได้แต่เนิ่นๆ ขณะที่โรคมะเร็งยังอยู่ในระยะแรกซึ่งสามารถรักษาได้ผล
2. มีการลดการใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน เพื่อทดแทนภาวะหมดประจำเดือน พบว่า มะเร็งเต้านมลดลงมากในคนอายุ 50 ปีขึ้นไปหลังจากมีการศึกษา WHI Study ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2545 พบว่า การใช้ฮอร์โมนสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม
ขอแบ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งเต้านมดังต่อไปนี้
นอกจากนั้นหากมีปัจจัยดังต่อไปนี้ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่
- ให้นมลูกนานกว่า 16 เดือน หรือมีลูก 5 คนขึ้นไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- อยู่ในวัยหมดประจำเดือนและมีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 22.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (ไม่อ้วน)
- ได้รับการตัดรังไข่เมื่ออายุต่ำกว่า 35 ปี
- กินแอสไพรินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 เม็ด มานานกว่า 6 เดือน
การคัดกรองมะเร็งเต้านมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจน โดยทั่วไปแนะนำให้คัดกรองแมมโมแกรมในคนที่มีความเสี่ยงปานกลางควรทำเมื่ออายุ 50 – 74 ปี สองปีครั้ง สำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูงอาจเริ่มตั้งแต่ 40 – 49 ปี โดยตรวจ MRI (เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ร่วมกับแมมโมแกรม แต่ต้องปรึกษาแพทย์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับ
ส่วนการเจาะหายีนกลายพันธุ์ BRCA1 และ BRCA2 ยังไม่ใช่มาตรฐานในการคัดกรองหามะเร็งเต้านม พบข้อเท็จจริงว่า คนที่เป็นมะเร็งเต้านมมีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านมเพียงร้อยละ 10 – 20 ส่วนใหญ่ไม่มีคนในครอบครัวเป็น และเพียงร้อยละ 5 - 20 ของคนที่เป็นมะเร็งเต้านมมียีนกลายพันธุ์