street foods, สตรีทฟู้ด, อาหารข้างทาง, โซเดียม

งานวิจัยชี้ พบอาหารบาทวิถี (Street Foods) ในกรุงเทพ ปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์สูง

Street Foods (อาหารบาทวิถี)ในกรุงเทพ พบปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์สูง

Street Foods คืออาหารที่ขายตามท้องถนน ริมทางเท้าบ้าง ทางเดินบ้าง ฟุตบาทบ้าง  เป็นวัฒนธรรมอาหารการกินของไทยที่สร้างชื่อไปทั่วโลกเชียวนะ ใครมาเที่ยวประเทศไทยแล้วไม่ได้กินอาหารสตรีทฟู้ด( Street Foods ) ถือว่ายังมาไม่ถึงประเทศไทยนะ

ล่าสุดมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง โดย  ดร.เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักวิจัยเชี่ยวชาญ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สำรวจ “ปริมาณโซเดียมและโซเดียมคลอไรด์ในอาหารบาทวิถี (Street Foods) ที่จำหน่ายในเขตกรุงเทพมหานคร”

ชีวจิตออนไลน์เลยไม่พลาดน้ำผลการวิจัยมาฝากทุกคน เเต่เมื่อได้เห็นผลงานวิจัยถึงกับอึ้งกิมกี่เชียวแหละ เพราะไม่อยากเชื่อเลยว่าอาหารที่เราซื้อกินตามริมถนน มีปริมาณโซเดียมและโซเดียมสูงเกินเกณฑ์มากมาย แต่จะเป็นเมนูอะไรบ้างนั้น เราลองมาดูกันเลย

ผลการสำรวจอาหารสตรีทฟู้ด

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างอาหารหาบเร่แผงลอยทั้งริมบาทวิถีและในตลาดรวมถึงศูนย์อาหารจากเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร รวม 221 ตัวอย่าง 76 ชนิด แบ่งเป็นกับข้าว 27 ชนิด อาหารจานเดียว 29 ชนิด และ อาหารว่าง/ขนม 20 ชนิด พบว่า อาหารที่สำรวจส่วนใหญ่มีปริมาณโซเดียมต่อน้ำหนักหน่วยขายเป็นถุงหรือกล่อง ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ สรุปได้ดังนี้

  1. ประเภทกับข้าว : ชนิดที่มีน้ำแกงทั้งใส่กะทิ/ไม่ใส่กะทิ ได้แก่ แกงไตปลา แกงเทโพ แกงเขียวหวาน พะแนงหมู ฉูฉี่ปลาทู แกงส้มผักรวม ต้มยำ/ต้มโคล้ง แกงจืดวุ้นเส้น ไข่พะโล้ ชนิดที่ใส่พริกแกง ได้แก่ ผัดเผ็ดปลาดุก ปลาทอดราดพริก รวมถึงเครื่องจิ้ม เช่น น้ำพริกปลาร้า และน้ำพริกกะปิ มีปริมาณโซเดียมในระดับเสี่ยงสูงมาก หรือมากกว่า 2000 มิลลิกรัมต่อถุงที่จำหน่าย ตรวจพบร้อยละ 59 ของจำนวนชนิดกับข้าว โดยเฉพาะกับข้าวที่มีการใช้ส่วนผสม ไตปลา ปลาร้า และพริกแกง จะมีระดับโซเดียมที่มีความเสี่ยงสูงมากต่อสุขภาพ
  2. ประเภทอาหารจานเดียว : ชนิดที่มีน้ำซุป (ในกลุ่มอาหารเส้น) เช่น ก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋น ต้มเลือดหมู บะหมี่หมูต้มยำ บะหมี่น้ำหมูแดง เส้นหมี่ลูกชิ้นน้ำใส ก๋วยจั้บน้ำข้น และสุกี้น้ำรวมมิตร รวมถึงอาหารแซบ เช่น ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำไทย มีปริมาณโซเดียมในระดับเสี่ยงสูงมาก หรือ มากกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อถุงที่จำหน่าย ตรวจพบร้อยละ 35 ของจำนวนชนิดอาหารจานเดียว ขณะที่ โจ๊กหมู ยำรวมมิตร ลาบหมู ข้าวขาหมู และ ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า มีโซดียมในระดับเสี่ยงสูง ระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิกรัมต่อถุงที่จำหน่าย ตรวจพบร้อยละ 17 ของจำนวนชนิดอาหารจานเดียว สำหรับประเภทผัด เช่น ผัดไทย หอยทอด ข้าวผัดหมูใส่ไข่ ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว มีโซเดียมในระดับความเสี่ยงปานกลาง และ ข้าวราดกะเพราหมู/ไก่ และ ข้าวไข่เจียวอยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ ระหว่าง 600-1,000 มิลลิกรัมต่อกล่องที่จำหน่าย
  3. ประเภทอาหารว่าง/ขนม : ชนิดที่มีน้ำจิ้ม ได้แก่ ไส้กรอกทอด คอหมูย่าง ทอดมันปลากราย ขนมกุยช่าย ลูกชิ้นปิ้ง ปอเปี๊ยะทอด ไก่ทอด ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน มีปริมาณโซเดียมในระดับเสี่ยงสูง หรือ มากกว่า 1000 มิลลิกรัมต่อถุงหรือกล่องที่จำหน่าย ตรวจพบร้อยละ 40 ของจำนวนชนิดอาหารว่าง ส่วนขนมไทย เช่น ข้าวเหนียวสังขยา ขนมครก สาคูไส้หมู กล้วยบวชชี และตะโก้สาคู   มีโซเดียมในระดับความเสี่ยงต่ำ ระหว่าง 200 – 600 มิลลิกรัม และซาลาเปาไส้หมูมีโซเดียมต่ำสุด

อ่านเพิ่มเติม : เตือนชาวพุทธลดโซเดียมใส่บาตรพระสงฆ์ วันวิสาขบูชา

อ่านต่อ>> กินเท่าไหร่พอดี

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.