อาหารฟื้นฟู ร่างกาย

สุดยอด อาหารฟื้นฟู อาการ โรคยอดฮิต

อาหารหลังผ่าตัดจากอุบัติเหตุ เยียวยาบาดแผลหายไว

หากเป็นการผ่าตัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร หลังออกจากโรงพยาบาลสามารถกินอาหารได้ตามปกติ แต่หากมีการผ่าตัดลำไส้หรือช่องท้องอาจต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอาหาร จากเดิมที่ให้งดอาหาร จิบน้ำเปล่า เปลี่ยนมาเป็นซุปใส อาหารเหลวใสไม่มีกากใย อาหารอ่อนจนสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์

สำหรับผู้ป่วยที่สามารถกลับมากินอาหารได้ตามปกติ ควรเน้นกินอาหารให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ช่วยให้บาดแผลหายเร็ว ดังนี้

กินอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้รับพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานก่อนผ่าตัด เพราะหากผู้ป่วยมีพลังงานสำรองในร่างกายไม่เพียงพอและมีภาวะขาดสารอาหาร เมื่อต้องพบกับภาวะการเผาผลาญที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่อาจมีผลให้แผลผ่าตัดสมานตัวช้าและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้

British Journal of Nursing แนะนำพลังงานจากอาหารที่ผู้ป่วยหลังผ่าตัดควรได้รับใน 1 วัน คือ 30 – 35 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขณะที่ในสภาวะปกติ ร่างกายต้องการอาหาร 25 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

เพิ่มโปรตีนคุณภาพ อาหารที่มีโปรตีนสูงช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย ช่วยให้แผลหายเร็ว โดยโปรตีนคุณภาพดีคือโปรตีนที่มีกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน เช่น โปรตีนจากเนื้อปลา ทั้งนี้หากผู้ป่วยกินอาหารมังสวิรัติ แนะนำให้กินโปรตีนจากธัญพืชและถั่วต่างๆ ให้หลากหลาย ทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน

หลังผ่าตัด ความต้องการโปรตีนจะเพิ่มขึ้น จากเดิมต้องการโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 – 3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

เลือกไขมันดี กินข้าว แป้งให้เพียงพอ ไขมันดี ได้แก่ กรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวและหลายตำแหน่ง ให้พลังงานสูง ช่วยป้องกันร่างกายสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน ใช้สร้างและซ่อมแซมเยื่อหุ้มเซลล์ ช่วยให้แผลสมานเร็ว

น้ำมันงา ฟื้นฟูร่างกาย
น้ำมันงา ช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดจากอุบัติเหตุ

ไขมันดีพบในน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วลิสง นอกจากนี้กรดไขมันโอเมก้า - 3 จากปลาทะเลยังมีผลช่วยลดการอักเสบและช่วยรักษาบาดแผลอีกด้วย

ส่วนอาหารประเภทข้าว แป้ง เช่น ข้าวไม่ขัดขาว ขนมปังโฮลวีต เผือก มันเทศ ผักผลไม้ต่างๆ มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของร่างกาย กินเพียงพอช่วยป้องกันร่างกายดึงโปรตีนมาใช้เป็นพลังงาน ทำให้โปรตีนสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อและรักษาบาดแผลได้เต็มที่

สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานไม่ควรจำกัดอาหารเพื่อลดน้ำหนักจนกว่าแผลผ่าตัดจะหาย ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักน้อยควรกินเพิ่มขึ้นให้น้ำหนักกลับมาอยู่ในระดับปกติ เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับพลังงานและสารอาหารเพียงพอในการฟื้นฟูร่างกาย

เสริมวิตามินจากธรรมชาติ วิตามินซี เอ แร่ธาตุสังกะสี และธาตุเหล็ก ล้วนมีส่วนช่วยให้บาดแผลหายไว

โดยวิตามินซีจำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจน (Collagen) โปรตีนสำคัญที่ใช้สร้างผิวหนัง รักษาบาดแผลรวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลอดเลือด เอ็นและกระดูก วิตามินซีพบมากในผลไม้ เช่น ฝรั่ง ลิ้นจี่ มะละกอ ส้ม

วิตามินเอมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างคอลลาเจน หากขาดอาจทำให้แผลติดเชื้อ หายช้า แหล่งของวิตามินเอ ได้แก่ ปลา ผักใบเขียว แตงโม มะละกอ

สังกะสีมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนและคอลลาเจน ช่วยผลิตเซลล์ผิวใหม่และสมานบาดแผล พบมากในปลาและอาหารทะเล

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเฮโมโกลบินทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมถึงบาดแผล อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ปลา คะน้า บรอกโคลี ผักโขม ผักบุ้ง ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ นอกจากนี้สามารถเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้โดยกินร่วมกับอาหารที่มีวิตามินซีสูง

ดื่มน้ำวันละ 6 – 8 แก้ว น้ำเป็นส่วนประกอบหลักของเลือด หากร่างกายขาดน้ำ การไหลเวียนเลือดจะขาดประสิทธิภาพ ส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารลำเลียงไปยังบาดแผลไม่เต็มที่ บาดแผลที่รอการซ่อมแซมจึงสมานตัวได้ช้า แนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 1 ลิตรครึ่ง หรือเลือกกินอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำเป็นมื้อว่าง เช่น ซุปใส ผลไม้ที่มีน้ำมาก เช่น ส้ม แตงโม

อาหาร ฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด
กินผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กสูง ช่วยให้แผลจากการผ่าตัดหายไวขึ้น

อาหารฟื้นฟู สุขภาพ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อ

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ให้นิยามโรคติดเชื้อ (Infectious Diseases) ว่า เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา ปรสิต หากเป็นโรคติดต่อสามารถแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ โดยโรคติดเชื้อที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย อหิวาต์ โปลิโอ ไวรัสตับอักเสบบี

โรคติดเชื้อมีความหลากหลาย แตกต่างทั้งความรุนแรงและการรักษา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ โรคติดเชื้ออาจมีผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร

เพราะในขณะที่ติดเชื้อ กระบวนการเผาผลาญสารอาหารภายในร่างกายจะเพิ่มขึ้น วิตามินและแร่ธาตุที่มีส่วนช่วยในกระบวนการก็จะถูกดึงไปใช้เพิ่มขึ้นด้วย หากร่างกายกินอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายจะสลายกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อภายในออกมาใช้เป็นพลังงาน ถึงตอนนั้นร่างกายก็จะยิ่งอ่อนแอภูมิคุ้มกันลดลง ส่งผลให้ฟื้นตัวจากโรคช้าและอาจเกิดโรคแทรกซ้อนซ้ำเติม

ฉะนั้นผู้ป่วยควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลากหลายและเพียงพอ พร้อมทั้งรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้ต่ำกว่ามาตรฐาน และเน้นอาหารที่ให้วิตามินและแร่ธาตุที่ร่างกายอาจขาดระหว่างติดเชื้อ

องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) ให้ข้อมูลในรายงาน Malnutrition and Infection ว่า โรคติดเชื้ออาจทำให้ขาดวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่วิตามินบี 1 บี 3 บี 6 บี 12 กรดโฟลิก (Folic Acid) วิตามินเอ ซี ดี เค และธาตุเหล็ก

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต สรุปแหล่งอาหารจากวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ไว้ ดังนี้

วิตามินและแร่ธาตุ        แหล่งอาหารจากธรรมชาติ

วิตามินบี1                     ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต รำข้าว ถั่วต่างๆ ถั่วงอก งา กะหล่ำปลี แครอต

วิตามินบี3                   ถั่วลิสง ผักสด รำข้าว มันฝรั่ง ใบยอ

วิตามินบี6                   กะหล่ำปลี ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ถั่วต่างๆ

วิตามินบี12                 เนื้อปลา อาหารทะเล

กรดโฟลิก                 ผัก ผลไม้ ข้าวแดง ข้าวโพด รำละเอียด ถั่ว เห็ด ยีสต์

วิตามินเอ                   กล้วย มะละกอสุก ส้มเขียวหวาน มะเขือเทศ มันเทศ แครอต ตำลึง ใบมะขาม ใบมะยมอ่อน

วิตามินซี                    ฝรั่ง ส้ม กล้วย เชอร์รี่ มะเขือเทศ ดอกแค ตำลึง ผักกระเฉด ผักกาดขาว ผักโขม ผักคะน้า ผักกาดหอม พริก กะหล่ำปลี แตงกวา หอมหัวใหญ่

วิตามินดี                   โยเกิร์ต แสงแดดยามเช้าเวลา 6.00 – 10.00 น. และตอนเย็นเวลา 16.30 – 18.00 น.

วิตามินเค                 คะน้า รำข้าว กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ มะเขือเทศ น้ำมันถั่วเหลือง

ธาตุเหล็ก                  เนื้อปลา ดอกและใบขี้เหล็ก มะเขือพวง ตำลึง รำข้าว งา ฟองเต้าหู้

นอกจากนี้ควรระมัดระวังไม่รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเพิ่มขึ้น โดยกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก และหลีกเลี่ยงน้ำแข็งตามร้านค้าซึ่งอาจมีเชื้อก่อโรคปะปน

ปรับอาหารให้เหมาะสม หลากหลาย ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับรองหายไว กลับมาแข็งแรงสดใสยิ่งกว่าเดิมค่ะ

 

จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 378


บทความน่าสนใจอื่นๆ

วิตามินล้างพิษ ช่วยสุขภาพดี หัวจรดเท้า ตอนที่ 1

วิตามินล้างพิษ ช่วยสุขภาพดี หัวจรดเท้า ตอนที่ 2

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.