รับมือเด็กสมาธิสั้น พัฒนาการเรียนรู้
นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนเองและทีมวิจัย พบว่า การ เดินจงกรม สามารถนำมาปรับใช้กับกลุ่มเด็กสมาธิสั้นให้มีผลการเรียนที่ดีได้อีกด้วย
“ตัวอย่างเช่น เด็กชายซึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น อายุ 9 ปี มีปัญหาในการเข้าสังคม มักปลีกตัว ไม่ทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่น เขียนตัวอักษรทั้งภาษาไทยและอังกฤษไม่ได้ และมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครองและครู
“ช่วงการเรียนหรือทำกิจกรรมในห้อง เด็กมักจะต่อต้าน แต่เมื่อนำกิจกรรมเดินจงกรมมาเสริมหลังเลิกเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ โดยระยะเวลาในการเดินที่เหมาะสมคือ 10 - 20 นาที พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับนักบำบัดหรือครูดีขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้นมีความอดทนและร่าเริงแจ่มใส ทักษะในการเข้าสังคมดีขึ้นด้วย”
นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายถึงกรณีศึกษานี้ว่า การเดินจงกรมเสมือนเป็นการให้รางวัลหลังทำกิจกรรมในห้องเรียนเสร็จ ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิและความอดทนได้อย่างเป็นธรรมชาติ
สุดท้าย ควรให้เด็กฝึกเดินจงกรมร่วมกับบุคคลที่เด็กไว้ใจ หรือรู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นหลังการฝึกแนะนำให้สอบถามถึงกิจกรรมในห้องเรียน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งนำมาปรับปรุงวิธีการเรียน หรือทำกิจกรรมของเด็กได้ต่อไป หากทำเป็นประจำทุกวันจะให้ผลเร็วยิ่งขึ้น

บอกลาโรควิถีชีวิตยอดฮิต หัวใจ เบาหวาน ความดัน
ทีมวิจัยโดยแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลกันทรลักษ์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ศึกษา วิธีส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยหลักการแพทย์แผนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีวิธีการดังนี้
ศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมด 676 คน โดยมีกลุ่มทดลองจำนวน 291 คน ใช้การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย และมีการใช้หลักปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ถือศีล 5 และเดินจงกรม โดยแนะนำให้เดินบนพื้นกรวดแม่น้ำที่กลมมนเพียงวันละ 15 นาทีทุกวัน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือให้ดำเนินชีวิตตามปกติ เมื่อทำการทดลองครบ 2 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ป่วยซึ่งปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งหมายถึงร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดีกว่าช่วงก่อนการทดลอง และดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลวิจัยนี้สัมพันธ์กับงานวิจัยของ แพทย์หญิงดวงรัตน์ ชลศฤงคาร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งศึกษา ผลเฉียบพลันของการเดินจงกรมต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง พบว่า การเดินจงกรมลดระดับความดันโลหิตได้ไม่แตกต่างจากการนั่งพัก แต่สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการนั่งพัก
รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การเดินจงกรมอย่างต่อเนื่องทำให้จิตเป็นสมาธิ คลื่นสมองทำงานช้าลง และมีการหลั่งสารสื่อประสาทซึ่งช่วยยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) ลดการสลายไกลโคเจนจากตับ จึงลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้
นอกจากนี้ การเดินจงกรมยังช่วยลดระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากการเดินจงกรมสร้างความสงบและลดเครียดอย่างได้ผล โดยไปกระตุ้นให้ร่างกายลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) พูดง่ายๆ ว่า การเดินจงกรมช่วยลดทั้งระดับน้ำตาลในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจได้ หากปฏิบัติเป็นประจำก็จะช่วยบอกลาโรควิถีชีวิตหรือ NCDs (Non-communicable Diseases) อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหัวใจ ไปได้เลย