เดินจงกรม

Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

ฟื้นฟูระบบย่อยและระบบขับถ่าย ลดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน

ปกติการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายนอกจากจะมีการบีบตัวของอวัยวะภายในแล้ว จำเป็นต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก ในท่าที่ร่างกายตั้งตรง เพื่อเสริมกลไกการบีบไล่อาหารและลำเลียงปัสสาวะจากกรวยไตสู่กระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย

หากต้องการให้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดอวัยวะในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายฟื้นตัวเร็วขึ้น มีการขับถ่ายได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องเสริมการเดินช้า ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้อวัยวะภายในของระบบนั้น ๆ กลับมาทำงานอีกครั้ง

แพทย์หญิงชีลา พาเทล (Sheila Patel, MD) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและการแพทย์องค์รวมแบบอายุรเวทแห่ง Copra Center สถาบันสุขภาพองค์รวมชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า

องค์ความรู้ด้านอายุรเวทเชื่อว่า การเดินจงกรม ช่วยเสริมการทำงานของธาตุไฟในร่างกาย ฟื้นฟูการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายได้ และกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง

ส่วนผลทางจิตใจก็ช่วยลดความเครียด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้ตามปกติ จึงย่อยอาหารได้ดี ลดปัญหาการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและภาวะกรดเกิน ซึ่งทำให้รู้สึกแน่นและปวดท้อง

งานวิจัยของ ดร. นายแพทย์มาร์คัส คารีย์ (Dr. Marcus Carey, MD) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะและนรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และคณะ ระบุว่า การเดินช้าๆ เป็นการออกกำลังกายหลังผ่าตัดที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นในโรงพยาบาลได้

ข้อมูลในตำราการทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วอลเตอร์ ฟรอนเทอรารัวรา (Professor Walter Frontera-Roura, MD) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเปอร์โตริโกเครือรัฐเปอร์โตริโก ระบุว่า

การเดินหลังการผ่าตัดระบบย่อยอาหารช่วยลดภาวะปวด อืด แน่นท้อง ลำไส้บีบตัวช้า ปัสสาวะไม่ออก นิ่ว และภาวะติดเชื้อในระบบปัสสาวะได้เป็นอย่างดี เมื่อเสริมโปรแกรมการเดินให้กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้ความอยากอาหารกลับมาเป็นปกติ จึงเป็นผลให้สุขภาพโดยรวมสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

จะเห็นได้ว่า หากนำการเดินช้าๆ มาปรับเป็นการเดินจงกรม ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กันได้ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวค่ะ

เดินจงกรม แก้โรคซึมเศร้า
ฝึกเดินจงกรม วันละ 20 - 45 นาที ช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้อย่างดี

ฝึกใจให้อดทน ช่วยลดซึมเศร้า

นายแพทย์วอลเตอร์ระบุไว้ในตำราการทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย DeLisa’s Physical Medicine and Rehabilitation ว่า ในการฟื้นฟูสุขภาพหลังจากการรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง นอกจากความแข็งแรงของร่างกายภายนอกแล้ว จำเป็นต้องฟื้นฟูจิตใจด้วย

“ระหว่างการรักษา เราพบเสมอว่า ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักฟื้นบนเตียงนานๆ มักขาดความอดทนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานๆ ทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาด้านสมอง การเรียนรู้ หรือสูญเสียความทรงจำ หลายรายรู้สึกอึดอัดในการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ส่งผลให้เกิดโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) หรือซึมเศร้า (Depression)

“กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตแขนขาร่วมกับภาวะอ่อนล้า (Hemiparesis with Central Fatigue) ซึ่งต้องฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจร่วมกัน ในโปรแกรมฟื้นฟูจะมีทั้งการทำกายภาพบำบัดกิจกรรมศิลปะบำบัด กิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมถึงการเดินจงกรมด้วย

“จากประสบการณ์เราพบว่า เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ การเดินช้า ๆโดยฝึกเจริญสติ (เดินจงกรม) ไปด้วยเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ประหยัดทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ในการใช้งาน เพียงให้ผู้ป่วยเดินจงกรมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 20 - 45 นาที จะช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้อย่างดี

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 5 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.