เดินจงกรม

Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

รวมเกร็ดเดินจงกรมทั้งได้ผลและปลอดภัยเพื่อผู้ป่วย

เรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกเดินจงกรมนั้นควรพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้เริ่มจากน้อยไปหามาก จากนั้นค่อยปรับให้ได้ระยะเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละคนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า

ในกรณีที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเลือกการเดินเป็นการออกกำลังกายประจำวัน เพราะประหยัดและปลอดภัยโดยแนะนำให้เดินวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 - 4 วัน

ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ แนะนำให้เลือกการเดินจงกรมซึ่งมีจังหวะการเดินที่ช้ากว่า ช่วยให้ฝ่าเท้า ข้อเท้า เข่า รับแรงกระแทกน้อยกว่าอย่างน้อยเริ่มตั้งแต่ 15 – 45 นาทีติดต่อกัน

เดินจงกรม สำหรับผู้ป่วย
การเดินจงกรม มีจังหวะการเดินที่ช้ากว่าการเดินปกติ จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วย

ข้อแนะนำเรื่องเวลาในการฝึกเดินจงกรม มีดังนี้

  •  เลือกเดินจงกรมในเวลาที่สะดวกและจิตใจปลอดโปร่ง หากเป็นไปได้ควรเดินจงกรมในเวลาเช้าตรู่ เพราะให้ประโยชน์ต่อการฝึกสมาธิ ช่วยให้มีสติรู้กำกับไปตลอดทั้งวันได้
  •  หากไม่สะดวกก็สามารถเลือกเดินจงกรมในเวลาเย็นหรือก่อนเข้านอนก็ได้เช่นกัน โดยจะส่งผลให้ตัดความกังวล นอนหลับได้ดี ตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น
  •  หากต้องการให้ได้ผลต่อการฝึกสติ ควรมีการสวดมนต์หรือทำวัตรร่วมด้วย โดยเดินจงกรมก่อนแล้วจึงทำวัตรในช่วงเช้า และเดินจงกรมอีกครั้งหลังเวลาทำวัตรในช่วงเย็น หัวใจสำคัญคือ ต้องการให้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันนั่นเอง

สุดท้าย ควรเลือกพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการเดินจงกรมด้วย โดยจะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งสงบ สะอาด อากาศถ่ายเท มีแสงสว่างเพียงพอ มีพื้นราบไม่ลาดชัน ไม่ลื่นหรือขรุขระจนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะเดิน

ไม่น่าเชื่อว่า การเดินจงกรม แนวทางปฏิบัติภาวนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ผ่านกาลเวลามาร่วมสองพันห้าร้อยปีนั้น จะให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพได้ครบถ้วนเช่นนี้ นับเป็น “ยาขนานเอก” ที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูและเยียวยาโรคสำคัญ ๆ เกือบทุกระบบเลยทีเดียว

รับรองว่า ถ้าคุณมี ชีวจิต เป็นเพื่อนใกล้ตัวอยู่เสมอ จะได้ค้นพบความรู้ใหม่ๆ เช่นนี้เป็นประจำทุกปักษ์ ไม่มีวันตกเทรนด์สุขภาพแน่นอนค่ะ

เดินจงกรม เพื่อสุขภาพกาย ใจ

2 วิธีเดินจงกรมเพื่อสุขภาพกายใจ

โดยทั่วไป การเดินจงกรมแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ ดังนี้

การเดินแบบก้าวย่าง 

เน้นการฝึกให้สติอยู่กับจังหวะการก้าว มักมีการภาวนากำกับ เช่น เมื่อยกเท้าให้ภาวนาว่า “ยกหนอ” เมื่อย่างเท้าพ้นจากพื้นให้ภาวนาว่า “ย่างหนอ” เมื่อเท้าจะเหยียบลงบนพื้นให้ภาวนาว่า “เหยียบหนอ” เหมาะกับผู้ที่มีจริตละเอียด ชอบนึกคิด อยากรู้อยากเห็น

การเดินในอิริยาบถปกติ  

เป็นการเดินตามจังหวะธรรมดาโดยไม่ต้องภาวนาในทุก ๆ จังหวะการเคลื่อนไหวอย่างแบบแรก เพียงแค่กำหนดรู้ซ้ายและขวา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติแบบเรียบง่าย ไม่เน้นพิธีรีตอง

ส่วนรายละเอียดในการภาวนา ท่าเดิน และการวางมือจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายการปฏิบัติหรือสำนักต่างๆ โดยทั่วไปแนะนำให้เดินตัวตรง ทอดสายตาไปที่พื้นเบื้องหน้าหรือจะมองตรงก็ได้ มักให้เดินด้วยความสำรวม ไม่ส่งเสียงดังเพราะต้องการให้ผู้ที่เดินจงกรมเกิดสมาธิขณะเดิน

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 378


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เดิน ขึ้น-ลงบันได เร่งการเบิร์น ช่วยลดน้ำหนัก

เดินป้องกันความดันต่ำ

เทคนิคเดินเร็ว ลดเสี่ยงโรคหัวใจ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.