ทางลัดฟื้นฟูกายและใจ จากภาวะพีทีเอสดี
ประโยชน์ประการสุดท้ายที่น่าสนใจมากในการเดินจงกรม คือ เป็นโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจที่ให้ผลดีกับผู้ที่มีภาวะเครียดภายหลังประสบภัย (Posttraumatic Stress Disorder หรือ PTSD – พีทีเอสดี) มักเป็นหลังพบสถานการณ์สะเทือนใจ พบว่าร้อยละ 15 - 40 ของผู้ประสบภัยตกอยู่ในภาวะนี้ ซึ่งต่างจากภาวะเครียดฉับพลัน (Acute Stress Reaction) ซึ่งมักสิ้นสุดลงภายใน 1 เดือนหลังประสบเหตุ
ตัวอย่างอาการจากภาวะพีทีเอสดีเริ่มจากผู้ป่วยจะเงียบเฉย ขาดการตอบสนอง สับสนไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม ต่อมาจะกังวลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิคิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ จนพัฒนาเป็นรู้สึกตกใจขึ้นมาเหมือนตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น หากมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น ได้ยินเสียงคลื่น เสียงน้ำ เสียงคนร้องตะโกนดังๆ ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์อีก (Flashback) และตกใจกลัวอย่างรุนแรง เกิดอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก จนมีปัญหาไม่สามารถเรียนหรือทำงานตามปกติได้
ดร. นายแพทย์แรนดัลล์ แอล. แบรดดอม (Dr. Randall L. Braddom, MD) จิตแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์ Malcom Randall Veterans Affairs Medical Center สังกัดกระทรวงทหารผ่านศึก ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่าการเสริมกิจกรรมเดินจงกรมให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ช่วยสร้างความสงบในใจได้ต่อเนื่อง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดการกินยาและการทำกิจกรรมบำบัดอื่น ๆ ได้ ควรเลือกเดินในสถานที่สงบ ร่มรื่น เช่น สวนสาธารณะ เพราะจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายลดความอ่อนล้าทั้งทางกล้ามเนื้อและจิตใจได้ดี
นายแพทย์แรนดัลล์ระบุว่า วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยภาวะพีทีเอสดีซึ่งประสบความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ผู้ประสบภัยธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทหาร ตำรวจ ที่ผ่านภารกิจหนักนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น