กัญชา, สมุนไพร, ใบกัญชา, ประโยชน์ของกัญชา, กัญชาเทศ

กัญชา ยาเสพติด หรือ ยาสมุนไพร

กัญชา ยาเสพติด หรือ ยาสมุนไพร : การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทย

กัญชา เป็นประเด็นถกเถียงกันในวงกว้าง ทั้งโลกออฟไลน์เเละออนไลน์ มีประโยชน์ หรือโทษ(สารเสพติด) ในเเง่การรักษาสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ ควรปลดล็อคกฎหมายหรือเปล่า ?

เพราะประเทศไทยจัดกัญชา เป็นสารเสพติดประเภทที่5 ออกฤทธิ์แบบผสมผสาน กดประสาท กระตุ้น หรือหลอนประสาท จึงไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง แม้กระทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

แต่ในทางตรงกันข้าม อีกฝั่งของโลก มีจำนวนมากกว่า 16 ประเทศมีการอนุญาติให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนรัฐมากกว่าครึ่งที่อนุญาติ และเห็นว่ากัญชานั้นสามารถช่วยรักษาโรคให้หายเจ็บป่วยได้

เพราะมีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่า กัญชาสามารถใช้เป็นยารักษาโรคที่ได้ผลดี  เช่น รักษาอาการปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่  รักษาอาการบางอย่างของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือโรคเอ็มเอส รักษาอาการนอนไม่หลับ และลดผลข้างเคียงจากการรักษาโดยใช้เคมีบำบัด  เช่น คลื่นไส้ อาเจียน

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานวิจัยพบว่า กัญชายังสามารถรักษาโรคชัก ต้อหิน  เอชไอวี/เอดส์  ลดอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า  โรคความจำเสื่อม  โรคลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ โรคพากินสัน  และโรคจิตเภท  เป็นต้น

กัญชา, สมุนไพร, ใบกัญชา, ประโยชน์ของกัญชา, กัญชารักษาโรค
ในหลายๆ ประเทศ มีการใช้กัญชา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์

กัญชา ตำรับยาไทย

หลายอาการ และโรคมีงานวิจัยที่มีความสอดคล้องกับการใช้กัญชาในตำรับยาแพทย์แผนไทย ระบุไว้ใน คัมภีร์แพทยศาสตร์สงเคราะห์ว่า กัญชา มีรสเมาเบื่อ สรรพคุณแก้ไข้ ผอมเหลือง ไม่มีแรง ตัวสั่น เสียงสั่น  โรคที่เกี่ยวข้องกับธาตุลมกำเริบ และแก้อาการนอนไม่หลับ

กัญชาในตำรับยาแพทย์แผนไทย ไม่ใช้เป็นยาเดี่ยว ปริมาณน้อย แต่เป็นการใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นๆในตำรับ  อีกทั้งการปรุงยาทำด้วยแพทย์แผนไทยที่มีความชำนาญเป็นอย่างมาก  ฉะนั้นสามารถใช้ได้ทั้งต้น หรือเบญจกัญชา (ใบ ดอก ผล ราก ลำต้น) จนกลายเป็นหลากหลายตำรับ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

  1. ช่วยให้กินอาหารได้มากขึ้น คือ ยาไฟอาวุธ ใช้แก้โรคตานทราง มีอาการผอมตัวเหลือง พุงโรก้นป่อง กินอาหารได้น้อย
  2. แก้โรคลม คือ ยาแก้โรคลมอุทธังคาวาตา ที่ทำให้ชัก ลิ้นกระด้างคางแข็ง หรือยาพรมภักตร์ แก้ลมตีนตาย มือตาย หรือในปัจจุบันเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต
  3. ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ เช่น คนไข้วัยทอง ภาวะซึมเศร้า
  4. รักษาอาการหอบหืด หรือโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง ทำให้ทางเดินหายใจดีขึ้น โดยการสูบม้วนร่วมกับสมุนไพรตัวอื่นๆ เช่น ใบลำโพงกาสลัก
  5. ลดอาการปวด เช่น อาการปวดมวนท้อง ท้องผูกเป็นพรรดึก(โรคกษัย) เป็นก้อนขี้แพะ กินอาหารไม่ได้ หรือแม้กระทั้งอาการปวดประจำเดือน
  6. โรคมะเร็ง หรือโรคฝีมหากาฬ ฝีมะเร็งทรวงในทางการแพทย์แผนไทย
กัญชาเทศ, กัญชา, สมุนไพร, ประโยชน์ของกัญชา, ใบชา
กัญชาเทศ มีสรรพคุณ แก้อาการนอนไม่หลับ

กัญชา กัญชง ?

อย่างไรก็ตามนอกจากกัญชา แล้วยังมีสมุนไพรที่มีชื่อคล้ายกันอีก 2 ชนิด คือ กัญชง และกัญชาเทศ แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น กัญชงมีลักษณะทางพฤกษศาตร์คล้ายกันชา มีปริมาณสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน มักนิยมมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปัจจุบันถูกจำกัดพื้นที่ในการปลูก

ส่วนกัญชาเทศ เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณที่คล้ายๆกับกัญชา เช่น  ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ใช้ทา กระหม่อมแก้โรคลม  แก้ไข้มาลาเรีย  ถึงแม้กัญชาจะถูกจำกัดในการนำมาใช้รักษาคนไข้ แต่ยังมีสมุนไพรที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงการรักษา เช่น

  • สมุนไพรรสขม เช่น บอะระเพ็ด มะระขี้นก สะเดา ลูกกระดอม กินช่วยให้เจริญอาหาร
  • ใบขี้เหล็ก มีสารบาราคอล (Barakol) ใช้ใบอ่อนต้มน้ำให้ความขมออก กินเป็นอาหารช่วยให้นอนหลับ
  • ดอกกาสะลอง และใบหนุมานประสานกาย มวนสูบรักษาอาการหอบหืด
  • สมุนไพรรสร้อน เช่น ขิง ขมิ้นชัน กะเพรา กินช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น
  • เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน กินช่วยลดอาการปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบ
  • ตำรับยาประสะไพล กินช่วยลดอาการปวดประจำเดือน

ปัจจุบันยังเป็นข้อถกเถียงกันในแง่ของกฎหมายของการใช้กัญชา เพราะถูกจัดเป็นยาเสพติด  แต่ถ้าหากมีกฏหมายอนุญาติใช้ใช้ประโยชน์ในแง่ทางการแพทย์เหมือนประเทศอื่นๆ ก็สามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคได้  เช่น การจำกัดขอบเขตในการปลูกเหมือนกัญชง หรือหมอ 1 คน สามารถปลูกได้ 1 ต้น เพื่อใช้ปรุงยาให้กับคนไข้ หรือการวิจัยพัฒนายาที่ใช้รักษาโรคที่ยังไม่มียารักษาได้

            อนาคตข้างหน้าเราจะได้มียาสมุนไพรดีๆรักษาผู้ป่วยนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

10 คำถาม ที่ต้องตอบให้ได้เมื่อปวดท้อง พร้อมเช็กอาการปวดตรงไหนเป็นโรคอะไร

คู่มือกินหนีโรคสำหรับคนนอนดึก นอนไม่หลับ นอนไม่เป็นเวลา

4 เรื่องดราม่า สมุนไพร นวดไทย เรียนรู้ และรับมืออย่างไร ให้ปลอดภัย

เขียนโดย

          แพทย์แผนไทยประยุกต์ (พท.ป.) ชารีฟ หลีอรัญ หมอไทยรุ่นใหม่ที่จบการศึกษาสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสาร ชีวจิต ที่อาสานำความรู้การแพทย์ไทย สมุนไพร ร่วมกับการบูรณาการความรู้ทางด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์เข้าด้วยกัน ให้กับผู้อ่านทุกท่าน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.