ปวดท้องแบบไหน ต้องตอบให้ได้เมื่อไปพบแพทย์
แน่นอนว่าเมื่อมีอาการ ปวดท้อง ขึ้นมา ถ้าไม่ร้ายแรงอะไรก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าปวดจนทนไม่ได้ กระทบการใช้ชีวิตถึงกับต้องไปหาหมอ เราจึงต้องสังเกตอาการว่า ปวดท้องแบบไหน และตอบคำถามหมอให้ได้ เพื่อที่คุณหมอจะได้วินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้อง
ปวดท้องของเรา คือปวดท้องอะไร
คุณเคยสังเกตไหม ว่าเวลาที่ปวดท้องจนต้องไปพบหมอ ทำไมคุณหมอมักมีคำถามถามเรามากมายขนาดนี้ (สำหรับคนที่ยังไม่เคยก็เตรียมตัวเจอคำถามได้เลย) นั่นเป็นเพราะหากวินิจฉัยผิดพลาด หรือรักษาไม่ถูกตามอาการของโรค อาจทำให้เกิดอันตรายจนถึงชีวิตได้ และสิบคำถามต่อไปนี้ มักเป็นคำถามที่คุณต้องตอบเมื่อมีอาการปวดท้อง
1.ตำแหน่งหรือบริเวณที่ปวด เช่น ปวดท้องข้างซ้าย ปวดท้องข้างขวา ปวดบริเวณลิ้นปี่ รอบๆสะดือ หน้าท้องส่วนบน ใต้ชายโครงขวาหรือซ้าย เมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดท้องนั้นย้ายที่ไปหรือไม่
2.ลักษณะของอาการปวดเป็นแบบใด ปวดท้องเป็นพักๆ เดี๋ยวมากเดี๋ยวน้อย ปวดแน่น ปวดท้องเหมือนถูกแทง หรือปวดท้องถ่วงๆ ปวดท้องหน่วงๆ เป็นต้น
3.ปวดท้องมานานเท่าไร เช่น ปวดท้องนาน 4-5 ชั่วโมง ปวดนานเป็นสัปดาห์ หรือปวดท้องเรื้อรังมาเป็นเวลานาน
4.อาการปวดเกิดขึ้นอย่างไร เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรงทันทีทันใด หรือค่อยๆปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ได้
5.มีอาการปวดร้าวไปที่อื่นหรือไม่ เช่น ปวดท้องและปวดร้าวไปที่สะโพกขวาหรือซ้าย ร้าวไปที่หลัง เอว และขาหนีบ
6.มีอาการอื่นอื่นเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย เป็นไข้ เหงื่อแตก เป็นลม
7.มีสาเหตุที่ทำให้ปวดมากขึ้นหรือไม่ เช่น กินอาหาร การถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ การหายใจแรงๆ การไอหรือจาม
8.สิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการมีอะไรบ้าง หรือสิ่งที่หากทำแล้วอาการจะเป็นน้อยลง ปวดท้องน้อยลง เช่น อาเจียนออกมา การอยู่นิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว การงอตัว การกินอาหารหรือยาบางชนิด
9.ประวัติการเจ็บปวดหรือโรคประจำตัว เช่น เคยเป็นโรคกระเพาะอาหารหรือนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ เคยผ่าตัดในช่องท้องหรือได้รับอุบัติเหตุบริเวณท้อง
10.ประวัติส่วนตัว เช่น ประวัติการมีประจำเดือน การดื่มสุรา การออกกำลังกาย หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปวดท้อง
หากคุณสามารถสังเกตอาการเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ได้ คุณหมอก็จะได้วินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งยังรักษาอย่างตรงจุด ถูกต้อง
ปวดท้องตรงไหน บอกโรคได้
อาการปวด (รอบสะดือ) ใครคิดว่าไม่สำคัญ เพราะเป็นเสมือนสิ่งแรกที่คอยเตือนว่าร่างกายของเรานั้นผิดปกติและเสี่ยงต่อโรคบางอย่าง ดังที่ นายแพทย์ปราโมด เคอร์คาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวด ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายไว้ดังนี้
อาการปวดเล็กน้อย เสี่ยงต่อโรค
• ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ มีอาการปวดขณะปัสสาวะ และมีปัสสาวะเป็นสีแดง
• ไส้เลื่อน มีอาการปวดแบบหน่วงๆบริเวณช่องท้อง กระเพาะปัสสาวะ และอัณฑะ ขณะเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ
• แก๊สในช่องท้อง มีอาการปวดไม่มาก และมักดีขึ้นเมื่อเรอ หรือผายลม บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย
อาการปวดรุนแรง เสี่ยงต่อโรค
• ตับอ่อนผิดปกติ มีอาการปวดบริเวณใกล้ๆกลางท้อง และมีอาการคลื่นไส้ร่วมกับปวดศีรษะ
• ลำไส้เล็กผิดปกติ มีอาการปวดรอบๆสะดือ ร่วมกับท้องผูก คลื่นไส้ มีไข้
• ไส้ติ่งอักเสบ มีอาการปวดบริเวณใต้สะดือค่อนไปทางด้านขวา รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อยหรือท้องผูก
• โรคกระเพาะอาหาร มีอาการปวดท้องแสบๆร้อนๆบริเวณเหนือสะดือจนถึงลิ้นปี่ และมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร
หากมีอาการผิดปกติในข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
4 วิธีแก้ ปวดท้องประจำเดือน ให้อยู่หมัด