แก้ปากนกกระจอก ด้วยวิธีง่ายๆ
ปากนกกระจอก คนที่ไม่เป็นหรือไม่เคยเป็นคงไม่เข้าใจความรู้สึก คนที่เป็นก็เป็นๆหายๆ บางคนเป็นแล้วไม่หายสักที ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่อาการร้ายแรงแต่สร้างความรำคาญในชีวิตได้ไม่น้อย วันนี้แอดเลยมีวิธี แก้ปากนกกระจอก มาฝากค่ะ
แก้ปากนกกระจอก ที่ต้นเหตุ
นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง อธิบายถึงแผลที่มุมปากหรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อโรคปากนกกระจอก (Angular stomatitis or Angular cheilitis) ไว้ว่าเป็นโรคแผลมุมปากที่พบได้บ่อย
เริ่มต้นจากอาการแสบ ๆ คัน ๆ และเจ็บเล็กน้อยที่มุมปากเวลาอ้าปาก ไม่ว่าจะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง จะมีผื่นแดง ต่อมามุมปากจะมีรอยแยกแตกชัดเจนขึ้น และถ้ารุนแรงจะมีเลือดออกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) เพียงอย่างเดียว ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกและพบได้บ่อยมากกว่า ดังนี้
- ปัญหาของโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก (Atopic dermatitis) โรครังแคที่หน้า (Seborrheic dermatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด แต่มักเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีผื่นภูมิแพ้ตามตัว หรือผื่นรังแคที่ใบหน้าร่วมด้วย
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อรา (Candida albicans) หรือเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อไวรัส อย่างเริม (Herpes simplex) มักพบมีตุ่มน้ำใสเกิดที่บริเวณริมฝีปากหรือใบหน้าส่วนอื่นได้ ในบางรายที่รุนแรงอาจมีไข้ร่วมด้วย ไม่หายขาด มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิชีวิตตกต่ำอาจจะเป็นนานถึงสัปดาห์ หรือ 10 วันเป็นอย่างน้อย
- ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ทำให้รูปปากผิดปกติ เกิดการกดทับที่มุมปาก กลายเป็นจุดอับชื้น เมื่อน้ำลายหรือเหงื่อมาอบบริเวณนั้นมากขึ้น ก็จะเกิดเป็นแผลระคายเคืองที่มุมปาก ต่อมาอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อย
- ภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก คนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลเป็นประจำ หรือเด็กบางคนที่มักมีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอดทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปาก เกิดเป็นแผลขึ้นได้ง่าย
- เกิดจากการที่ริมฝีปากแห้ง เพราะชอบเลียปากเป็นนิสัยหรือจากอากาศหนาวเย็น ซึ่งพบได้บ่อยในฤดูหนาว
- อาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น แพ้ลิปสติก อาหารหรือยาสีฟัน แต่มักเป็นทั้งริมฝีปาก
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากินประเภทกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่ใช้รักษาสิว ซึ่งส่งผลให้ผิวของคุณแห้งลงและเกิดแผลที่มุมปากได้ง่าย
- ภาวะขาดวิตามิน เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 หรือธาตุสังกะสี มักพบเป็นทั้งสองข้าง
เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกกันแล้วทีนี้ก็เริ่มต้นรักษาที่สาเหตุกันค่ะ อย่างคนที่แอดเห็นว่าเป็นปากนกกระจอกเรื่อย ๆ ก็ยอมรับอย่างอ้อมแอ้มว่าเป็นคนที่นอนหลับน้ำลายไหลอยู่บ่อย ๆ แถมไม่เคยเช็ดน้ำลายอีกต่างหาก สาเหตุเช่นนี้คุณหมอรัสมิ์ภูมิบอกว่าแก้ไขง่าย ๆ ได้ดังนี้ค่ะ
บำบัดโรคด้วยความสะอาด
ถ้าสาเหตุปัญหาของคุณเหมือนคนรู้จักของแอด ลองเริ่มต้นด้วยการหมั่นรักษาความสะอาดของปาก ริมฝีปาก และภายในช่องปากโดยเฉพาะจากน้ำลายให้เป็นนิสัย
- ทำความสะอาดปากและฟัน ด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังอาหารอยู่เสมอ
- เช็ดมุมปากให้แห้งตลอดเวลา ควรพกผ้าเช็ดหน้าสะอาด ๆ ไว้คอยซับน้ำลาย ไม่ให้เกิดการอับชื้น
- รักษาความสะอาดของเครื่องนอน เช่น ปลอกหมอนผ้าห่ม ตลอดจนผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เป็นประจำ
หากยังไม่หายดี คงต้องกลับมาเริ่มต้นเช็คที่สาเหตุกันใหม่อีกสักครั้ง นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ มาแนะนำกันค่ะ
ปรับพฤติกรรมต้านโรค
ถ้าสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่คุณเป็นอยู่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ คุณหมอรัสมิ์ภูมิแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการนี้กันค่ะ
- ดื่มน้ำมาก ๆ และงดดื่มสุราและชา เพราะจะรบกวนการดูดซึมวิตามิน
- หมั่นทาปากด้วยลิปบาล์ม หรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของวิตามินอี เพราะวิตามินอีจะช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น และเพิ่มยืดหยุ่นของริมฝีปากให้ดีขึ้นด้วย
- เลิกนิสัยชอบเลียมุมปาก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ จะช่วยลดโอกาสเกิดแผลมุมปากได้
- งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลิปสติกยาสีฟัน หากสงสัยควรหยุดใช้ทันที
- สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามิน ควรทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 2 ซึ่งพบมากในข้าวซ้อมมือ ปลา และผักใบเขียว สำหรับธาตุเหล็ก พบมากในธัญพืช และถั่วชนิดต่างๆ
ข้อมูลจาก คอลัมน์เยียวยาก่อนหาหมอ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 225
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สูตรแก้ลมพิษ ด้วยสมุนไพร ทำได้ หายคัน
น่ารู้ ภาวะเลือดเป็นกรดหรือภาวะ DKA ในผู้ป่วยเบาหวานอันตรายอย่างไร
สารพัดอาการสยอง พร้อมเทคนิคปฐมพยาบาล เมื่อได้รับ สารพิษจากในครัวเรือน
ติดตามชีวจิตได้ที่ :
Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial