คำพ่อสอน ในดวงใจ
คำพ่อสอน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันมหามงคลของคนไทยนับเนื่องนาน
เป็นโอกาสสำคัญที่พสกนิกรไทย จะระลึกถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงบำพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ความเสียสละ และความอดทนยิ่งกว่าการเป็นพระมหากษัตริย์ ด้วยทรงเป็น “พ่อ” ที่ใส่พระทัยดูแลทุกข์สุขของคนทั้งชาติ วิกฤติน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงผ่านพ้นและเบาบาง
แม้กระทั่งพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาท ในพระราชวโรกาสต่างๆ ยังเสมือนเมล็ดพันธุ์ทิพย์ซึ่งหว่านแล้วได้ผลอันน่ามหัศจรรย์เมื่องอกงามในหัวใจของชาวไทย
พอเพียงและเรียบง่าย
“การเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกินแบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540
รองศาสตราจารย์จุฑาทิพย์ ภัทราวาทผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้อมนำพระราชดำรัสนี้ ไปใช้ในงานวิจัยด้านสหกรณ์จนเกิดประโยชน์ต่อชาวนาในวงกว้าง
“ถ้าศึกษาให้ดีจะเห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะทาบสนิทพอดีกับเรื่องสหกรณ์ เมื่อสถาบันวิจัยด้านสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เราจึงวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบสหกรณ์ที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนมีชุดความรู้หนึ่งที่เรียกว่า การเชื่อมโยงเครือข่ายคุณค่า
“โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ 3 ระดับ ระดับแรก เป็นการเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ใช้แรงงานใช้หลักการพึ่งพาตัวเอง รู้จักคิด รู้เท่าทัน และตัดสินใจอย่างสมเหตุผล ระดับที่สอง เป็นการแนะนำให้รวมกลุ่มเป็นสหกรณ์เพื่อพัฒนาอาชีพร่วมกัน เช่น ระดมทุน ต่อรองราคา ซื้อปุ๋ย ซึ่งเราตีโจทย์สหกรณ์ว่า ไม่จำเพาะแค่กลุ่มที่จดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ เพราะมีสหกรณ์แท้อีกเป็นแสนกลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐ และเราคิดว่านี่คือสหกรณ์แท้ที่เรียกว่า สหกรณ์ของภาคประชาชน ระดับที่สามคือ รวมตัวกับหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา หรือเอกชนสร้างเป็นเครือข่ายที่จะหยิบยื่นผลิตผลทางเกษตร สินค้าชุมชน ส่งออกไปยังตลาดอีกระดับหนึ่งที่สหกรณ์ไม่สามารถแสดงพลังได้ตามลำพัง
“ถ้าย้อนกลับไปปี 2549 เราเอาแนวทางนี้ไปทำกับโครงการ ข้าวคุณธรรม ซึ่งมีพื้นที่งานในจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม จนประสบความสำเร็จกระทั่งสามารถเชื่อมโยงระบบคุณค่าสู่โซ่อุปทาน นำข้าวคุณธรรมส่งขายตลาดปลายทางคือสยามพารากอน สร้างตราสินค้าข้าวคุณธรรมไปจดเครื่องหมายการค้าไว้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด
“และที่สำคัญ สามารถยกระดับราคาข้าวที่ตกต่ำ โดยรัฐไม่ต้องเข้าแทรกแซง เพราะคนเชื่อมั่นในเครื่องหมายการค้าข้าวคุณธรรมว่าเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์จริง
“ชาวนาที่ปลูกข้าวลดอบายมุข 3 ประการ คือ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้าและไม่เล่นการพนัน เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจึงไปบรรจุไว้ในหัวใจชาวนาเป็นตัวแบบ และกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในเวลาต่อมา
“จะเห็นว่าปรัชญาของพระองค์ไม่มีอะไรเทียบทัน เราเป็นพสกนิกรต้องสนองไว้ในวิถีชีวิต และในฐานะที่เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติคิดว่า อยากเป็นคนหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาประเทศโดยยึดถือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
นอกจากนี้ คุณศุลีพร บุญบงการ รองผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ยังนำหลักการเรื่องความเรียบง่ายจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้จนสามารถเปลี่ยนทัศนคติในการดำเนินชีวิตและการงานให้มีความสุขยิ่งขึ้น
“เวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงงานพัฒนาประเทศ หัวใจหลักคือความเรียบง่าย เช่น ใช้ธรรมชาติแก้ไขปัญหาธรรมชาติ อย่างปัญหาน้ำเสียถามว่าใช้เทคโนโลยีแพงๆ ได้ไหม ใช้ได้แน่นอน แต่จะให้ประเทศชาติเสียเงินมากๆ ไปทำไม และไม่ใช่แค่ไม่แพง แต่ความเรียบง่ายนี้ทำให้เข้าถึงประชาชนได้มาก
“เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้ เพราะชีวิตค่อนข้างสบาย เรามีหน้าที่แค่เป็นนักเรียนที่ดีและเป็นลูกที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ วันๆ ก็ไม่ต้องทำอะไร พอเข้ามาทำงานที่มูลนิธิชัยพัฒนาต้องปรับตัวอย่างมาก ครั้งแรกรับเงินเดือนแค่ 7,000 กว่าบาท ค่อนข้างหนักใจว่าเราจะอยู่ได้อย่างไรด้วยเงินเดือนเท่านี้
“แต่เมื่อมองไปรอบตัว เพื่อนร่วมงานบางคนได้เงินเดือนน้อยกว่าเรา บางคนไม่มีครอบครัวช่วยเหลือเรื่องเงิน ต้องเจียดเงินส่งให้ทางบ้าน และแบ่งเงินจ่ายค่าที่พัก แต่ทุกคนกลับมีความสุขบนความเรียบง่ายได้
“เพราะทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนมากมายในเรื่องเงินแต่สิ่งที่ได้รับจากการทำงานคือความสุขความอิ่มเอมใจ และบนพื้นฐานความเรียบง่ายนี้เราสามารถประสบความสำเร็จด้วยการทำงานเต็มศักยภาพ
“ทุกคนต่างรับผิดชอบมากกว่าหนึ่งหน้าที่ เช่น หน้าที่หลักของดิฉันคือรับผิดชอบเรื่องบทความและข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิ แต่ความสามารถเรามีมากกว่านั้น เช่น ด้านภาษา เราเลยรับผิดชอบเรื่องต่างประเทศของมูลนิธิทั้งหมดด้วย
“แนวคิดนี้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้คนมีความสุข รู้ความพอดี เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตบนพื้นฐานของธรรมชาติไม่มากไปหรือน้อยไปเรียกว่าความสุขบนความเรียบง่าย ซึ่งหาได้จากรอบตัวเรา เพียงแต่เรามองและทำหรือเปล่า”