ยาแก้แพ้ แก้โรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคหวัด

ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ภูมิแพ้ หวัด ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ภูมิแพ้ หวัด หลายคนอาจสับสนว่าเป็นสิ่งเดียวกัน สามารถรักษาได้เหมือนกัน จริงๆแล้วยาแก้แพ้ ใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง กินแก้โรคภูมิแพ้ หรือกินแก้โรคหวัดได้จริงหรือเปล่า

เราลองมาฟังคำตอบจากคุณหมอ นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ผู้เขียนบทความเรื่อง ยาแก้แพ้ใช้กับโรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคหวัด ในวารสาร “สานฝัน” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 22 กรกฎาคม 2554 ซึ่งระบุไว้ดังต่อไปนี้

สถานการณ์การใช้ ยาแก้แพ้ โรคภูมิแพ้ โรคหวัด

ผู้ป่วยจำนวนมากเมื่อมีอาการน้ำมูกไหลจากการเป็นหวัด เจ็บคอ มักได้รับยาแก้แพ้ (antihistamine) จากผู้สั่งยา และยาที่นิยมสั่งใช้คือยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ทำให้ง่วงน้อย ที่เรียกว่า non-sedating antihistamine หรือ 2nd generation antihistamine

ยากลุ่มนี้ที่จัดเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ประกอบด้วย cetirizine hydrochloride และ loratadine ชนิด tablet และ syrup ซึ่งจัดเป็นยาบัญชี ก. ทั้งสองชนิดหากเป็นยาชื่อสามัญ (generic drug) จะมีราคาจัดซื้ออ้างอิงเม็ดละประมาณ 0.3-0.6บาท

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย desloratadine,levocetirizine และ fexofenadine ซึ่งมีราคาจัดซื้ออ้างอิงประมาณเม็ดละ 26, 16 และ 10 บาท ตามลำดับ ผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคม มักได้รับยากลุ่มแรกที่เป็นยาราคาประหยัด และเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนข้าราชการและผู้ที่จ่ายเงินเองตามคลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชนจำนวนหนึ่งอาจได้รับยาในกลุ่มที่สอง ซึ่งมีราคาแพงกว่ายาในกลุ่มแรกมาก ยาทุกชนิดในกลุ่มนี้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้บรรเทาอาการในโรคภูมิแพ้

ทั้งนี้เพราะอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ในโรคภูมิแพ้มีสาเหตุจากการที่เยื่อบุโพรงจมูก ถูกกระตุ้นด้วยสารฮิสตามีนที่ถูกปลดปล่อยหลังจากเยื่อบุโพรงจมูกสัมผัสกับสารภูมิแพ้ การให้ยาต้านฮิสตามีนขณะเป็นหวัดจึงเป็นการใช้ยาที่ไม่สอดคล้องกับกลไกการเกิดอาการ งานวิจัยชนิด Cochrane systematic review เรื่อง Antihistamines for the common cold โดย Sutter และคณะ (2003) ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัย 32 เรื่องจำนวนผู้ป่วย 8,930 คน มีข้อสรุปดังนี้

  1. ยาแก้แพ้ชนิด non-sedating ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากยาหลอก
  2. meta-analysis ของงานวิจัย 8 เรื่องของยาแก้แพ้ชนิด sedatingantihistamine พบว่ายามีประสิทธิผลบ้างในการบรรเทาอาการจามและน้ำมูกไหลในผู้ใหญ่ แต่มีประสิทธิผลต่ำโดยมี number needed to treat (NNT) เท่ากับ 14 (หมายความว่าต้องรักษาผู้ป่วยไป 14 คนจึงจะเห็นว่ายามีประสิทธิผลเหนือกว่ายาหลอก 1คน) แต่มีผลข้างเคียงที่สำคัญคืออาการง่วงซึม
  3. ยาแก้แพ้อาจมีประสิทธิผลเล็กน้อยเมื่อใช้ร่วมกับ decongestant (เช่น pseudoephedrine)ในแง่ความปลอดภัยจากการใช้ยาพบว่า sedating antihistamine อาจทำให้เกิดparadoxical effect ในเด็กเล็ก โดยทำให้เด็กมีอาการตื่นเต้น กระสับกระส่าย ร้องกวน นอนไม่หลับ ประสาทหลอนและหากได้รับยาเกินขนาดอาจเสียชีวิตได้ พว่าระหว่างปีค.ศ.2004-2005 ในสหรัฐอเมริกามีเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ต้องเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน
ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ภูมิแพ้  หวัด
Hand holding medicine capsule pack at the pharmacy drugstore.

เนื่องจากการใช้ยากลุ่มนี้มากถึง 1,519 ราย ตั้งแต่เดือนมกราคม 2008 สำ นักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้ยาแก้หวัด-แก้ไอ ที่ซื้อได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (ซึ่งมักมียาแก้แพ้เช่น chlorpheniramine และ brompheniramine เป็นส่วนประกอบ) เป็นยาที่ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ

ในขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรป เช่น ประเทศอังกฤษประกาศไม่ให้ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ส่วนเด็กอายุ 6-12 ปี ผู้ปกครองที่ซื้อยาต้องได้รับคำแนะนำจากเภสัชกร

ผู้สูงอายุมีความไวต่อฤทธิ์ต้านมัสคารินิกของยาเหล่านี้ ซึ่งอาจเสริมฤทธิ์กับยาอื่นที่ใช้อยู่เป็นประจำ อาจนำข้อมูลข้างต้นมาสรุปเป็น

แนวทางการใช้ยาแก้แพ้ในโรคหวัด อย่างสมเหตุผล

  1. ไม่ใช้ยาแก้แพ้ชนิด non-sedating ในโรคหวัด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่ได้ผล
  2. ไม่ใช้ยาแก้แพ้ที่มีราคาแพงในโรคหวัด เพราะทำ ให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้มาก
  3. ไม่ใช้ยาแก้แพ้ชนิด sedating ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากอาจเกิดอันตรายร้ายแรงจากการให้ยาโดยไม่ถูกต้องของผู้ปกครอง
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้แพ้ชนิด sedating ในผู้สูงอายุ เนื่องจากประโยชน์ที่อาจมี ไม่คุ้มกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  5. หากจำเป็น อาจให้ยาแก้แพ้ชนิด sedating ในผู้ใหญ่บางราย แต่ควรระลึกว่ายาเหล่านี้มีประสิทธิผลต่ำในโรคหวัด และทำให้ง่วงซึม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการล้มหรือพลัดตกจากที่สูง รวมทั้งอันตรายจากการควบคุมเครื่องจักรหรือการขับขี่ยานพาหนะ

จำไว้เสมอว่ายาแก้แพ้ ไม่ใช่ยาแก้โรคหวัด และลดน้ำมูก ยาแก้แพ้ใช้สำหรับโรคภูมิแพ้เท่านั้น

บทความอื่น ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ ผลข้างเคียงที่คุณไม่เคยรู้

ยาแก้แพ้ ศัตรูหัวใจและหลอดเลือด ทดแทนได้ด้วยอะไรบ้าง

หยุดก่อน ยาชุดแก้หวัด อาจก่อผลเสียมากกว่าผลดี

อ้างอิง:  นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล. ยาแก้แพ้ใช้กับโรคภูมิแพ้ ไม่ใช่โรคหวัด. วารสาร “สานฝัน” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 22 กรกฎาคม 2554

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.