รู้หรือไม่ เชื้อเอชพีวี ติดจากทางไหนได้บ้าง?
เมื่อไม่นานมานี้มีทางบ้านถามเข้ามา เกี่ยวกับการรับ เชื้อเอชวีพี ว่านอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว เราจะยังสามารถติดเชื้อนี้จากทางอื่นบ้างหรือไม่ ซึ่ง แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตก็มีคำตอบมาให้
คำถามจากทางบ้าน : เราสามารถรับเชื้อเอชพีวีจากทางไหนได้อีกบ้างคะ
ก่อนจะตอบคำถามนี้ คุณหมออธิบายเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวีเอาไว้ได้น่าสนใจ
ไวรัสเอชพีวีมีหลายสายพันธุ์
นับตั้งแต่การค้นพบของศาสตราจารย์นายแพทย์เฮาเซ่น (Harald Zur Hausen) ในปีพ.ศ.2523 ว่า ไวรัสเอชพีวีมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรี ความรู้ความเข้าใจนี้ทำให้เราสามารถป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูกอย่างได้ผล ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกลงได้ จนทำให้ท่านได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลสาขาการแพทย์ ประจำปี2548 และรางวัลโนเบล ในปีพ.ศ.2551
งานวิจัยใหม่ๆเกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีทั่วโลกขยายความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีไปอย่างกว้างขวาง วันนี้หมอจึงชวนผู้อ่านมาอัพเดตความรู้เกี่ยวกับไวรัสเอชพีวีกันค่ะ
1. เอชพีวี เป็นดีเอ็นเอไวรัสที่จำเพาะเจาะจงต่อมนุษย์ คือ ติดเชื้อเฉพาะคนไม่ติดเชื้อในสัตว์ ดังนั้นความเชื่อที่ว่า สามารถติดเชื้อไวรัสเอชพีวีมาจากลิงหรือมาจากสัตว์อื่นๆได้นั้นไม่เป็นความจริง
2. ไวรัสเอชพีวีมีกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ส่งผลต่อการเกิดหูดและมะเร็งต่างกันไป เช่น
2.1 สายพันธุ์ที่ 1 2 4 สร้างหูดบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า (Common warts, Plantar Warts)
2.2 สายพันธุ์ที่ 3 10 สร้างหูดแบนราบบริเวณใบหน้า แขน ขา (Flat Warts)
2.3 สายพันธุ์ที่ 6 11 ทำให้เกิดการติดเชื้อที่กล่องเสียง (Recurrent Respiratory Papillomatosis) ในทารกที่มารดามีหูดหงอนไก่ที่ช่องคลอด และในผู้ใหญ่ที่ทำออรัลให้คนที่มีหูดหงอนไก่
2.4 สายพันธุ์ที่ 16 18 31 33 35 39 45 51 52 56 58 59 68 73 82 ทั้ง 15 สายพันธุ์จะติดเชื้อที่บริเวณปากมดลูก ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก โดยเชื้อที่รุนแรงที่สุดในการก่อมะเร็งคือ สายพันธุ์ที่ 16
งานวิจัยจาก 38 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก พบว่า ไวรัสเอชพีวีก่อมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยมี 8 สายพันธุ์ ได้แก่ 16 18 31 33 35 45 52 และ 58 โดยสายพันธุ์ที่ 16 เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกร้อยละ 50 สายพันธุ์18 ร้อยละ 21 รวมสองสายพันธุ์ร้อยละ 71
รวมวิธีรับมือ 5 มะเร็งผู้หญิง อ่านจบ ทำตามได้จริง
วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี
วัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) มี3 ชนิด (ชื่อทางการค้า) ดังนี้
– เซอวาริกซ์(Cervarix) ป้องกันไวรัสเอชพีวี2 สายพันธุ์(16 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70
– การ์ดาซิล (Gardasil) ป้องกันไวรัสเอชพีวี4 สายพันธุ์(6 11 16 18) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ประมาณร้อยละ 70 และป้องกันหูดหงอนไก่ได้ประมาณร้อยละ 90
-การ์ดาซิล 9 ป้องกันไวรัสเอชพีวี9 สายพันธุ์(6 11 16 18 31 33 45 52 และ 58) ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ร้อยละ 90 ป้องกันมะเร็งทวารหนักร้อยละ 80
การติดเชื้อเอชพีวีส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัส
จากผิวหนังสู่ผิวหนัง การสัมผัสอวัยวะเพศ การร่วมเพศ การทำออรัล ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก มีส่วนน้อยที่ทารกติดจากการสัมผัสช่องคลอดมารดา
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อเอชพีวีมีดังนี้
– มีคู่นอนใหม่ โดยเฉพาะแบบชั่วข้ามคืน (One Night Stand) เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อสูงสุด
– จำนวนคู่นอนจะแปรผันโดยตรงกับโอกาสติดเชื้อเอชพีวี งานวิจัยในมหาวิทยาลัยพบว่า คนที่มีแฟน 1 คน 4 คน และ 5 คน จะมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีคิดเป็นร้อยละ 29 64 และ 87 ตามลำดับ
– มีเพศสัมพันธ์โดยการสอดใส่ แม้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สอดใส่ก็มีโอกาสติดเชื้อ แต่มีโอกาสน้อยกว่าการสอดใส่โดยตรงถึง 5 เท่าไม่ว่าจะเป็นสอดใส่ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก
– สวนล้างช่องคลอด งานวิจัยพบการติดเชื้อเอชพีวีร้อยละ 8 เกิดจากการสวนล้างช่องคลอด
– นิ้วปนเปื้อนเชื้อ ในกรณีของสาวโสดที่ช่วยตัวเองและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ประมาณร้อยละ 4 จะติดเชื้อเอชพีวีจากการสัมผัสโดยนิ้ว
-การขลิบหนังหุ้มปลายในผู้ชาย ลดการติดเชื้อเอชพีวีในผู้หญิงลงร้อยละ 50
ไวรัสเอชพีวีมีความสัมพันธ์กับไวรัสเอชไอวี(เอดส์)
คนที่มีเชื้อเอชไอวีมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีสูงกว่าคนที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีถึง 2 เท่า และเมื่อมีเชื้อเอชไอวี โอกาสที่เชื้อเอชพีวีหายไปจะลดลง ตรงกันข้าม โอกาสเป็นเชื้อแนบแน่นและเกิดมะเร็งปากมดลูกจะสูงกว่าคนไม่มีเชื้อเอชไอวีขณะเดียวกัน เมื่อติดเชื้อเอชพีวี จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีในภายหลังสูงถึง 3.5 เท่าของคนที่ไม่มีเชื้อเอชพีวี
วิธีป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี
1. รักเดียวใจเดียว เป็นวิธีป้องกันไวรัสเอชพีวีที่ดีที่สุด
2. การติดเชื้อที่พบมากที่สุด เกิดจากเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางออรัล ช่องคลอด ทวารหนัก จึงไม่ควรมีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ควร
มีเพศสัมพันธ์แบบชั่วข้ามคืน หรือมีคู่นอนมากหน้าหลายตา
3. หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งอาจป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าไม่ใช้
4. รับวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี ในคนอายุ 9 – 26 ปี แม้ป้องกันได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ดีกว่าไม่ฉีด
5. ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 18 ปี
6. ฝ่ายชายควรขลิบหนังหุ้มปลาย
7. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด ระวังการใช้ห้องน้ำสาธารณะ ควรล้างมือให้สะอาดเป็นประจำระวังการติดเชื้อเอชพีวีจากการใช้นิ้วมือและการใช้อุปกรณ์ช่วยตนเอง
8. ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงลดหรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ
ลดความเครียด รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ในคนที่แข็งแรง ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีได้ภายใน 4 ปีหลังติดเชื้อ เหลือเพียงร้อยละ 4.8 ที่ยังคงเป็นการติดเชื้อแนบแน่น
9. ตรวจภายใน เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 21 ปีขึ้นไป และตรวจตามแพทย์นัด
สุขภาพที่แข็งแรงทำให้ร่างกายสามารถขจัดเชื้อเอชพีวีออกไปได้เอง
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประสบการณ์สุขภาพ : เอาชนะโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิถี “ชีวจิต”
หมอสูติแชร์ประสบการณ์ คนไข้มะเร็งปากมดลูก ระยะเริ่มต้น
อายุเยอะก็ควรไปตรวจหาความเสี่ยงโรค มะเร็งปากมดลูก
คุณผู้หญิงต้องรู้จักและเข้าใจ ไวรัสเอชพีวี เพื่อป้องกัน มะเร็งปากมดลูก
รวมวิธีรับมือ 5 มะเร็งผู้หญิง อ่านจบ ทำตามได้จริง