ไมโครพลาสติกในปลาทู อันตรายระยะยาวเสี่ยงสุขภาพ

ไมโครพลาสติกในปลาทู ท้องทะเลตรัง

ไมโครพลาสติกในปลาทู พบอื้อมากกว่า 78 ชิ้น เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาว จากรณีข่าวล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง” โพสต์ภาพปลาทู พร้อมกับเปิดเผยผลการศึกษาปลาทูที่อยู่บริเวณท่าเรือหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ในการสุ่มตัวอย่างจากปลาทูพบว่า ในกระเพาะของปลาทูขนาดมาตรฐาน 17 เซนติเมตร พบว่ามีไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากถึง 78 ชิ้น โดยมีมีทั้งเส้นใยเป็นแท่งสีดำ และเป็นกลิตเตอร์

ไมโครพลาสติกในปลาทู ไมโครพลาสติกในปลาทู ไมโครพลาสติกในปลาทู

ข้อมูลในการศึกษาไมโครพลาสติกในกระเพาะปลาทู บริเวณเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง โดยเก็บตัวอย่างจากท่าเรือบริเวณหาดเจ้าไหม เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของขยะประเภทไมโครพลาสติกจากการกินอาหารของปลาทู Rastrelliger brachysoma (Bleeker, 1851)

พบว่าปลาทูขนาดน้ำหนักเฉลี่ย 66.53 ± 1.136 กรัม (ค่าเฉลี่ย ± SE) ความยาวมาตรฐานเฉลี่ย 17.46 ± 0.087 (ค่าเฉลี่ย ± SE) เซนติเมตร มีไมโครพลาสติกในกระเพาะของปลาทูเฉลี่ย 78.04 ± 6.503 ชิ้น/ตัว ประกอบไปด้วยลักษณะที่เป็นเส้นใย (สีดำน้ำเงิน แดง และเขียว) ชิ้น (สีดำ ขาว แดง น้ำตาล-ส้ม ฟ้า-น้ำเงิน และเหลือง) แท่งสีดำ และกลิตเตอร์ ซึ่งลักษณะของไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ ชิ้นสีดำ ด้วยค่าร้อยละ 33.96

อันตรายจากไมโครพลาสติก

ข้อมูลจากรองศาสตราจารย์สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าถึงแม้จะยังไม่มีผลการศึกษาผลกระทบจากไมโครพลาสติกในคน แต่มีการวิจัยผลกระทบในสัตว์น้ำอย่างเช่น ปลาและกุ้ง พบว่าไมโครพลาสติกที่สะสมในตัวสัตว์ขนาดเล็กจะทำให้เนื้อเยื่อในกระเพาะอาหารเป็นแผล และยับยั้งการเจริญเติบโตของสัตว์

การศึกษายังพบอีกว่า ถ้าเราบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีไมโครพลาสติกปนเปื้อนก็มีโอกาสสะสมก่อโรคภูมิแพ้ขึ้นได้ และจะเป็นตัวก่อให้เกิดโรคมะเร็ง และหากไมโครพลาสติกยิ่งแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เท่าแบคทีเรีย หากเข้าเส้นเลือดจะทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตมีปัญหา ผลกระทบเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคน เพียงแต่ระยะเวลาที่จะแสดงอาการอาจจะช้ากว่าสัตว์ขนาดเล็ก

ดังนั้นการตระหนักถึงปัญหาไมโครพลาสติกปนเปื้อนในสัตว์ทะเลนี้ อาจารย์ย้ำว่าไม่ได้พูดให้ตื่นตระหนก แต่อยากให้ทุกคนตระหนัก และหาวิธีป้องกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล จากตอนนี้ไทยที่อยู่ในอันดับ 6 ของโลก เป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากอันดับต้นๆ ของโลก พอพลาสติกลงไปในทะเลแล้ว การจัดเก็บจะลำบาก ต้องจัดการขยะตั้งแต่บนบก ยิ่งลงทะเลแล้วแตกหักเป็นชิ้นเล็กมากเท่าไหร่ อันตรายหรือผลกระทบจะยิ่งมาก

 

อ้างอิง

ศูนย์ปฏิบัติการ อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง

https://news.ch7.com/detail/362958

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.