สุนัขกัด ทำอย่างไรดี
สุนัขกัด แล้วต้องทำไง หาหมอดีไหม จำไม่ได้ว่าเคยฉีดวัคซีนมาเเล้วหรือยัง ต่อไปนี้หมดคำถามแน่ เพราะชีวจิตขอรีวิวเป็นขั้นตอน จนหมดข้อสงสัยชัวร์ รีวิวจากประสบการณ์จริงสุนัขกัด ตามมาดูกันเลยครับ
เเต่ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่า ตอนนั้นสุนัขกระโจนเข้ากัดจังๆ ที่ต้นขา ฝังเขี้ยวไว้ทะลุผ่านกางเกงยีนส์ ลักษณะแผลเป็นรอยเขี้ยว มีเลือดซึมเล็กน้อย ชี้ชัดว่ามีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อแน่นอน
- สิ่งแรกที่ต้องทำต้องรีบล้างแผลโดยด่วน ฟอกด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆครั้งทันที อย่างน้อย 15 นาที
- และที่สำคัญคือต้องจำลักษณะและสังเกตอาการสุนัข หรือสัตว์ที่กัดด้วย หรือต้องจับมากักตัวไว้เพื่อสังเกตุอาการ 10 วัน เเต่รอดตัวไปตอนนั้นเป็นหมาของเพื่อนที่เลี้ยงไว้ในบ้าน (มารู้ทีหลังว่าสุนัขตัวที่กัดมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษ สุนัขบ้า ครบนะจ๊ะ)
- หลังจากนั้นรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล ภายใน 2 วัน (24-48 ชั่วโมง)
- เมื่อไปหาหมอ จะมีการซักประวัติ โดนกัดเมื่อไหร่ สุนัขที่ไหน เคยได้รับวัคซีนไหม แผลเป็นอย่างไร
- แล้วหลังจากนั้น พยาบาลจะทำความสะอาดแผลให้อีกครั้ง ตามหลักการแพทย์เป๊ะ
- การให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ในกรณีคนที่เคยได้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง และได้เข็มสุดท้ายนานกว่า 5 ปี มาแล้ว ให้ใช้ tetanus-diphtheria toxoid (Td) หรืออาจใช้ tetanus toxoid (TT) 1 เข็มเข้ากล้าม (TTอาจผสมกับ rabies vaccine ชนิด PVRV (Verorab®) ในกรณีที่ฉีด
เข้ากล้ามเหมือนกัน) - ถ้าไม่เคยได้หรือเคยได้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักน้อยกว่า 3 ครั้ง ให้วัคซีน Td หรือ TT เข้ากล้าม 3 ครั้ง คือวันที่ 0, 1 เดือนและ 6 เดือน สามารถใช้วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก (Tdap) แทน TT หรือ Td 1 ครั้งในวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่
- ต่อมาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดแบบไหน อย่างไีขึ้นอยู่กับดุลพินิจคุณหมอ ปกติมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กับฉีดเข้าชั้นผิวหนังกรณีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ– หากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน แล้วมาถูกสัตว์กัด จะต้องฉีดทั้งหมด 5 เข็มที่กล้ามเนื้อต้นแขน โดยฉีดในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด) วันที่ 3, 7, 14 และวันที่ 28 แต่กรณีถ้าแผลที่โดนกัดอยู่ใกล้เส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น ใบหน้า หรือมีแผลฉกรรจ์มาก จะต้องฉีดเซรุ่ม หรือวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพิ่มด้วย โดยฉีดรอบแผลทุกแผลร่วมกับการฉีดวัคซีนในวันที่ 0
– สำหรับคนที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนครบตามจำนวน แล้วถูกสุนัขกัดอีก ไม่ต้องเริ่มฉีดใหม่ แต่ให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มอีก 1 เข็มในวันที่โดนกัด (กรณีวันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาไม่เกิน 6 เดือน) หรือ 2 เข็ม (กรณีวันที่ฉีดเข็มสุดท้ายผ่านมาเกิน 6 เดือนแล้ว) ในวันที่ 0 และ 3 โดยไม่ต้องฉีดเซรุ่ม
กรณีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
– หากไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อนแล้วมาถูกสัตว์กัด จะต้องฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง 4 ครั้ง ครั้งละ 2 จุด คือต้นแขนทั้ง 2 ข้าง ฉีดในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด), 3, 7 และวันที่ 28
– หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันมาแล้วครบตามจำนวน แล้วมาถูกกัดอีก ก็เพียงแค่ฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มเช่นกัน โดยฉีด 1 เข็ม 1 จุด หากช่วงที่ถูกกัดห่างจากการฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมาน้อยกว่า 6 เดือน แต่หากฉีดวัคซีนเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน ก็ต้องฉีดกระตุ้นอีก 2 เข็ม ครั้งละ 1 จุด ในวันที่ 0 และวันที่ 3 และไม่ต้องฉีดเซรุ่มด้วย
- หลังจากนั้นคุณหมอจะให้ใบนัดมา บันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีน กำหนดการวันไหนต้องไปฉีด ซึ่งเราสามารถนำไปฉีดโรงพยาบาลไหนก็ได้ตามที่สะดวกเลย
- ไม่ควรลืมการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ 3 เข็มแรก (วันที่ 0, 3, 7) เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ส่วนเข็มที่ 4 และ 5 ซึ่งจะฉีดในวันที่ 14 และ 28 เป็นแค่การฉีดกระตุ้น ไม่งั้นจะต้องเริ่มฉีดวัคซีนใหม่ตั้งเเต่ต้น
ยังไงก็อย่าชะล่าใจ สุนัขกัด รีบไปพบเเพทย์ เเละหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้รีบร้อย ก็ป้องกันตัวเองได้ระดับนึงจ้า
อ้างอิง : แนวทางการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า (พ.ศ. 2559) สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนไข้เลือดออก ป้องกันโรคไข้เลือดออก
เช็กแพ็คเก็จ+ราคา วัคซีนแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ จากโรงพยาบาลชั้นนำ
เชื้อพิษสุนัขบ้าระบาดหนัก เจ้าของสัตว์อย่านอนใจ รีบสังเกตสัญญาณเสี่ยง