ตากระตุก

ขวาร้ายซ้ายดี ตากระตุก แท้จริงเกิดจากอะไร ใครรู้บ้าง? – ชีวจิต

ขวาร้ายซ้ายดี ตากระตุก แท้จริงเกิดจากอะไร ใครรู้บ้าง?

ใคร ๆ ก็คงจะเคยพูดเวลาที่ ตากระตุก ” ขวาร้ายซ้ายดี ”  แต่แท้จริงแล้วเนี่ย สาเหตุการเกิดของการกระตุก เกิดจากอะไรกันแน่ วันนี้เรามีความรู้มาฝากค่ะ

ตากระตุกคืออะไร?

ตากระตุก (Eye Twitching) เป็นอาการขยับหรือกระตุกอย่างรวดเร็วของกล้ามเนื้อเปลือกตาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เกิดขึ้นได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักจะเกิดกับเปลือกตาบนและมักเกิดกับตาทีละข้าง

อาการตากระตุกสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่จะพบว่าอาการไม่มีความรุนแรงใด ๆ แต่บางรายอาจพบว่ามีอาการกระตุกอย่างรุนแรงจนทำให้รู้สึกต้องการที่จะหลับตาลงหรือก่อความรำคาญ และบางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยจนไม่สามารถสังเกตได้

คณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย ให้ข้อมูลไว้ว่า  ตากระตุกเป็นภาวการณ์เกร็งตัวของกล้ามเนื้อหนังตา (orbicularis oculi) โดยไม่ตั้งใจ (involuntary) ในสหรัฐอเมริกาพบประมาณ 5 คน ใน 1 แสนคน โดยพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 2,000 คนทุกปี มักเป็นในช่วงอายุ 50-60 ปี พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1.8 เท่า สาเหตุยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน จากการศึกษาคาดว่าน่าจะเกิดจากการประสานงานผิดปกติ ( miscommunication ) ของเซลล์สมอง ( ส่วน basal ganglion ) และอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย อาการเริ่มต้นอาจมีแค่เขม่นๆหรือมีการกระตุกเกร็งของกล้ามเนื้อไม่มาก ทำให้กระพริบตาถี่ขึ้นกว่าปกติ ต่อมาถ้าเป็นมากขึ้นจะมีกล้ามเนื้อหนังตาเกร็งจนต้องกระพริบตาแรงๆ บางคนถึงกับลืมตาไม่ขึ้นและมีกล้ามเนื้อใบหน้ากระตุกเกร็งร่วมด้วย อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้

ตากระตุก

อาการเป็นแบบไหน?

อาการตากระตุกมักจะเกิดขึ้นกับตาทีละข้าง ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับเปลือกตาบน โดยอาการตากระตุกจะมีตั้งแต่อาการที่สังเกตได้น้อยไปจนถึงกระตุกมากจนทำให้เกิดความรำคาญ และอัตราอุบัติการณ์ของอาการไม่สามารถคาดเดาได้ โดยอาจเกิดแล้วหายไปได้เองภายในเวลาอันสั้น แต่อาจกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดไป หรืออาจนานเป็นวันหรือมากกว่านั้นแล้วกลับมาเกิดซ้ำ และอาการตากระตุกจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมักไม่เป็นอันตราย หรืออาจจะสร้างความรำคาญให้เราได้

สาเหตุเกิดจากอะไร?

สาเหตุยังไม่แน่ชัด แต่แพทย์ได้สันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ โดยอาการมักเกิดขึ้นจากความเครียด การอดนอน การบริโภคคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มาก และอาจรวมไปถึงสาเหตุต่อไปนี้ เช่น

  • เกิดการระคายเคืองที่ตาหรือเปลือกตาด้านใน
  • ตาล้า
  • ตาแห้ง
  • เวียนศีรษะ
  • ออกกำลังกาย
  • แสงสว่าง ลม
  • สูบบุหรี่
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

ให้รีบไปพบแพทย์  หากมีอาการติดต่อกันเป็นเวลา 1-2 อาทิตย์ เปลือกตาลงมาปิดสนิทในขณะที่มีอาการกระตุก หรือลืมตาได้ลำบาก มีอาการกระตุกที่ส่วนอื่นบนใบหน้าหรือส่วนอื่นของร่างกาย  หรือมีอาการอื่น ๆ เกี่ยวกับดวงตาร่วมด้วยค่ะ

ตากระตุก พบแพทย์

การป้องกันตากระตุก

  • ลดความเครียดหรือพยายามไม่ให้เกิดความเครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยเข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์

แม้อาการตากระตุกจะไม่อันตรายมากก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น เราอยากให้ทุกคนสังเกตและนับช่วงวันเวลาที่มีอาการ หากมีอาการรุนแรงจะได้รีบไปหาหมอเพื่อทำการรักษาค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Pobpad

 ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ปัญหาหนังตากระตุกในคนทำงาน เกิดจากอะไร เรามีคำตอบ

เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.