โรคแทรกซ้อนจาก รูมาตอยด์
โรค “รูมาตอยด์” (Rheumatoid Arthritis) หรือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเอง โดยจะทำลายเยื่อหุ้มข้อที่เรียกว่า “ไซโนเวียม” (Synovium) ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการอักเสบและมีอาการบวม อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำลายกระดูกอ่อนและกระดูกของข้อต่อ รวมไปถึงเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูก เอ็นข้อต่อเกิดความเปราะบางและยืดขยายออก หลังจากนั้นข้อต่อก็จะค่อยๆ ผิดรูปหรือบิดเบี้ยวไปในที่สุด นั่นคืออาการของรูมาตอยด์
“รูมาตอยด์” เป็นโรคที่มีการอักเสบของส่วนต่างๆ ในร่างกาย และไม่ได้เกิดเพียงบริเวณข้อต่อเท่านั้น ยังเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติและไปทำลายอวัยวะอื่นในร่างกายด้วย ผู้ป่วยบางรายพบว่าอาจเกิดภาวะที่มีผลกระทบต่อระบบอื่นในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด หัวใจ และหลอดเลือดส่วนอื่นๆ
อาการของโรครูมาตอยด์
- มีอาการปวด บวม แดง ร้อน และอาการข้อฝืด โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันในร่างกาย เช่น มือ ข้อมือ ข้อศอก เท้า ข้อเท้าเข่า และคอ
- อาการข้อฝืดแข็ง อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว มักเกิดขึ้นช่วงเวลาตื่นนอนในตอนเช้าหรือช่วงที่นั่งเป็นเวลานาน
- ปุ่มรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules) เป็นลักษณะปุ่มเนื้อนิ่มๆ มักเกิดขึ้นบริเวณอวัยวะที่มีการเสียดสีบ่อยๆ เช่น ข้อศอกข้อนิ้วมือ กระดูกสันหลัง เป็นต้น