การดื่มกาแฟกับ ผู้ป่วยโรคกระเพาะ
กาแฟกับ ผู้ป่วยโรคกระเพาะ มีอะไรที่ควรระวัง มาดูกัน
ว่าด้วยกาแฟ
เมื่อพูดถึง “กาแฟ” หลายคนคงจะนึกถึงกาแฟแก้วโปรดของตนเอง นึกถึงกลิ่นหอมๆ แต่กาแฟที่หลายๆคนโปรดปรานนั้น หากดื่มในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ วันนี้กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารควรงดดื่มกาแฟ เพราะจะทำให้ปวดแสบกระเพาะมากขึ้น พร้อมแนะนำคนอ้วนควรดื่มแก้วเล็กปริมาณน้อย หรือกาแฟดำที่ไม่ใส่น้ำตาล เพื่อลดความเสี่ยงอ้วนลงพุง
ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน ในหนึ่งวันไม่ควรรับสารคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายเกิน 200 มิลลิกรัม เมื่อเทียบต่อแก้วไม่ควรดื่มเกินวันละ 3 แก้วในปริมาณดังกล่าวกำลังพอเหมาะสำหรับการกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว แต่ถ้ามากกว่านี้จะทำให้เกิดมือสั่น ใจสั่น หงุดหงิด และกระวนกระวาย ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อได้รับสารคาเฟอีน อาทิ ผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าได้รับในปริมาณพอควรจะไปกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัว มีผลทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตาสว่าง หายง่วง แต่ถ้ารับในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หงุดหงิด ในระบบทางเดินอาหารจะช่วยให้มีการหลั่งน้ำย่อยและกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น แต่ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ ควรงดเพราะจะทำให้ปวดแสบกระเพาะมากขึ้น ผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิตคือหากดื่มกาแฟ 2 ถ้วยจะทำให้ความดันโลหิตสูง แต่ถ้าดื่มมากๆมีผลทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะเพิ่มการขับปัสสาวะ เมื่อดื่มกาแฟไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง คาเฟอีนจะออกฤทธิ์และภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง สารคาเฟอีนกว่าครึ่งจะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมกับปัสสาวะ
ข้อระวัง
ด้านดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กาแฟหากดื่มในปริมาณที่มากเกินไป และไม่มีการดูแลสุขภาพที่ดีอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะเนื่องจากกาแฟเย็น 1 แก้ว มีขนาดบรรจุ 13-20 ออนซ์หรือเทียบเท่า 400-600 มิลลิลิตร จะให้พลังงาน 97-400 กิโลแคลลอรี่, ไขมัน 0.4-22.1 กรัม, โปรตีน 0.6-10.9 กรัม,คาร์โบไฮเดรต 19.4-49.4 กรัม และน้ำตาล 11-38 กรัม ปริมาณพลังงานของกาแฟแต่ละแก้วขึ้นอยู่กับสูตรและขนาดบรรจุ ปัจจุบันประชาชนนิยมดื่มกาแฟ 3 สูตรด้วยกัน ได้แก่ มอคค่า ลาเต้ และคาปูชิโน มอคค่าเป็นกาแฟที่มีพลังงานมากกว่ามากกว่าลาเต้และคาปูชิโน จากการเก็บตัวอย่างกาแฟมาตรวจโดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย พบว่า ในขนาดบรรจุ 16 ออนซ์ กาแฟมอคค่ามีพลังงาน 238 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 26 กรัม กาแฟคาปูชิโนมีพลังงาน 200 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 28 กรัม ส่วนลาเต้มีพลังงาน 156 กิโลแคลอรี่ มีน้ำตาล 22 กรัม นอกจากนี้ยังพบว่า กาแฟสูตรเอสเปรสโซ่หรืออเมริกาโนมีพลังงานน้อยที่สุดเนื่องจากเป็นกาแฟที่ไม่ใส่นมและน้ำตาล ส่วนกาแฟเย็นที่มีพลังงานมากที่สุดคือกาแฟมอคค่า มีพลังงาน 400 กิโลแคลอรี่ต่อแก้วขนาด 20 ออนซ์
คำแนะนำ
ทั้งนี้ การดื่มที่ไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพสามารถทำได้โดยปฏิบัติให้เหมาะกับภาวะสุขภาพของ แต่ละคน ผู้ที่มีปัญหาอ้วนลงพุงหรือโรคเบาหวานต้องจำกัดปริมาณโดยเลือกขนาดบรรจุเล็กๆ ส่วนผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรจะป้องกันไว้ก่อนโดยไม่ดื่มกาแฟเย็นพร้อมกับขนมหวานหรือเบเกอรี่เพราะจะทำให้เพิ่มพลังงานให้มากขึ้น หรือเมื่อดื่มกาแฟเย็นแล้วอาจลดอาหารหวาน มัน หรืออาหารทอดในมื้ออาหารหลักลง เพื่อไม่ให้ผู้ที่นิยมดื่มกาแฟเย็นมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลังงานเกิน นอกจากนี้การออกกำลังกายก็สามารถช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินที่ได้จากการบริโภค ยังทำให้หัวใจแข็งแรง ร่างกายกระฉับกระเฉง โดยเลือกวิธี ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตนเอง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวต่อไป
ข้อมูลจาก : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประสบการณ์สุขภาพ : ความดันโลหิตสูงเพราะดื่มกาแฟสด (มีคำแนะนำ)