HOW – TO หยุดสัญชาตญาณ ติดหวาน มัน เค็ม
ติดหวาน มัน เค็ม ทำป่วย ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา มีรีสอร์ตเพื่อสุขภาพเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ “ทรูนอร์ท” มีวิธีช่วยคนให้เอาชนะโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยการเปลี่ยนอาหาร โดยเริ่มจากการอดอาหารก่อน อดจริงๆ เพราะให้ดื่มแต่น้ำเปล่า แล้วไม่ใช่แค่วันสองวันนะ บางคอร์สอดอาหารนานถึงเดือนครึ่ง
ผมรู้จักรีสอร์ตแห่งนี้เพราะมีเพื่อนอยู่ที่นั่นหลายคน คนหนึ่งชื่อ ดักลาส ไลซ์ เป็นนักจิตวิทยา เขามีแนวคิดของตัวเองและเขียนหนังสือชื่อว่า กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)
โดยตั้งสมมุติฐานว่าสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมนั้น คือ การมุ่งเสาะหาอาหารเพื่อยังชีพและมีเซ็กซ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ โดยพันธุกรรมได้มอบความเพลิน (Pleasure) เป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งการเสาะแสวงหาความเพลินนี้จะใช้วิธีที่เปลืองแรงหรือเปลืองพลังงานน้อยที่สุด
เขาเล่าถึงงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่ทำการทดลองโดยขังนกไว้ในกรงที่มีปุ่มให้นกจิกสองปุ่ม จิกปุ่มน้ำเงินแล้วประตูกรงจะเปิดให้นกบินออกไปเป็นอิสระ มันจะบินไปหาหนอนกินและหาตัวเมียเพื่อมีเซ็กซ์ ส่วนปุ่มสีแดงนั้น เมื่อนกจิกแล้วประตูกรงอีกด้านหนึ่งจะเปิดออกไปอีก กรงหนึ่งซึ่งมีตัวเมียรออยู่และมีหนอนให้กินด้วย พบว่า หลังจากเรียนรู้เพียงครั้งเดียว นกก็เจาะจงจิกแต่ปุ่มสีแดงไม่สนปุ่มสีน้ำเงินอีกเลย
อีกการทดลองหนึ่งได้เปลี่ยนปุ่มสีน้ำเงินเป็นกรงที่มีโคเคน ส่วนปุ่มสีแดงเป็นกรงที่มีนกตัวเมียและตัวหนอน ก็พบว่า เมื่อเรียนรู้ความแตกต่างของปุ่มทั้งสองแล้ว นกเลือกจิกปุ่มสีน้ำเงินซ้ำซากด้วย
ความพอใจที่ได้เสพโคเคน โดยไม่สนตัวเมียและไม่สนแม้กระทั่งอาหาร มันตั้งใจจิกปุ่มสีน้ำเงินซ้ำซากเพื่อจะได้เสพโคเคนจนตัวมันเองต้องตายไปเพราะขาดอาหาร
ดักลาสเล่าเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ว่า เขาไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของนก แต่นกยังใช้หลักชีวิตเดิม คือมุ่งหาความเพลินที่ออกแรงน้อยที่สุด โดยไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ซึ่งถ้ามันยังใช้หลักชีวิตเดิมสัญชาตญาณเดิมของมันจะฆ่าตัวมันเอง
เขาพูดว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่แมลงบิน เช่น หลอดไฟ เพราะสัญชาตญาณของแมลง ต้องบินเข้าหาแหล่งกำเนิดแสง เพื่อพามันไปสร้างชีวิตใหม่ในที่ที่ไกลจากเดิมซึ่งในธรรมชาติแหล่งกำเนิดแสงคือดวงจันทร์ แต่เมื่อเห็นหลอดไฟมันจะบินไปชนตามสัญชาตญาณเดิม แม้ว่าจะชนหลอดไฟครั้งแล้วครั้งเล่าจนตัวมันตายก็ตาม
งานวิจัยทางการแพทย์เรื่องการหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ในส่วนต่างๆ ของสมองพบว่า ความเพลินเกิดขึ้นเมื่อสมองบริเวณเบซอลแกงเกลียและพอนส์ (Pons) หลั่งสารโดพามีนออกมามาก ในทางการแพทย์เรียกสมองบริเวณนั้นว่า ศูนย์ความเพลินหรือ Pleasure Center ในการใช้ชีวิตปกติของมนุษย์ ทำให้เกิดความเพลินบ้างไม่เพลินบ้าง โดยความเพลินหลักคือการกินอาหารและมีเซ็กซ์นั่นแหละ ถือเป็นความเพลินในระดับธรรมดาๆ ไม่หวือหวา แต่สารเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน ทำให้เกิดความเพลินในระดับเอกซ์ตร้า เพราะกระตุ้นการหลั่งโดพามีนในสมองแบบรวดเร็วโดยไม่ต้องออกแรงเสาะหามากมาย
มีอีกสองกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดการหลั่งสารโดพามีนมากแบบนั้นได้คือ การออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักและการนั่งสมาธิให้ถึงระดับลึกซึ่งต้องเหนื่อยยาก และฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้ คนที่ได้เสพโคเคนหรือเฮโรอีนจึงไม่สนความเพลินอย่างอื่นแล้ว แม้แต่เซ็กซ์ก็ไม่สนเพราะต้องเสียเวลาออกแรงกว่าจะได้ความเพลินแต่ยาเสพติดนี่เป็นความเพลินแบบเอกซ์ตร้า (Extra) ที่ได้มาแบบไม่ต้องออกแรง