โค้ชเป้ง-สาธิก ธนะทักษ์ : การวิ่ง ไม่จำเป็นต้อง “เป็นเลิศ”
ในวันที่ COVID-19 เริ่มส่งผลกระทบกระจายไปยังทุกพื้นที่ เรามีนัดในบ่ายวันหยุดวันหนึ่งกับนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ร่วมกับคณะ “วิ่งก้าวคนละก้าว” ของ “ตูน บอดี้แสลม” ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวสุดเข้มข้นของ การวิ่ง ระดับประวัติศาสตร์ครั้งนี้ว่า “ฉีกทุกตำราการวิ่งทุกอย่าง” ซึ่ง “สาธิก ธนะทักษ์” หรือ “โค้ชเป้ง” คือนักวิทยาศาสตร์การกีฬาหนึ่งในทีมที่คอยช่วยประเมินสถานการณ์และเตรียมร่างกายของนักร้องชื่อดังให้พร้อมต่อการวิ่งมากที่สุด
ที่มาที่ไป
กว่าจะมาวิ่งเคียงข้างไปพร้อมๆ กับนักร้องชื่อดังได้ ใครเลยจะรู้ว่าโค้ชวิ่งผู้สวมหมวกหลายใบคนนี้กลับไม่อภิรมย์ต่อการวิ่งเอาเสียเลย แถมยังบอกด้วยว่าการวิ่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อสำหรับตัวเองมาก แล้วอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชายผู้นี้ติดใจการวิ่งในที่สุด ซึ่งชั่วขณะที่ชายหนุ่มรูปร่างโปร่ง ผิวดำแดง พูดคุยถึงเบื้องหลังชีวิตที่ก้าวเท้าวิ่งและการเป็นโค้ชสอนนั้น เขานั่งลงเจาะขวดนมช็อกโกแลตพร้อมทานกล้วย 1 ผล พลางเล่าเรื่องราวมากมายได้อย่างออกรสออกชาติเกี่ยวกับการวิ่งที่ใครหลายคนอาจไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว การวิ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำให้ “ดีเลิศ” เสมอไป และนี่คือบทสนทนาเคล้าอาหารเพื่อสุขภาพที่เราได้จากเขาในครั้งนี้
เริ่มสนใจเรื่องวิ่งตั้งแต่เมื่อไหร่
น่าจะ 7-8 ปีที่แล้วได้ ผมเป็นนักกีฬาที่เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย ผมเล่นทั้งบาสเกตบอล รักบี้ และเทควันโด แต่น่าแปลกที่เมื่อก่อนผมไม่ชอบวิ่งเลย เพราะมันน่าเบื่อ ผมชอบการแข่งขัน ความเป็นทีม และการเอาชนะ แต่การวิ่งมันคือ Endurance Sport เป็นกีฬาที่ต้องอยู่กับตัวเองเยอะ เลยไม่ค่อยสนุก อีกทั้งในตอนนั้น ผมมองว่า การวิ่งเป็นกีฬาสำหรับผู้สูงวัย ลองให้นึกถึงชมรมวิ่ง ก็จะเห็นผู้สูงวัยออกมาวิ่ง ก็เลยไม่เอาดีกว่า แต่มาเริ่มสนใจอีกครั้ง ตอนเรียนปริญญาเอก ผมไปทำงานให้ สสส. ปีนั้นเขารณรงค์เรื่องกิจกรรมทางกายในแคมเปญ “วิ่งสู่ชีวิตใหม่” แล้วผมเป็นหนึ่งในทีมช่วยจัดงาน พอจัดงานก็ต้องวิ่งจริง ก็เลยเริ่มสนใจวิ่งช่วงนั้น
จากที่บอกว่า ไม่ชอบการวิ่งเลย อะไรคือจุดเปลี่ยน
สิ่งแรกที่คนจะเริ่มวิ่งจริงๆ คือ ถูกวัยบังคับ พอถึงวัยทำงาน
โอกาสจะนัดรวมตัวเพื่อนไปเตะฟุตบอลหรือเล่นบาสเกตบอลมันยากขึ้น แต่เวลาผมไม่ค่อยตรงกับคนอื่น ผมเลยมองหากิจกรรมที่ผมจะมีความสุขกับมันได้ ซึ่งก็คือการวิ่งนี่แหละ เพราะการวิ่งถ้าให้ผมมองมันคือการปูฟื้นฐานให้รู้จักร่างกายตัวเอง แต่ไม่ได้ทำเพื่อความเป็นเลิศ คือจัดตารางให้ยืดหยุ่นกับชีวิตเพราะส่วนตัวก็มีความรู้ประมาณหนึ่ง อีกทั้งการวิ่งผมคิดว่า มันเป็นการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ง่ายต่อการจัดการ ตรงนี้จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมเริ่มสนใจและชอบการวิ่งมากขึ้น
วิ่งที่ว่านี่คือ วิ่งบนลู่วิ่งหรือวิ่งรอบหมู่บ้าน
ตอนแรกจะวิ่งในซอย ขยายเป็นรอบหมู่บ้าน สักพักก็จะออกไปวิ่งที่หน้าปากซอย ระยะต่ำสุดที่ผมวิ่งในช่วงนี้คือ 8 กิโลเมตร ที่ไม่ชอบวิ่งในสวนสาธารณะ ถ้าเป็นช่วงฝุ่นเยอะ เพราะผมเป็นคนแพ้ฝุ่นมาก ไม่รู้ว่า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่รู้ตัวหรือเปล่า อาจจะเป็นเหมือนผมก็ได้คือ เป็นโพรงจมูกอักเสบ ในกรณีที่เจอฝุ่นหรือควันรถมากๆ ผมจะหายใจไม่ได้ทางจมูก จนเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ร่างกายและสุขภาพก็จะแย่มาก จนแพทย์บอกว่า ห้ามเดินหรือวิ่งบนถนนอีก ผมเลยเข้าไปวิ่งในกระทรวงสาธารณสุขแถวบ้านแทน เพราะเขาเปิดตลอด ซึ่งหลายคนก็อาจจะลืมไปว่า สวนสาธารณะส่วนมาก ก็มีเพียงต้นไม้กั้นแทบไม่ต่างจากการวิ่งริมถนนเลย แสดงว่าฝุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่น PM 2.5 มีผลอย่างมากต่อการวิ่ง ผมแนะนำเลยว่า ไม่คุ้ม คือคนไทยอาจจะชินไปแล้ว อย่างปีแรกๆ ผมจำได้เลยที่มีคนโพสต์รูปเลือดกำเดาไหลจากฝุ่น ทุกคนตื่นตระหนกมาก แต่พอไปๆ มาๆ ค่าฝุ่นขึ้นเป็นสัญลักษณ์สีแดง กลายเป็นทุกคน เมินเฉยหมดแล้ว ซึ่งสิ่งที่ควรตระหนักคือ สัญลักษณ์สีแดงแปลว่า ไม่ควรแก่การออกกำลังกาย ดังนั้น ทางแก้สำหรับเรื่องนี้คือ การวิ่งในหมู่บ้าน แต่ถ้าหากค่าอากาศภายนอกยังไม่ดีอีก แนะนำให้วิ่งในที่ปิด มีเครื่องฟอกอากาศ อย่างผมไม่มีลู่วิ่ง ก็ใช้การย่ำเท้าอยู่กับที่ ผมนี่วิ่งย่ำเป็นชั่วโมงเลย เพราะการออกกำลังกายแบบนี้คือ การออกกำลังกายแบบ Aerobic ที่ช่วยให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจได้แรง และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ขยับได้เป็นอย่างดี
แล้วการเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ส่งผลต่อการวิ่งของตัวเองหรือไม่
ปัญหาของคนที่วิ่งส่วนมากคือ เจ็บ หลายคนคิดว่าวิ่งคือง่ายและปลอดภัย แต่เมื่อคิดแบบนี้ เลยทำให้สถิติการวิ่งถือเป็นกีฬาที่อันตราย เขาเรียกว่า อัตราการเจ็บต่อ 1,000 ชั่วโมงเท่ากับกีฬาบาสเกตบอลหรือกีฬาที่ต้องใช้แรงปะทะเลย หรืออย่างยกน้ำหนักในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ยังมีสถิติหรืออัตราการบาดเจ็บต่ำกว่าซะอีก วิ่งนี่คือเยอะกว่าเป็น 5-10 เท่า ทั้งๆ ที่มองว่ายกน้ำหนักน่าจะอันตรายกว่าด้วยซ้ำ ผมไม่เคยเจ็บจากการวิ่งเลย เพราะการเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาสามารถปรับโปรแกรมให้เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเองได้ ไม่ต้องไปปรึกษาใคร เช่น รายละเอียดในการเลือกออกแบบการวิ่ง ถ้ารู้สึกว่าร่างกายวันนี้พร้อม 80 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถที่จะปรับลดโปรแกรมการวิ่งลงได้ หลายคนมักไปยึดติดกับคำว่าวินัยจนเกินไป ไม่ยืดหยุ่น ทำให้ยิ่งวิ่งยิ่งโทรม ร่างกายยิ่งแย่ลง ซึ่งตัวเองได้เปรียบจากตรงนี้
มุมมองของการเป็นโค้ช
ถ้าอย่างนั้น การวิ่งในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์การกีฬากับโค้ช น่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง
ต่างกัน โค้ชส่วนมากสิ่งที่เขาจะตามมาเลยคือ ความเป็นเลิศ แต่อย่างนักวิทยาศาสตร์การกีฬา สิ่งที่ตามมาคือ สุขภาพ ฉะนั้น ความคิดที่ตั้งต้นจะไม่เหมือนกัน ความเป็นเลิศในที่นี้คือการทะลุขีดจำกัดของตัวเองไปเรื่อยๆ โอกาสเสี่ยงที่จะเจ็บมีสูงมาก ซึ่งผมเองก็ไม่ค่อยกล้าที่จะดันศักยภาพของเขาให้พุ่งทะลุไปถึงขนาดนั้น ฉะนั้น
ตัวผมเองส่วนมากก็จะไม่ค่อยรับคนที่จริงจังกับความต้องการผลของความเป็นเลิศ ผมเน้นที่จะปูฟื้นฐานให้ทุกคนวิ่งได้อย่างมีสุขภาพที่ดีมากกว่า ซึ่งถ้าปูพื้นฐานเสร็จแล้ว มีใครอยากไปมากกว่านี้ ก็จะส่งไม้ต่อให้คนอื่นต่อไป ไม่อย่างนั้นผมอาจจะจัดการกับความคิดตรงนี้ได้ยาก
แล้วถ้าจะให้บอกถึงหน้าที่ของคนเป็นโค้ช ต้องทำอะไรบ้าง
ต้องรวมความเป็นครู ความเป็นบอส ความเป็นเพื่อน ต้องรวมทักษะในตัวที่มีทุกอย่างออกมาใช้ ไม่ใช่ว่ามีโปรแกรมแล้วให้เขาวิ่งอย่างเดียว ซึ่งต้องแยกแบบนี้ก่อนว่าจะมีโค้ชที่เป็นของฝั่งนักกีฬากับฝั่งรณรงค์ ซึ่งผมอยู่ในฝั่งรณรงค์ สิ่งที่ผมทำคือ นำของที่ทุกคนไม่เห็นค่า แต่จำเป็นต้องทำ มาย่อยให้เข้าใจเนื้อตัวมันจริงๆ หลายคนมองว่า วิ่งคือง่ายที่สุดแล้ว แต่เนื้อในของการวิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบร่างกาย สมรรถนะ ความแข็งแรง และทักษะที่มีในแต่ละคน หลังจากนั้นค่อยสวมกิจกรรมเข้าไป โดยทำให้มีคุณค่าและใส่ใจถึงความสำคัญ เช่น จัดตารางการวิ่งให้เหมาะสมกับร่างกายแต่ละคน เติมทักษะในสิ่งที่ขาดหายไป เป็นต้น ผมเลยมองว่า โค้ชที่เก่งไม่ใช่คนที่จัดตารางแฟนซี แต่เป็นคนที่ทำให้คนยอมทำกับพื้นฐานจำเป็นซ้ำไปซ้ำมาจนชำนาญและครบกำหนดเวลา แล้วค่อยไต่ระดับขึ้นไป ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผมมองว่า คนเป็นโค้ชควรทำได้
อย่างมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มหรือเพิ่งหัดจะวิ่ง จำเป็นที่จะต้องมีโค้ชหรือไม่
ผมเปรียบง่ายๆ ทำไมถึงไปโรงเรียน เรียนอยู่บ้าน อ่านหนังสือเองก็ได้ ซึ่งถ้าไปโรงเรียนแล้ว อาจสะดวกสบายมากกว่า ผมคิดว่า มันน่าจะอารมณ์เดียวกัน เพราะมันแฝงไปด้วยมูลค่าที่มองไม่เห็นอยู่ คือการออกกำลังกายมันไม่เหมือนการเรียนประเภทอื่น ที่ซื้อหนังสือมาทำแบบฝึกหัด มีเฉลยในตัว แล้วรู้ว่าทำผิดตรงไหน แต่การออกกำลังกายมันไม่ใช่ ผมบอกว่า นี่คือท่าที่ถูก ต้องทำตามนะ พอให้ทำตามเสร็จ คนส่วนมากอาจจะกำลังทำผิดอยู่ แล้วไม่รู้ว่าตัวเองทำผิดอย่างไร ต่อให้ถ่ายวิดีโอมาดู ก็ไม่รู้ว่าทำผิดตรงไหน บางครั้งอาจไม่รู้ด้วยว่า จะแก้กลับมาอย่างไรให้ถูกต้องมองภาพกลับมาที่การวิ่ง การวิ่งถือเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อต่อซ้ำๆ ถ้าผ่อนแรงไม่เป็น ลงน้ำหนักไม่ถูกต้อง โอกาสบาดเจ็บจะมีสูงมาก ผมเลยมองว่า ถ้าเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ อาจจะยังไม่จำเป็นต้องมีโค้ช แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายเพื่อการกีฬา โค้ชอาจมีความจำเป็นมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละคน เพราะบางคนอาจมีโค้ชเพื่อต้องการได้ท่าที่ถูกต้อง และดูแลตัวเองเมื่อต้องออกกำลังกายในลำดับต่อไปได้ ซึ่งการมีโค้ชก็อาจเป็นเหมือนการตั้งเข็มทิศเพื่อให้ตัวเองไปได้เร็วขึ้นนั่นเอง
สิ่งที่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่สุดในการโค้ชคนสักคนหนึ่ง
ผมมองว่า บางคนยังไม่พร้อมที่จะรอผล คือถ้าเป็นงานวิจัย ขั้นต่ำที่คนเราจะเปลี่ยนแปลงร่างกายอย่างชัดเจนอย่างน้อยต้อง 6 สัปดาห์ขึ้นไป หรือถ้าให้พูดเป็น ‘ลดน้ำหนัก’ ก็น่าจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายกว่า อย่างเช่น ที่เขาบอกว่า ภายใน 1 เดือน ไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 1-2 กิโลกรัมสำหรับคนทั่วไป หรือถ้ามีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ก็ไม่ควรเกิน 4 กิโลกรัม ฉะนั้น ตัวเลขเหล่านี้จะไม่หวือหวา พอเป็นแบบนั้น คนก็เลยจะต้องรอกว่าจะได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้น แต่ท้ายสุด เขาก็จะมองเขวไป เพราะคิดว่ามันไม่ได้ผล ทั้งที่ยังไม่ได้ทำจนจบโปรแกรมเลย บางทีจบโปรแกรมแล้ว และก็เน้นย้ำไปแล้วว่า จะพัฒนาได้เท่านั้น เขาก็จะคาดหวังว่ามันควรเยอะกว่านี้ เห็นผลเร็วกว่านี้ ซึ่งต่อให้คุณได้จริง สิ่งที่ต้องแลกมา 100 เปอร์เซ็นต์เลยคือสุขภาพและอาการบาดเจ็บแน่นอน
มีคำกล่าวที่ได้ยินบ่อยๆ ช่วงนี้คือ วิ่งคือเทรนด์ เห็นด้วยกับคำพูดนี้มากน้อยแค่ไหน
วิ่งคือเทรนด์ นี่คือใช่แน่ๆ สิ่งที่ทำให้การวิ่งเป็นที่นิยมได้ขนาดนี้ไม่ใช่เพราะ สสส. ไม่ใช่เคมเปญของรองเท้ากีฬาชื่อดัง แต่เป็นเพราะสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง ‘เฟซบุ๊ค’ ที่เวลามีอีเวนต์หรือซ้อมวิ่งก็จะมีการโพสต์ให้คนเห็นอยู่บ่อยครั้งและทำให้คนที่รักในการวิ่งจมจ่อมอยู่กับมันได้นานขึ้น ถ้าไปดูเรื่องจิตวิทยา เวลามีคนโพสต์รูปวิ่งขึ้นมา ถ้าเป็นโพสต์ทั่วไป คนอาจจะไม่ได้สนใจ แต่ถ้าเป็นรูปวิ่ง คล้ายกับคนคนนั้นได้รับการยอมรับและมีตัวตนขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการกดไลก์หรือโพสต์ที่ให้กำลังใจก็ตาม ถ้าจะให้พูดจริงๆ อย่างถ้าวิ่ง 10 กิโลเมตร สำหรับนักวิ่งคือเบื้องต้นมาก แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปหรือคนที่ไม่เคยวิ่ง 10 กิโลเมตร คือระยะทางที่ไกลสำหรับเขา ซึ่งคนที่โพสต์ลงไป ความรู้สึกเขาเหมือนได้รับรางวัล 2 ต่อ ต่อที่ 1 คือ เหรียญที่ถือ ต่อที่ 2 คือ คำชื่นชม ซึ่งตอนนี้สารแห่งความสุขจะเริ่มหลั่งมากขึ้น และนั่นเองเป็นเหตุผลที่ว่า มีบางคนเสพติดการวิ่ง หรือบางคนชอบวิ่งไม่หยุด ทีนี้พอทำแบบนี้กันมากขึ้น เห็นคนนั้นก็วิ่ง คนนี้ก็วิ่ง ก็เลยมีความคิดที่อยากจะลองวิ่งบ้าง ซึ่งนี่แหละที่ทำให้การวิ่งได้รับความนิยมขึ้นมา ถ้าจะให้ว่ากันตามตรง ‘เฟซบุ๊ค’ ถือว่ามีอิทธิพลค่อนข้างมากนะสำหรับการวิ่งของคนไทย สรุปแล้วเลยคิดว่า วิ่งก็ถือเป็นเทรนด์อย่างหนึ่งได้ ลองไม่ให้โพสต์เรื่องวิ่งลงเฟซบุ๊คสิ ไม่แน่ความสนใจในการวิ่งอาจจะหายไปประมาณ 35-40 เปอร์เซ็นต์
การวิ่งช่วยสร้างชีวิตใหม่ให้คนได้จริงหรือเปล่า
จริงๆ การออกกำลังกายคือการเปลี่ยนชีวิตอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้การวิ่งมันพิเศษ อย่างแรกเลยก็คือย้อนกลับไปเวลาที่เล่นเกม แล้วมันดูดเงินในมือถือ มันจะให้เติมของและไอเท็มต่างๆ ที่จะช่วยให้ตัวละครในเกมเก่งขึ้น ซึ่งมันก็เหมือนกับการวิ่งนี่แหละ เพราะวิ่งเป็นกีฬาประเภทเดียวที่ทุกคนแข่งขันและเข้าร่วมได้ง่าย มีการเพิ่มระดับให้ท้าทายตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 กิโลเมตร เป็น 10 กิโลเมตร ดังนั้น การทำให้คนติดได้ง่าย คือความพิเศษอย่างแรกของการวิ่ง ความพิเศษอย่างที่สองคือ หากฝืนวิ่งได้สัก 6 สัปดาห์อย่างถูกวิธี คุณภาพชีวิตจะเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด ร่างกายดีขึ้น นอนหลับดีขึ้น รูปร่างดีขึ้น ความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตัวเขาเองจะไม่รู้หรอกว่า ทันทีที่ผ่าน 10 กิโลเมตรมาแล้ว จะทำให้เขาเป็นคนใหม่ได้อย่างคาดไม่ถึง ความพิเศษของการวิ่งนี้ ไม่ใช่มีแต่ข้อดี แต่อาจกลายเป็นดาบสองคมได้เช่นเดียวกัน อย่างคนที่ติดวิ่งหรือนิยามตัวเองว่าเป็นนักวิ่ง ท้ายสุดแล้ว เขาจะหยุดไม่ได้ กลายเป็นว่าโค้ชหรือหมอสั่งให้คนหยุดวิ่งยากกว่าสั่งให้คนวิ่งเสียอีก ถ้าให้บอกก็คือ วิ่งช่วยสร้างชีวิตใหม่ได้ แต่มันก็อาจทำให้เขาเปลี่ยนหรือกลายเป็นคนอีกคน ซึ่งถ้าหากควบคุมตัวเองไม่ได้ จะส่งผลให้ร่างกายบาดเจ็บจนยากต่อการรับมือไปเลย
อะไรในการวิ่ง “ก้าวคนละก้าว” ที่คิดว่านำมาปรับใช้กับการวิ่งของคนทั่วไปได้
ผมยังยืนยันว่า ‘ความเชื่อ’ ปรับใช้กับการวิ่งได้ ไม่ว่าใครจะบอกว่า คุณทำไม่ได้ ไม่ควรทำ แต่ถ้าคุณเชื่อมันจริงๆ แล้วคุณทำมันออกมา มันมีโอกาสประสบความสำเร็จเสมอ แต่ผมเองก็ไม่อาจยืนยันได้ว่า จะสำเร็จหมดทุกคน แค่มองว่า มีโอกาสมากกว่า หากไม่ลงมือทำอะไรเลย แต่ก่อนผมเป็นประเภทมีตรรกะสูง ชอบทฤษฎีและกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งจะมีการคำนวณความเสี่ยงมาให้แล้วเลือกทางที่เปอร์เซ็นต์สำเร็จมากกว่า และเดินไปตามทางนั้น ผมใช้ชีวิตแบบนั้นมาเสมอ พอผมมีโอกาสได้มาอยู่ในทีม “ก้าวคนละก้าว” มุมมองการใช้ชีวิตผมก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่เราเคยมั่นใจในเรื่องของตัวเลขอย่างเดียว กลายเป็นเริ่มมีเรื่องของความเชื่อและศรัทธาเข้ามา เพราะผมมองว่า การจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่บางอย่าง แค่ตัวเลขที่น่าเชื่อถืออาจจะไม่พอ ความเชื่อและศรัทธาอาจเป็นตัวนำพาให้สิ่งที่คาดหวังไว้สำเร็จได้
ถ้ามีคนบอกว่า “พรุ่งนี้จะเริ่มวิ่งวันแรก” คำแนะนำในฐานะโค้ชที่คุณจะให้เขาคือ…
ถ้าแนะนำง่ายสุด ขอให้ศรัทธาในสิ่งที่ทำเข้าไว้ ผมบอกเลยว่า ถ้าตอนนี้คุณเดินได้ ทุกคนจบมาราธอนได้ คือไม่ว่าคุณจะป่วย มีน้ำหนักเกิน อายุมาก หรืออะไรก็ตามแต่ ผมแค่อยากให้คุณเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ทำ รับรองเลยว่า ทุกคนจบมาราธอนได้ ขอให้เชื่อในตัวผมและศรัทธาในตัวคุณเอง
เรื่องและภาพ : ยุทธชัย สว่างสมุทรชัย , Facebook Fanpage ez2fit