เรียนรู้เรื่อง “การล้ม” ปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้สูงอายุ !

เรียนรู้เรื่อง “การล้ม” ปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้สูงอายุ !

เรียนรู้เรื่อง “การล้ม” ปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้สูงอายุ ! 

ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่มีความเสื่อมของร่างกาย ทั้งสายตาพร่ามัว และมีปัญหาโรคกระดูกและข้อ ทำให้การทรงตัวและการเคลื่อนไหวที่ไม่มั่นคง รวมทั้งพบอาการหลงลืม หรือสมองเสื่อมได้มากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยด้านร่างกายของผู้สูงอายุที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้ง่าย โดยจากสถิติเกี่ยวกับการบาดเจ็บของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มของผู้สูงอายุสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

นอกจากความเสื่อมของร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจส่งผลให้ผุ้สูงอายุหกล้มได้คือ สภาพแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ เช่น สภาพแวดล้อมภายในบ้าน ดังนั้น การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำหรับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันการลื่นล้มสามารถแก้ไขได้และเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจทำให้ผู้สูงอายุบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก โดยปัจจัยภายในคือปัจจัยในร่างกายของผู้สูงอายุ ส่วนปัจจัยภายนอกเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวผู้สูงอายุ

ปัจจัยเสี่ยงภายในของผู้สูงอายุ

ปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาทางกายภาพของผู้สูงอายุเอง มีดังต่อไปนี้

  1. ความเปลี่ยนแปลงด้านสายตา ผู้สูงอายุมักมีปัญหาสายตายาว ทำให้คาดคะเนระยะทางได้ไม่ถูกต้อง หรือโรคต้อที่ทำให้มองเห็นไม่ชัด จึงเกิดการหกล้ม
  2. ข้อต่อและเอ็นที่อ่อนแอลง ส่งผลต่อการทรงตัว จึงทำให้เกิดการหกล้มได้
  3. ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ ในผู้สูงอายุพบว่ามีปัญหาปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ ทำให้ต้องรีบเร่งในการเข้าห้องน้ำและเกิดการหกล้มบ่อยครั้ง
  4. โรคประจำตัวบางอย่าง ก็ส่งผลต่อการหกล้มได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมองส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงจึงขาดสมดุลในการทรงตัว หรือโรคพาร์กินสันที่มีภาวะสั่นก็มีความเสี่ยงต่อการหกล้มสูงเช่นกัน
  5. การใช้ยาบางตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น ยาลดความดันโลหิต ยานอนหลับ ยาต้านการซึมเศร้า

7 สภาพแวดล้อมในบ้านที่ผู้สูงอายุเสี่ยงล้ม

ปัจจัยเสี่ยงภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้สูงอายุ ประกอบไปด้วยสิ่งแวดล้อมในบ้านและนอกบ้าน เราลองไปดูกันว่า จุดเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้มากที่สุด พร้อมวิธีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุกับคุณตา คุณยาย ของเรา จากจุดเสี่ยงนั้นๆ กันค่ะ

1.ห้องน้ำ ห้องน้ำที่ลื่น และไม่มีราวจับกันล้ม เป็นจุดเสี่ยงต่อการหกล้มที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด

2.บันได ทางขึ้นลงที่มีสิ่งของวางเกะกะ บันไดที่ชำรุดหรือมีขั้นไม่เท่ากัน รวมถึงแสงสว่างบริเวณบันไดทางเดินที่ไม่เพียงพอ

3.พื้นบ้าน พื้นบ้านที่ลื่น ไม่มีแรงเสียดทาน มีพรม เสื่อ ผ้ายาง หรือผ้าปูรองพื้น อาจทำให้สะดุดล้มได้ง่าย อีกทั้งข้าวของที่วางไว้ไม่เป็นระเบียบ รวมถึงสายไฟ สายโทรศัพท์ ที่ติดตั้งไม่เรียบร้อยบนพื้น

4.ห้องครัว ซึ่งการทำครัวอาจมีน้ำมัน หรือน้ำที่เกิดจากการทำครัวกระเด็นมาที่พื้นและทำให้พื้นลื่นได้ง่าย รวมถึงการจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เป็นระเบียบก็มีส่วนในการหกล้มได้เช่นกัน

5.ห้องนอน การจัดวางสิ่งของ เตียงนอน โต๊ะ ต่างๆ หากไม่วางในจุดที่เหมาะสมก็เสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายเช่นกัน เพราะผู้สูงวัยต้องลุกมาเข้าห้องน้ำช่วงกลางคืนบ่อยๆ รวมถึงสวิตช์ไฟในห้องนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ หากติดตั้งไม่เหมาะสม

6.ประตู ประตูที่มีขนาดแคบเกินไป หรือช่วงธรณีประตูเป็นสาเหตุของการสะดุดหกล้มได้ง่าย

7.เก้าอี้ เก้าอี้ที่มีพนักพิง หรือมีความสูงมากเกินไป เป็นปัญหาต่อการทรงตัวของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจทำให้เกิดการหกล้มได้ง่ายเช่นกัน

เมื่อเราถึงจุดเสี่ยงตรงไหนของบ้าน ที่อาจทำผู้สูงวัยที่เรารักเกิดหกล้มได้ง่ายแล้ว ก็ต้องหาวิธีการจัดสภาพแวดล้อมในบ้าน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

เทคนิค ปรับจุดเสี่ยงให้ปลอดภัย            

1.พื้นบ้าน พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อการป้องกันการหกล้มของผู้สูงวัย คือ ผิวด้านหรือผิวสัมผัสเป็นลวดลาย ปรับให้มีลักษณะเป็นพื้นเรียบ ไม่ขรุขระและไม่ขัดมันจนลื่น หากผู้สูงอายุต้องใช้รถเข็น พื้นบ้านควรเป็นระดับเดียวกันเพื่อง่ายต่อการใช้งาน

2.บันได ควรติดตั้งราวจับที่มั่นคงเพื่อให้สะดวกในการยึดเกาะเดินขึ้นลง นอกจากนี้บันไดในแต่ละขั้นควรมีความสูงเสมอกัน และไม่ชันมากจนเกินไป ที่สำคัญบริเวณบันไดไม่ควรวาง หรือมีสิ่งของกีดขวางทางเดินรวมทั้งไม่ควรมีพรมวางเพราะจะทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้มได้

3.ห้องนอน สวิตช์ไฟควรอยู่ในจุดที่เปิดปิดง่าย เช่น บริเวณหัวเตียง

4.ห้องน้ำ กระเบื้องในห้องน้ำควรใช้กระเบื้องแผ่นเล็ก และมีผิวสัมผัสที่ด้าน เพราะการเปียกลื่นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและส่วนใหญ่มักรุนแรง อาจนำแผ่นกันลื่นมาวางไว้ในห้องน้ำ ที่สำคัญควรทำราวเกาะไว้รอบ ๆ ห้องน้ำ/ห้องส้วม เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ในการยึดเกาะทรงตัว

5.แสงสว่าง ควรจัดให้มีแสงสว่างที่เพียงพอโดยเฉพาะบริเวณบันได ห้องน้ำ ประตู และทางเดิน สวิตซ์ไฟอยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้สะดวก เปิด-ปิดง่าย

6.ห้องครัว ของที่ต้องใช้บ่อยๆ ควรวางไว้ที่ระดับเอว ให้หยิบใช้ง่าย เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ

7.ประตู ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะเป็นสาเหตุของการสะดุดหกล้ม และประตูควรเป็นบานเลื่อน หรือประตูแบบเปิดออก เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุหกล้ม

นอกจากการดูแลผู้สูงอายุในเรื่องของความปลอดภัยภายในบ้าน อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ ความรัก การดูแลเอาใส่ใจท่าน ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อให้ท่านมีความสุขและมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงค่ะ

ที่มา: นิตยสารชีวจิต ฉ.510

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

จัดบ้านอย่างไรให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน อยู่ร่วมกับเราได้อย่างมีความสุข!

การปฐมพยาบาลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี ทำให้โอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น

สูงวัยต้องรู้ไว้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นง่าย แม้อยู่ในบ้านของคุณเอง!

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.