มาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงามหลังการปลดล็อค
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดข้อกำหนดมาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงามหลังการปลดล็อค เพื่อให้มีความปลอดภัยหรือ To Be Safety ทั้งกับคนไข้และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และลดความเสี่ยงของการทำหัตถการ และสร้างแผนปลดล็อคสถานประกอบการ 4 กลุ่มตามความเสี่ยง และกำหนด 4 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการด้านผู้ป่วย 2.มาตรการด้านเจ้าหน้าที่ 3.มาตรการด้านสถานที่ และ 4.มาตรการการทิ้งขยะ
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ อุปนายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวในการจัดการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ มาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงามหลังการปลดล็อค” ว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19 รัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ มาเพื่อควบคุมปัญหาการระบาดทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนเรา ธุรกิจกิจการรวมไปถึงสถาบันการแพทย์ผิวหนังหรือคลินิกการแพทย์ต่าง ๆ ต้องปิดตามไปด้วย แต่ด้วยขณะนี้สถานการณ์ที่กำลังจะเริ่มดีขึ้นและมีแนวโน้มการระบาดที่ลดลง จึงมีคำถามตามมาว่า จะสามารถกลับมาเปิดกิจการเหมือนเดิมได้ไหม
ในนามของสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เล็งเห็นปัญหาตรงนี้จึงได้มีการวางแผนมาตรการการจัดระเบียบคลินิกความงาม หลังจากการปลดล็อคเพื่อปรับสมดุลให้ดีก่อนการเปิดคลินิก ซึ่งการวางแผนนี้มีเป้าหมายอยู่ 2 ข้อ คือ
1.ต้องมีความปลอดภัยหรือ To Be Safety ทั้งกับคนไข้และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน มาตรการที่ดีที่สุดก็คือการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคและต้องมีการปรับระบบงานในคลินิกให้สอดคล้องกับความปลอดภัย ทั้งในเรื่องความปลอดภัยในการทำหัตถการรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ควรมีความรู้ในเรื่องของการป้องกันที่ดีพอ
2.ลดความเสี่ยงของการทำหัตถการ เนื่องจากหัตถการแต่ละอย่างมีระดับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องมีการจัดแบ่งกลุ่มความเสี่ยงน้อยไปจนถึงเสี่ยงมาก ดังนั้นในการวางแผนมาตรการ ทางสมาคมจึงต้องคำนึงถึงความสมดุลกันของทั้งสองอย่างให้ดี เพื่อที่จะสามารถตอบสังคมได้ว่าสิ่งที่เราทำไปมันพอดีพอเหมาะและมีความปลอดภัย
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ในทุกภาคส่วนทั้งกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด รวมถึงประชาชนพยายามช่วยกันที่จะควบคุมภาวะนี้ให้เป็นไปด้วยดี จนตอนนี้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการ ซึ่งเป็นการค่อย ๆ คลายล็อคระหว่างการเปิดกิจการต่าง ๆ กับการควบคุมโรคไปด้วย ดังนั้นช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ต้องเตรียมการในเรื่องผ่อนปรน จึงทำให้มีแผนปลดล็อคสถานประกอบการ 4 กลุ่มตามความเสี่ยง คือ
1. กลุ่มสีขาว เป็นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น เช่น สวนสาธารณะ
2. กลุ่มสีเขียว จะเป็นความเสี่ยงต่ำ เช่น ร้านขายหนังสือ สวนและร้านดอกไม้
3.กลุ่มสีเหลือง จะเป็นความเสี่ยงกลาง เช่น เป็นห้างสรรพสินค้าหรือว่าคลินิกแพทย์ รวมไปถึงคลินิกความงาม คลินิกทำฟันจะอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
4. กลุ่มสีแดง เป็นกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น ผับ บาร์ สนามมวย ทั้งนี้ประเภทของสถานประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนได้ ตามมาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการของการป้องกันความเสี่ยงของสถานประกอบการ การปลดล็อคช่วงที่ 1 กิจการในประเภทสีขาวสามารถเปิดได้ทันที ช่วงที่ 2 เป็นช่วงพิจารณาความพร้อมของสถานประกอบการในกลุ่มสีเขียวและสีเหลือง
ดังนั้นช่วงนี้สถาบันทางการแพทย์ คลินิกแพทย์ รวมไปถึงคลินิกความงามควรที่จะเตรียมความพร้อม จะต้องแสดงให้เห็นว่าเรามีมาตรการและกลไกการดำเนินการที่ดีในการป้องกัน ซึ่งตรงนี้ต้องทำตามมาตรการกลางและทางเราก็มีแนวทางกลาง ๆ ในการปฏิบัติอยู่
ด้าน ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อแพทย์ผิวหนังและแพทย์เสริมความงามได้รับผลกระทบโดยตรงและรวมถึงบุคลากรที่ปฏิบัติงานในคลินิก หรือแม้แต่คนไข้เองก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งการวางแผนมาตรการออกมาเป็นฉบับกลางนั้น ได้ร่วมประชุมกับทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยมาตรการที่ร่างขึ้นมานั้น มีฐานเป็นข้อมูลมาจากเว็บไซต์ของ CDC และ WHO หรือองค์การอนามัยโลก เมื่อได้ร่างมาตรการเสร็จ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ช่วยตรวจมาตรการนี้ เพราะฉะนั้นมาตรการนี้ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วในระดับหนึ่ง
“ที่ต้องมีการเขียนมาตรการสำหรับการจัดระเบียบคลินิกความงามขึ้น เนื่องจากหัตถการหลายอย่างที่ทำในคลินิกความงามนั้นมีความเสี่ยง มีข้อมูลรายงานว่า ในควันที่เกิดจากการทำเลเซอร์โดยเฉพาะเลเซอร์สิวตรวจพบเชื้อไวรัสหูด ถึงแม้จะยังไม่มีการรายงานว่าพบเชื้อ SARS-CoV-2ไวรัสของ COVID-19 เพราะปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยถึงระดับนั้น แต่เราก็ต้องปลอดภัยเต็มที่ไว้ก่อน ซึ่งควันในการทำเลเซอร์อาจจะทำให้เชื้อฟุ้งกระจายได้ภายในคลินิก ถ้าไม่มีการดูดควันที่ดีพอและได้มาตรฐานเนื่องจาก เชื้อ SARS-CoV-2 สามารถอยู่ได้นาน 2 ชม.- 9 วัน ในอุณหภูมิห้อง ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ รวมไปถึงการทำหัตถการใด ๆ ที่ทำให้เลือดกระเด็นออกมาได้ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะมีรายงานพบว่า สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสได้ในเลือดของผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ”
ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการทำหัตถการด้านความงามเลเซอร์หรือหมอผิวหนังที่มีความเสี่ยง ได้แก่
1. การปรึกษาที่ใช้เวลานาน ๆ กับคนไข้
2. หัตถการที่เกิดควันรวมไปถึงการจี้ไฟฟ้าหรือการจี้ความเย็น และเลเซอร์ที่เกิดควัน เช่น คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ เลเซอร์ที่ทำและมีควันฟุ้งกระจาย Q -switched laser หรือ piocosecond laser หรือแม้แต่เลเซอร์ที่กำจัดขนที่ทำตามร่างกาย
3. หัตถการที่ใช้เวลานาน เช่น การฉีดฟิลเลอร์หลายตำแหน่ง การกดสิวหลายตำแหน่ง ดังนั้นจากที่ประชุมต้องใช้เวลาในการทำหัตถการไม่เกิน 60 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
4.หัตถการในช่องปาก ซึ่งเป็นหัตถการที่มีความอันตรายมากที่สุด
ในที่ประชุมเมื่อต้นสัปดาห์เราได้คุยถึงมาตรการในการจัดระเบียบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของทั้งหมอ บุคลากรและคนไข้ที่เข้ามาในคลินิก อย่างที่แน่นอนไม่ได้เป็นการจัดมาตรการด้านเจ้าหน้าที่ สถานที่หรือเครื่องมืออย่างเดียวเราต้องมีมาตรการและมาตรฐานบริหารจัดการด้านคนไข้ด้วย ซึ่งแต่ละมาตรการมีดังต่อไปนี้แบ่งเป็น
- มาตรการด้านผู้ป่วย
- มาตรการในการคัดกรองผู้ป่วย อาจจะต้องมีการคัดกรองทางโทรศัพท์ โทรไปถามถ้าคนไข้มีอาการคล้ายหวัด มีไข้ หรือแม้แต่ท่านที่มีประวัติที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด หรือเดินทางไปสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคอาจต้องขอให้ยกเลิกนัดไปก่อน ซึ่งเราต้องคัดกรองตั้งแต่ขั้นตอนคนไข้โทรมานัด
- เมื่อผู้ป่วยมาถึงหน้าคลินิกทางคลินิกต้องติดป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโควิด มีการวัดอุณหภูมิ ให้ผู้ป่วยทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยสบู่และน้ำก่อนเข้าคลินิก ต้องมีการเปลี่ยนหรือคลุมรองเท้า ต้องจำกัดจำนวนของผู้มาคลินิกที่ไม่ใช่ผู้ป่วยไม่เกินจำนวน 1 ท่านเข้ามาที่คลินิก ต้องตรวจ rapid test หรือ swab ไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนการทำหัตถการในรายที่ต้องทำหัตถการนานเกิน 60 นาที
- ภายในคลินิก ต้องมีฉากใสกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย ณ จุดต้อนรับ มีการจัดเก็บชื่อนามสกุล ที่อยู่ เลขที่บัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อผู้ป่วยได้ ต้องจัดที่นั่งห่างกัน 1-2 เมตร ทำความสะอาดที่อาจปนเปื้อนเชื้อบ่อย ๆ เช่น หนังสืออ่านเล่น หรือของตกแต่ง
- หลังผู้ป่วยกลับ ควรทำความสะอาดพวกเคาน์เตอร์ โต๊ะ เก้าอี้หรือเตียง แม้แต่ในคลินิกความงามที่มีกระจกส่องหน้าต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่สามารถฆ่าเชื้อได้
- มาตรการด้านเจ้าหน้าที่
- ห้ามเดินทางต่างประเทศ ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินทางก่อนจะมาปฏิบัติหน้าที่ต้องกักตัว 14 วัน สำหรับคนที่ทำงานในคลินิกเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมง จะต้องวัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 2 รอบ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์หรือสบู่และน้ำ
- ในห้องทำหัตถการ ต้องคลุมเครื่องมือและโต๊ะด้วยพลาสติกและเปลี่ยนทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการต้องสวมชุดและเครื่องมือป้องกันที่เหมาะสม เช่น ถุงมือ ชุดคลุม หมวกคลุมหัว แว่นตา หน้ากาก และ Face Shield ใช้เครื่องดูดควันทุกครั้งเมื่อทำหัตถการที่เกิดควันและเน้นย้ำให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากในห้องเลเซอร์ทุกครั้ง
- หลังเสร็จหัตถการ ถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกันทุกอย่างอย่างถูกต้องถูกวิธี และล้างมือทุกครั้งหลังถอดถุงมือ
- มาตรการด้านสถานที่
- ต้องคลุมเครื่อง โต๊ะ เตียงด้วยผ้าหรือพลาสติกที่เปลี่ยนได้ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาที่ฆ่าเชื้อไวรัสโควิดได้ เช่น ethanol 62-71% หรือ hydrogen peroxide 0.5% หรือ sodium hypochlorite 0.1%
- มาตรการเรื่องห้องน้ำ ต้องมอบหมายเจ้าหน้าที่ในการทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง ตั้งแต่ก๊อกน้ำ ชักโครก ฝารองนั่ง เมื่อมีการใช้งานต้องมีถังขยะเพื่อเก็บแยกขยะให้ดีและทำการทิ้งตามระเบียบของกรมอนามัย
- มาตรการการทิ้งขยะ ถอดทิ้งชุดและเครื่องมือป้องกันทุกอย่างอย่างถูกต้องและปลอดภัย คัดแยก ทิ้งอุปกรณ์และขยะทางชีวภาพตามข้อบังคับของกรมอนามัย
อย่างไรก็ตามมาตรการต่าง ๆ ที่ทางสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้เสนอมานี้เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อช่วยให้ประเทศของเราสามารถผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างปลอดภัยหลังการปลดล็อค