เทคโนโลยี A.I. จาก FUJIFILM ผนวกฐานข้อมูลสุขภาพจากศิริราช สร้างอนาคตแวดวงสุขภาพ
วันที่ 25 กันยายน 2563 ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัทฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ( FUJIFILM ) ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี A.I. หรือปัญญาประดิษฐ์ สำหรับงานรังสีวินิจฉัย เพื่อช่วยทีมแพทย์ในการวินิจฉัยรอยโรคและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาในอนาคต
ว่าด้วย A.I. กับแวดวงการแพทย์
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “โรงพยาบาลศิริราช มีนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งเทคโนโลยีที่เรากำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือปัญญาประดิษฐ์ หรือ A.I. ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาให้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของทีมแพทย์ เป็นการช่วยวินิจฉัยและตรวจประเมินคัดกรองผู้ป่วย จึงนำมาสู่การร่วมมือวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้โรงพยาบาลศิริราชเป็นผู้นำในด้าน A.I. Center ที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย สามารถอ่านผลภาพของผู้ป่วยและรายการผลทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหลัก ๆ ในสัญญาการร่วมมือครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาระบบ A.I. กับเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องเอกซเรย์ปอด เครื่องตรวจเต้านม Mammography โดยกำหนดระยะเวลาไว้ 1 ปี หรือตั้งแต่บัดนี้จนถึง 24 กันยายน 2564”
ซึ่งการทำงานของ A.I. นั้น จะประมวลผล บ่งชี้รอยโรค และวินิจฉัยโรคผ่านคลังข้อมูลเคสจากโรงพยาบาลศิริราชจำนวนมาก สร้างอัลกอริทึม และแสดงผลอย่างแม่นยำ ทั้งนี้อัลกอริทึมนั้นยังปรับเปลี่ยน พัฒนา และเพิ่มความแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถทดแทนบุคลากรทางการแพทย์ได้ ยกตัวอย่าง โดยปกติ แพทย์คนหนึ่งต้องการวินิจฉัยโรคจากฟิล์มเอ็กซเรย์ อาจต้องขอคำปรึกษาจากรังสีแพทย์ หรือแม้แต่รังสีแพทย์ที่อ่านผลแล้วเกิดความไม่มั่นใจ ก็จำเป็นต้องปรึกษารังสีแพทย์อีกคนในการช่วยลงความเห็นวินิจฉัยโรค ซึ่งต้องยอมรับว่าจำนวนรังสีแพทย์ในประเทศไทยยังมีน้อย ถ้าเทียบกับสถานบริการทางสาธารณสุขในประเทศ โรงพยาบาลในที่ห่างไกลส่วนใหญ่ขาดแคลน เทคโนโลยีนี้จึงสามารถเข้ามาช่วยแพทย์เจ้าของโรคในการบ่งชี้รอยโรคและวินิจฉัยโรคแทนรังสีแพทย์ได้ หรือตัวรังสีแพทย์เองก็สามารถอ่านผลร่วมกับ A.I. ได้โดยไม่ต้องใช้รังสีแพทย์มากกว่า 1 ท่าน
ในด้านความพร้อมเรื่องฐานข้อมูลในการพัฒนาระบบ A.I. ทางนายแพทย์ประสิทธิ์ได้ยืนยันว่าจำนวนเคสที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลตั้งต้นของศิริราชมีอยู่ประมาณ 50,000 เคส ซึ่งมีมากเพียงพอ และต้องยอมรับว่าโรงพยาบาลศิริราชนั้นเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีข้อมูลทางพยาธิสภาพหลากหลายและซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่ง จึงเหมาะเจาะในการผนวกข้อมูลที่มีกับความสามารถของ A.I. เป็นอย่างยิ่ง
“A.I. จะทรงประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณฐานข้อมูล ทั้งจำนวน ความหลากหลาย และความซับซ้อน หากมีปริมาณเคสน้อย การทำ A.I. จะไม่คุ้มกัน”
ทำไมต้อง FUJIFILM
นายแพทย์ประสิทธิ์ ให้เหตุผลว่า ทางศิริราชกับฟูจิฟิล์ม เป็นเหมือนเพื่อนเก่าที่ร่วมงานกันมาอย่างยาวนาน การลงนามครั้งนี้จึงเกิดมาจากความเชื่อใจและมุ่งมั่นพัฒนาอนาคตของการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของผู้คน
และตลอดมา ทางฟูจิฟิล์มได้เข้ามามีบทบาทด้านเครื่องมือทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับฟิล์มเอ็กซเรย์ (งานรังสีวินิจฉัย) ซึ่งฟิล์มและภาพ เป็นหนึ่งในจุดเด่นของฟูจิฟิล์มที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ตรงนี้จึงเป็นคำอธิบาย ที่อาจไม่มีใครทราบว่าทางฟูจิฟิล์มเอง ก็อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มายาวนานเช่นเดียวกัน
ทางด้าน มร.ซึโตมุ วาตะนาเบ้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การลงนามครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี A.I. เพื่อรังสีวินิจฉัย ร่วมกับโรงพยายาลศิริราช โดยการนำระบบซอฟต์แวร์อัจฉริยะ (FUJIFILM A.I. “REiLi” Solution) เชื่อมต่อกับระบบจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นระบบข้อมูลภาพที่ทางโรงพยาบาลศิริราชมีอยู่ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคแพทย์ในการทำงานด้าน Workflow ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น”
ฟูจิฟิล์มมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี A.I. ใช้งานร่วมกับเครื่องตรวจเต้านม Mammography ตัวเทคโนโลยีจะสามารถตรวจแสดงตำแหน่งที่พบความผิดปกติ ช่วยให้แพทย์พบความผิดปกติของรอยโรคและทำการวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ทางฟูจิฟิล์มยังได้พัฒนาเทคโนโลยี A.I. กับเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เช่น กล้องส่องระบบทางเดินอาหาร Endoscopy เครื่อง Ultrasound และอื่นๆ เพื่อช่วยยกระดับการรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมมากขึ้น ดั่งนิยาม “Healthcare Total Imaging Solution”
อนาคตการแพทย์ไทย
ปัจจุบันมีระบบ A.I. ที่ประสบความสำเร็จและนำมาใช้งานในศิริราช ก็คือ การตรวจวินิจฉัยฟิล์มที่เกี่ยวข้องกับสมอง ซึ่ง A.I. ได้เข้ามาช่วยการทำงานของแพทย์ และเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ วินิจฉัยโรคของแพทย์ได้ หากถามว่าแล้วในอนาคต การที่ประชาชนฝากชีวิตไว้กับ A.I. จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ทางนายแพทย์ประสิทธิ์และคณะแพทย์ได้ให้คำตอบว่า ไม่มีอะไรต้องกังวล A.I. ที่ได้รับการพัฒนาโดยมีฐานข้อมูลให้อย่างเพียงพอนั้นสามารถบ่งชี้รอยโรค ช่วยในการวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด ขั้นตอนในการมาตรวจของผู้ป่วยนั้นไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไป ยังคงมารับการตรวจผ่านการเก็บภาพจากเครื่องมือแพทย์ตามปกติ ที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของแพทย์ทำงานร่วมกับ A.I.
“ลองคิดดู ฟิล์มบางฟิล์ม สายตามนุษย์ของรังสีแพทย์คนหนึ่งอาจมองไม่เห็นจุดที่เป็นรอยโรค แต่เอไอมันตรวจเจอ แล้วบ่งชี้ให้เราได้”
เรียกได้ว่าหากมีข้อมูลให้ A.I. มากพอ เทคโนโลยีนี้จะช่วยมาอุดช่องโหว่ของขีดความสามารถที่ไม่เท่ากันของมนุษย์ได้อย่างดี
สุดท้าย ทางศิริราช มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมแบ่งปันฐานข้อมูลที่มี โดยชี้ให้เห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเคสและพยาธิสภาพในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ หากทุกโรงพยาบาลมีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านี้ ยิ่งสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการยกมาตรฐานทางการรักษาให้เท่าเทียมกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่ หรืออยู่ในจังหวัดห่างไกล ผู้ป่วยสามารถมั่นใจว่าจะได้รับการตรวจรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำได้เหมือนๆ กัน
แต่อุปสรรคยังติดอยู่ที่ระบบฐานข้อมูลการรักษาของโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อมกัน และการส่งหรือแชร์ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีขนาดใหญ่ในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้สะดวกนัก (ภายใต้ระบบ 4G) จึงต้องฝากความหวังไว้ในทุกๆ ภาคส่วน รวมถึงเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 5G ที่จะช่วยให้การแชร์ข้อมูลในปริมาณมหาศาลและแสดงผลอย่างรวดเร็วแม้อยู่ในที่ห่างไกลเป็นไปได้ นับว่าก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมีประโยชน์ต่อแวดวงการแพทย์