โรคหัวใจ

เจาะลึกวิธีรับมือโรคหลอดเลือดหัวใจ

อย่างไรก็ตาม เรื่องผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจอายุน้อยนั้นในวงการแพทย์ก็มีข้อสงสัยว่าทำไมคนอายุน้อย เส้นเลือดยืดหยุ่นดี มีตุ่มบนไขมันเล็กน้อย แต่พอเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก็แทบเอาชีวิตไม่รอด ขณะที่คนสูงอายุเส้นเลือดมีตุ่มไขมันจนทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น กลับไม่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแบบรุนแรง

จึงเป็นที่มาของสมมุติฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการแพทย์โรคหัวใจว่า ตุ่มไขมันในหลอดเลือดหัวใจของคนอายุน้อยเป็นตุ่มไขมันชนิดอ่อนไหวง่าย (vulnerable plaque) พอมีความดันโลหิตสูง หรือ เกิดแรงบีบ เช่นความเครียดที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว หรือ มีสารเคมีอะไรมากัดให้ถลอก เช่น สารเคมีจากบุหรี่ ไขมัน น้ำตาล เกลือ เยื่อที่คลุมตุ่มไขมันก็จะแตกออกได้ง่าย เป็นผลให้หลอดเลือดแตกเสียหายและมีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา

คนไข้อายุน้อย

การเสียชีวิตอย่างกระทันหันจากภาวะความผิดปกติของหัวใจ

ถ้าเป็นคนที่ติดตามข่าวกีฬาหรือเป็นนักกีฬา เชื่อว่ามักจะได้ยินข่าวการเสียชีวิตของนักกีฬาอยู่เสมอทั้งนักกีฬาฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ และอเมริกันฟุตบอล

ดูเผินๆ แล้วคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าจะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจต่ำเพราะการเป็นนักกีฬาหมายความว่าเป็นผู้มีสมรรถภาพทางกายสูง มีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนทั่วๆ ไป กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ อีกทั้งออกกำลังกายเสมอ ในกรณีนักกีฬาอาชีพก็มักเป็นคนอายุน้อย ร่างกายย่อมมีความเสื่อมต่ำกว่าคนสูงอายุ แต่กลับปรากฏว่ามีเหตุเสียชีวิตกระทันหันจากความผิดปกติของหัวใจ แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

นายแพทย์ เกรียงไกร เฮงรัศมี กรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายว่า ภาวะดังกล่าวเกิดจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ส่วนต่างๆ ของร่างกายทันที สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากมีโรคหัวใจอยู่เดิมโดยที่เจ้าตัวอาจไม่ทราบหรือไม่เคยตรวจมาก่อน หลังเกิดเหตุผู้ป่วยเสียชีวิตภายในหนึ่งชั่วโมงจะเรียกว่า “Sudden Cardiac Death”

ข้อมูลจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine ระบุว่าความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจที่ทำให้นักกีฬาในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีเสียชีวิตเฉียบพลันเป็นอันดับ 1 คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าปกติ อันดับ 2 คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ อันดับ 3 โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอันดับ 4 โรคเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ

นายแพทย์เกรียงไกรอธิบายว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หมายถึงการมีผนังหัวใจที่หนา ในกรณีที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตเฉียบพลันในนักกีฬามักพบว่า คนๆ นั้นมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย ดังนั้น เมื่อผนังหัวใจหนา ช่องหัวใจก็เล็ก ในขณะที่ออกแรงมากๆ จนหัวใจต้องบีบตัวเร็วและแรง ทำให้หมดสติได้ภายในไม่กี่วินาทีและเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที

เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจึงจำเป็นต้องปฐมพยาบาลโดยแพทย์สนามหรือหน่วยกู้ภัยที่เชี่ยวชาญ พร้อมมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

นายแพทย์เกรียงไกรย้ำว่า ในวงการกีฬาต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยตรวจร่างกายนักกีฬาอย่างละเอียด เช็คประวัติครอบครัว และทำอัลตราซาวด์หัวใจเพื่อประเมินความเสี่ยงนักกีฬาแต่ละราย

แต่ในกรณีของนักกีฬาที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป สาเหตุของการเสียชีวิตเฉียบพลัน คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแข็ง โดยโรคนี้มีความเสี่ยง คือ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพศชายมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง แต่ถ้าเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว เพศหญิงจะมีโอกาสเสี่ยงเท่ากับเพศชาย สุดท้ายผู้ที่มีประวัติครอบครัวจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

5 SECRET TIPS เผยเคล็ดลับลดเสี่ยงหัวใจล้มเหลว

คุณหมอสันต์ อธิบายว่า ในกรณีของคนอายุน้อย ณ ขณะนี้ องค์ความรู้ด้านการแพทย์ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวิธีใหม่ๆ มาช่วยให้เหล่าคนหนุ่มคนสาวป้องกันหัวใจล้มเหลวได้นอกเหนือไปจากการดูแลปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ คุมน้ำหนัก ความดันโลหิต ระดับไขมันเลว ระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับไปการกินผักผลไม้ให้มากขึ้น อย่างต่ำวันละ 400 กรัม ออกกำลังกายเป็นประจำ และงดสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นแนวทางพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ทราบดี

แต่เรื่องสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ช่วยลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวได้นั้น คุณหมอสันต์ได้สรุปเป็นเคล็ด (ไม่) ลับสั้นๆ จากงานวิจัยไว้ 5 ข้อ ดังนี้

  • ใจเย็นๆ เพราะการโมโหแบบปรี๊ดแตก เพิ่มโอกาสทำให้หลอดเลือดหดเกร็งและเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวกะทันหันเพิ่มขึ้น 8.5 เท่า
  • งดกินอาหารไขมันมื้อหนักๆ เพียงมื้อเดียว ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้นานถึง 6 ชั่วโมง
  • งดการเติมเกลือ หรือ ใช้เครื่องปรุงรสเค็ม เพราะมีผลต่อระดับความดันโลหิตโดยตรง
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้ว โดยฝึกให้เคยชินว่า ต้องจิบน้ำอยู่เสมอ อย่างน้อยทุกๆ 30 นาทีเพราะเมื่อร่างกายขาดน้ำก็จะส่งผลต่อหลอดเลือดและความดันโลหิตตามไปด้วย
  • กรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เคยผ่าตัดหัวใจ และต้องกินยาโรคหัวใจต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเอง หากต้องการปรับลดยาให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

มีวิธีเดียวที่จะช่วยลดยาได้ คือ ต้องดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด คุมน้ำตาล เกลือ ไขมัน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากทำได้เช่นนี้ แพทย์จะพิจารณาจากผลการตรวจร่างกายและปรับยาให้ต่อไปได้

คุณหมอสันต์ย้ำว่า โรคนี้ไม่มียาวิเศษใดดีไปกว่าการปรับวิถีชีวิตการกินการอยู่ให้สมดุลเพราะขนาดสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) ได้ศึกษาแล้วยังพบว่า การควบคุมน้ำหนัก ความดันโลหิต ระดับไขมันเลว ระดับน้ำตาลในเลือด การกินพืชผักผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400  กรัม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเลิกบุหรี่ ช่วยลดอัตราตายก่อนวัยอันควร (ก่อนอายุ 70 ปี) ลงไปได้ถึงร้อยละ 91

สรุปว่า ไม่ตั้งตนอยู่ในความเสี่ยง ตรวจสุขภาพประจำปี และรู้วิธีสังเกตอาการ ก็ช่วยให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดหัวใจได้มากโข

8 WAYS ลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

การดูแลสุขภาพลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเอาไว้ ดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง คุมระดับความดันให้อยู่ประมาณ 130/80 หรือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • โรคเบาหวาน คุมระดับน้ำตาลในเลือด ในระยะเฉียบพลันไม่ให้เกิน 170 มิลลิกรัมต่อ เดซิลิตรและในระยะยาวต้องคุมให้ระดับอยู่ระหว่าง 110-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันในเลือด คุมระดับไขมันเลว หรือ LDL ให้ไม่เกิน 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • งดสูบบุหรี่เด็ดขาด เนื่องจากการสูบบุหรี่วันละ 1 มวนจะเพิ่มอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 1.74 เท่าในผู้ชาย และ 2.19 เท่าในผู้หญิง ส่วนคนที่สูดควันบุหรี่เข้าไปก็มีอัตราเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่
  • กินผักผลไม้ ให้ได้วันละอย่างน้อย 400 กรัม เน้นผลผลิตที่ปลูกด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ลดสารเคมีตกค้าง และควรกินตามฤดูกาลเพราะจะได้ผลผลิตที่สดใหม่ ราคาย่อมเยา
  • การออกกำลังกาย คนที่มีสุขภาพดี ควรออกกำลังกายอย่างต่ำสัปดาห์ละ 150นาที กรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหัวใจก็สามารถออกกำลังกายได้ โดยควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 – 45 นาที สามารถออกกำลังกายหรือกิจกรรมแบบใดก็ได้แล้วแต่สภาพร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ แบดมินตัน แต่ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป

ส่วนผู้ที่ยกเว้นการออกกำลังกายเลย คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เช่น โรคหัวใจล้มเหลว

  • นอนหลับพักผ่อน ต้องทำให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง และเข้านอนตามเวลา ไม่ควรนอนกลางวันตื่นกลางคืน เพราะจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ฝืนนาฬิกาชีวิต ส่งผลให้ฮอร์โมนและการทำงานของร่างกายผิดปกติ รวมถึงระบบไฟฟ้าหัวใจด้วย
  • ลดเครียด พยายามฝึกตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของตนเอง ทำได้ง่ายๆ ด้วยการฝึกรับรู้ลมหลายใจ ทำเพียงวันละ 5-10 นาทีก่อนเข้านอนและหลังตื่นนนอน นอกจากนี้ ควรหากิจกรรมที่ชอบหรืองานอดิเรกทำเป็นประจำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ลดความเครียดสะสม

ภาวะความผิดปกติของหัวใจ

ยิ่งช่วยเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสรอดชีวิต

นายแพทย์ ปริญญา คุณาวุฒิ ประธานคณะกรรมการ โครงการช่วยฟื้นคืนชีวิต โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า เมื่อพบผู้ที่มีอาการหัวใจหยุดเต้น ต้องนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือเครื่อง AED มาถึงจุดที่ปั๊มหัวใจภายใน 3-5 นาที เพราะถ้าใช้เวลามากกว่านี้ การทำ CPR โดยไม่ใช้อุปกรณ์ AED จะทำให้สมองขาดเลือดนานเกินไป

ก่อนจะใช้เครื่อง AED แม้มีอุปกรณ์พร้อมใช้งานแล้ว แต่ควรโทรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ หรือ โทรสายด่วน 1669 เพื่อบอกพิกัดขอความช่วยเหลือด้วย

คุณหมอปริญญา อธิบายขั้นตอนการช่วยชีวิตผู้ที่มีอาการหัวใจหยุดเต้น ดังนี้

  • การสังเกตอาการในเบื้องต้น หลังจากผู้ป่วยเจ็บหน้าอกแล้วจะล้มฟุบทันทีเพราะกล้ามเนื้อหัวใจหดตัวทำให้เลือดไหลเวียนออกไปเลี้ยงร่างกายไม่ได้ คลำชีพจรไม่พบ

ก่อนหน้านั้นมักมีอาการนำ เช่น ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงเหมือนกับถูกรถบรรทุกทับ หายใจเฮือกใหญ่ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชัก เกร็ง ในบางราย

  • ให้นำเครื่อง AED ออกมาและให้อ่านวิธีการใช้เครื่องที่อยู่ภายในกล่องก่อน
  • ก่อนใช้เครื่อง AED ต้องทำ CPR เป็นจังหวะ โดยกดหน้าอกผู้ป่วย 30 ครั้งและเป่าปากให้ออกซิเจน 2 ครั้ง
  • จากนั้นติดแผงนำไฟฟ้าที่หัวไหล่ขวา และใต้ราวนมซ้าย เครื่อง AED จะวัดชีพจรและวิเคราะห์ขั้นตอนช่วยเหลือออกคำสั่งผ่านลำโพง
  • ระหว่างนั้น ผู้ช่วยเหลือต้องปั๊มหัวใจและให้ออกซิเจนผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเครื่องจะออกคำสั่งให้ช็อตหัวใจด้วยไฟฟ้า

คุณหมอปริญญา อธิบายเพิ่มว่า สมองเป็นอวัยวะที่ขาดเลือดไปเลี้ยงได้สั้นที่สุด ดังนั้น เมื่อไม่มีเลือดไหลเวียนไปที่สมองจึงทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การใช้เครื่อง AED จึงเป็นวิธีการรักษาที่ดีสุดโดยใช้ไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ

แต่ถ้าถ้าไม่มีเครื่อง AED ก็จะต้องทำ CPR เพื่อพยุงเวลาในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด เพื่อให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกายและติดต่อรถพยาบาลให้เร็วที่สุด ถ้าไปถึงโรงพยาบาลล่าช้า สมองจะตาย หรือ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาได้

กินอาหารเน้นพืช ลดเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

หมอสันต์ มีแนวทางการกินอาหารพืช (plant-based whole food, PBWF) เป็นอาวุธหลักในการสู้รบปรบมือกับโรคนี้ โดยให้หลักปฏิบัติไว้ 5 ขั้นตอน ดังนี้

  • กินอาหารพืชเช่นผัก ผลไม้ ถั่ว นัท ให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารอย่างอื่นเช่นเนื้อสัตว์ นม ไข่ จะกินไม่ได้เลยเด็ดขาด เพียงแต่ว่าให้เพิ่มส่วนที่เป็นพืชให้ได้มากขึ้น มากขึ้น ยิ่งมากยิ่งดี บางคนก็อยากกินเนื้อสัตว์เป็นกระสาย บางคนก็อยากกินเครื่องปรุงรสที่ทำจากสัตว์เช่นน้ำปลา ซึ่งก็ทำได้ทั้งนั้น
  • วิธีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับความเชื่อใดๆ แนวคิดนี้เป็นการกินอาหารเพื่อให้สุขภาพดี ไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาหรือคุณธรรมจริยธรรม
  • กินพืชก็ได้โปรตีนเพียงพอ โดยมีเคล็ดลับ คือ เน้นกินอาหารพืชที่หลากหลาย แค่อาหารพื้นๆ ตัวอย่างเช่น ธัญพืชไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้องข้าวโอ้ตก็มีโปรตีนมากพอควรแล้ว ยิ่งอาหารพืชที่เป็นอาหารอุดมโปรตีน เช่น ถั่วต่างๆ งาๆ นัท เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เทมเป้ เมล็ดพืช ยิ่งทำให้ได้โปรตีนที่มากเกินพอ สำหรับคนที่ยังบ้าโปรตีนไม่เลิกจะใช้โปรตีนผงที่ทำจากพืชก็มีให้เลือกได้เช่นกัน
  • เลือกกินอาหารสด งดปรุงแต่ง โดยอาหารพืชที่มีคุณค่านั้นหมายถึงอาหารพืชในรูปแบบใกล้เคียงธรรมชาติ (whole food) ที่ไม่สกัดหรือขัดสีจนเหลือแต่ส่วนที่ให้แคลอรี่ ขณะที่วิตามินแร่ธาตุและกากถูกขัดหรือหีบออกทิ้งไปเกือบหมด

ดังนั้น การกินข้าวกล้องก็ย่อมดีต่อสุขภาพมากกว่าข้าวขัดขาว กินถั่วเหลืองจริงๆ ที่มีเมล็ดถั่วเหลืองทั้งเมล็ด เช่น เทมเป้ ก็ดีต่อสุขภาพเช่นกัน แต่ถ้ากินน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมีแต่แคลอรี่อาจเป็นผลเสียต่อสุขภาพก็ได้

  • ผลพลอยได้ อิ่มนาน หุ่นดี ขับถ่ายดี มีงานวิจัยเปรียบเทียบการกินอาหารแบบพืชเป็นหลักเปรียบเทียบกับอาหารอเมริกันปกติ พบว่าอาหารพืชเป็นหลักอิ่มนานและสบายท้องกว่า เพราะการมีกากใยสูงและน้ำตาลในรูปแบบโมเลกุลเดี่ยวพร้อมใช้ต่ำทำให้อิ่มได้นาน ช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคเบาหวานและช่วยคุมน้ำหนักได้อีกด้วย

>>อ่านต่อหน้าถัดไป<< 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.