ห้องน้ำสาธารณะ ใช้อย่างไร ให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด19
หลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้เราทุกคนล้วนต้องใช้ชีวิตแบบ “New Normal” หรือเรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ ที่ต้องปรับเปลี่ยนชุดพฤติกรรม รูปแบบวิถีชีวิตไปพร้อมกันทั่วโลก โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่เราต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ เนื่องจากนับว่าเป็นจุดเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 และโรคอื่นๆ ได้ วันนี้ชีวจิตมีวิธีใช้ ห้องน้ำสาธารณะ ให้ปลอดภัย ลดเสี่ยงโควิด19 มาฝากกัน
เชื้อโควิด 19 อยู่ในอุจจาระ!
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า โควิด-19 เป็นเชื้อโรคอีกชนิดที่ตรวจพบในอุจจาระ และกระจายได้ตามจุดต่าง ๆ ของห้องน้ำผ่านการกดชำระล้าง และปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัส และแม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่ำที่จะติดเชื้อ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีเมื่อจำเป็นต้องใช้งานห้องน้ำสาธารณะ
มีข้อมูลวิจัยจากวารสารบริติช เมดิคัล (British Medical) ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ประเทศจีน ตรวจประเมินเชื้อไวรัสโควิด-19 ในตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจ อุจจาระ น้ำเหลือง และปัสสาวะของผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 96 ราย ที่มีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 22 ราย และผู้ป่วยอาการรุนแรง 74 ราย ระบุว่าตรวจพบไวรัสโควิด-19 ในอุจจาระถึง 55 ราย ในน้ำเหลือง 39 ราย และในปัสสาวะเพียง 1 รายเท่านั้น โดยค่ากลางของระยะเวลาเฉลี่ยที่ไวรัสนี้อยู่ในอุจจาระคือ 22 วัน ซึ่งนานกว่าค่ากลางของระยะเวลาเดียวกันในเนื้อเยื่อระบบทางเดินหายใจ คือ 18 วัน และในน้ำเหลือง 16 วัน
วิธีป้องกันตัวเอง เมื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะในยุคโควิด 19
1. เราต้องใส่หน้ากาก ปิดปาก จมูก ให้ดีและตลอดเวลาการใช้ห้องน้ำ
2. ล้างมือก่อนเข้าห้องน้ำ และหลังห้องน้ำ เพราะเราต้องจับลูกบิดประตู อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ
3. ลดการสัมผัสพื้นผิว อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ลูกบิด ฝาชักโครก ฝารองนั่ง ที่กดชักโครก
4. ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ ป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคในโถส้วม
5. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดมือ ให้ใช้ทิชชูแทน
6. หลีกเหลี่ยงการใช้เครื่องเป่าลมร้อน อ้างอิงข้อมูลจากวารสาร Journal of Applied Microbiology ที่ระบุว่า ปัจจัยอื่นในห้องน้ำที่ทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็คือ เครื่องเป่าลมร้อนสำหรับมือที่สามารถกระจายเชื้อไวรัสไปได้ไกลถึง 3 เมตร ตามข้อมูลของการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 2015
เช็ก 8 จุดเสี่ยงในห้องน้ำ
– ลูกบิดประตู
– จุดกดชักโครก หรือที่กดโถปัสสาวะ
– สายฉีดชำนะ
– ที่รองนั่งโถชักโครก
– ก๊อกน้ำ
– พื้นห้องน้ำ
– ผ้าขนหนูเช็ดมือที่ใช้ร่วมกัน
– อ่างน้ำ
นอกจากผู้ใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ บุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการในห้องน้ำสาธารณะ ก็ต้องมีการควบคุมป้องกันให้ดี โดยพญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ควรทำความสะอาดจุดที่มีการสัมผัสร่วมบ่อย ๆ ทุก 2 ชั่วโมง ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น พื้นห้องน้ำ ที่กดชักโครกหรือโถปัสสาวะ สายฉีดชำระ กลอนหรือลูกบิดประตู ฝารองนั่ง ฝาปิดชักโครก ก๊อกน้ำ และอ่างล้างมือ ไปจนถึงขณะปฏิบัติงานผู้ทำความสะอาดต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง สวมถุงมือยางและผ้ายางกันเปื้อน สวมรองเท้าพื้นยางหุ้มแข้ง หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าโดยไม่จำเป็น และหลังจากปฏิบัติงานเสร็จต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทันที
อาการเมื่อติดโควิด19
- มีไข้ มีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป
- มีอาการทางเดินหายใจข้อใดข้อหนึ่ง หรือมากกว่านั้น ได้แก่ เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก หอบเหนื่อย หรือมีอาการปอดอักเสบ
- ร่างกายอ่อนเพลีย
- ปวดเหมื่อยกล้ามเนื้อ
- ท้องเสีย
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส
หากมีอาการข้างต้น ต้องรีบเข้ารับการตรวจสอบโรคอย่างละเอียด ให้ข้อมูลที่แน่ชัดโดยไม่บิดเบือน เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันถ่วงที แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้ห้องน้ำสาธารณะยังสามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ สิ่งสำคัญมากๆ ที่อยากจะฝากทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการใช้ห้องน้ำ หมั่นล้างมือด้วยสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เจลความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% โดยปล่อยให้แห้งเอง ห้ามเช็ดออก และเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร
ที่มาข้อมูลเพิ่มเติม
กรมอนามัย
กรมควบคุมโรค
xinhuathai
-– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
Social Distancing ต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อปลอดภัยจาก COVID-19
8 วิธีดูแลตัวเอง ครอบครัว ป้องกันโควิด-19 เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน
HOW TO ขึ้นรถสาธารณะ ให้ปลอดภัย ห่างไกล โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
Happy Hypoxia อาการแปลก ในผู้ป่วยโควิด 19 เหนื่อยปุ๊บ เสียชีวิตฉับพลัน
ติดโควิด-19 แล้วหรือยัง??