5 ตำแหน่ง นวดกดจุดป้องกันตาเสื่อม ช่วยการมองเห็น
นวดกดจุดป้องกันตาเสื่อม
ปัจจุบันมีการนำศาสตร์ด้านการนวดมาใช้ เพื่อป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนวดเพื่อรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งมีผลงานวิจัยมากมายที่ระบุว่ามีประสิทธิภาพและทำให้อาการปวดหลังดีขึ้นอย่างชัดเจน และเรายังใช้การนวดเพื่อรักษาอาการผิดปกติในตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น แก้โรคหัวไหล่ติด แก้โรคไมเกรน นวดนักกีฬา
แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานการวิจัยที่ระบุถึงประโยชน์ของการนวดต่อโรคต่าง ๆ อย่างชัดเจน
แต่แพทย์แผนไทยเชื่อว่า การนวดนั้นสามารถบำบัดและป้องกันโรคได้จริง ๆ เพราะมีความเชื่อมโยงกันกับการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบเลือด ระบบประสาท และการเคลื่อนไหว ซึ่งสามารถอธิบายได้ตามหลักการรักษาแผนตะวันออก
วันนี้ผมขอแนะนำ การนวดกดจุดกระตุ้นการมองเห็น เพื่อป้องกันปัญหาสายตาเสื่อมก่อนวัยอันควร เช่น สายตายาว ซึ่งอาศัยหลักการกดนวดกล้ามเนื้อระดับลึก เพื่อกระตุ้นตัวรับหรือรีเซ็ปเตอร์ในกล้ามเนื้อ ให้ส่งกระแสประสาทไปยังบริเวณต่าง ๆ ตามจุดที่เราต้องการ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาที่หดเกร็ง และตึงตัวคลายตัวได้ จึงส่งผลให้เลือดนำพาสารอาหารไปหล่อเลี้ยงดวงตาได้ดียิ่งขึ้น
สอดคล้องกับทฤษฎีแพทย์แผนไทยที่เชื่อว่า การนวดหรือกดจุดนั้น เป็นการขับเคลื่อนธาตุน้ำ (เลือด) ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ มากมายให้ไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ และพื้นที่ต่าง ๆ ของสมอง และกล้ามเนื้อดวงตา (ธาตุดิน) โดยอาศัยการทำงานของธาตุลม และธาตุไฟเป็นตัวขับเคลื่อน
ตำแหน่งนวดกดจุดมีดังต่อไปนี้
ตำแหน่งที่ 1 การนวดและกดจุดบริเวณกล้ามเนื้อบ่าทั้งสองข้าง เพื่อให้กล้ามเนื้อ Trapezius คลายตัวลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงศีรษะ และดวงตาได้ดียิ่งขึ้น เปรียบเสมือนการเคลียร์พื้นที่ เพื่อให้ส่งเสบียงอาหารได้ง่ายขึ้น
วิธีนวด ใช้ปลายนิ้วมือทั้งสี่ กดคลึงบริเวณกล้ามเนื้อบ่าทั้งสองข้าง เริ่มจากกระดุมหัวไหล่ไปจนถึงตำแหน่งโค้งคอ (จุดตั้งฉากระหว่างบ่ากับคอ) นวดเข้าและออก สลับข้าง ข้างละ 3 รอบ
ตำแหน่งที่ 2 การนวดและกดจุดบริเวณกล้ามเนื้อคอหรือกล้ามเนื้อ Trapezius ให้คลายตัวลง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนเลือด ซึ่งจะนำพาสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงศีรษะได้ง่ายขึ้น แถมยังลดอาการปวดศีรษะได้ดีอีกด้วย
วิธีนวด ใช้ปลายนิ้วมือทั้งสี่กดและคลึงบริเวณกล้ามเนื้อคอ เริ่มจากตำแหน่งโค้งคอ (จุดตั้งฉากระหว่างบ่ากับคอ) ไปจนถึงบริเวณฐานกะโหลก หรือกระดูกคอตำแหน่ง C7 โดยต้องนวดในทิศทางขึ้นอย่างเดียว ห้ามนวดลง ทำ 3 รอบ
ตำแหน่งที่ 3 การนวดและกดจุดบริเวณหัวคิ้วทั้งสองข้างหรือกล้ามเนื้อ Corrugator เพื่อให้กล้ามเนื้อใบหน้าหดเกร็งน้อยลง คลายตัวมากขึ้น กระตุ้นให้เลือดและลมไปเลี้ยงบริเวณดวงตามากยิ่งขึ้น
วิธีนวด วางนิ้วหัวแม่มือไว้บนคิ้วทั้งสองข้าง กดและดันขึ้นเบา ๆ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
ตำแหน่งที่ 4 การนวดและกดจุดบริเวณหางตาทั้งสองข้าง หรือกดกล้ามเนื้อตา Orbicularis Oculi เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาคลายตัวมากขึ้น และกระตุ้นให้เลือดและลมไปเลี้ยงบริเวณดวงตามากขึ้น
วิธีนวด วางนิ้วชี้ไว้บนหางตาทั้งสองข้าง กดและดันขึ้นเบา ๆ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
ตำแหน่งที่ 5 การนวดและกดจุดบริเวณหัวตาทั้งสองข้าง หรือกดกล้ามเนื้อตา Orbicularis Oculi เพื่อให้กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาคลายตัวมากขึ้น และกระตุ้นให้เลือดและลมไปเลี้ยงบริเวณดวงตามากขึ้น
วิธีนวด วางนิ้วชี้ไว้บนหัวตาทั้งสองข้าง กดและดันขึ้นเบา ๆ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 วินาที
สำหรับการนวดกดจุดทั้ง 5 ตำแหน่งนี้ ถ้าเราสังเกตจะพบว่า เป็นตำแหน่งกดจุดที่ปลอดภัยและไม่ใช่การกดลงบนดวงตาโดยตรง ซึ่งมีอันตราย และการเริ่มนวดตั้งแต่บริเวณบ่าและคอนั้น จะช่วยลดอาการปวดบ่าปวดคอได้อีกด้วย
ซึ่งเราสามารถทำได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลังจากตื่นนอนทุกวัน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสายตาในอนาคต หรือเมื่อรู้สึกว่ากล้ามเนื้อตาล้า ปวดตา ตาพร่า ก็สามารถใช้วิธีนวดกดจุดดังกล่าวนี้ได้เช่นกัน
หรือถ้าใครมีเวลาอีกสักนิด การประคบดวงตาด้วยความร้อนสลับกับความเย็น ก็สามารถช่วยลดอาการปวดตา อาการตาแดงจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ รวมถึงอาการคันตาได้เช่นกันนะครับ
เรื่อง พท.ป.ชารีฟ หลีอรัญ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ
ชีวจิต 458 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560
– – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – – –
บทความน่าสนใจอื่นๆ
แพทย์ชี้ ใครบ้าง ที่เสี่ยง ” ตาเสื่อม ” เร็วกว่าคนอื่น
Spicy Kale Salmon รสแซ่บ! เมนูบำรุงสายตาป้องกันจอตาเสื่อม – A Cuisine