3 โรคหายเองได้ ไม่ต้องกินยา ยาปฏิชีวนะ
แม้ว่า ยาปฏิชีวนะ จะช่วยรักษาโรคได้ แต่ยาปฏิชีวนะก็เป็นยาที่ต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ เพราะอาจส่งผลร้ายต่อร่างกายได้ หลายคนเข้าใจว่าเมื่อมีอาการป่วยก็ต้องกินยา โดยเฉพาะกินยาปฏิชีวนะจะช่วยลด อาการป่วย ได้ แต่รู้หรือไม่ว่าทำแบบนั้นไม่ถูกแถมยังเป็นการทำลายสุขภาพอีกด้วย
รู้จัก ยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่า และ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส รวมถึงต่อโรคภูมิแพ้ ดังนั้นแล้ว การกินยาปฏิชีวนะ จึงไม่สามารถรักษา หรือบรรเทาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อได้ทุกชนิด และหากกินบ่อยๆ ก็มีข้อเสียตามมามากมาย
ข้อเสียของการรับประทานยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น
- สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ
- เสี่ยงต่อการแพ้ยา
- อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้
- อาจเสี่ยงดื้อยา และทำให้ต้องใช้ยาที่แพงขึ้น ออกฤทธิ์แรงขึ้น อันตรายมากขึ้น
รู้แบบนี้แล้ว ใครที่เอะอะ ก็หายาปฏิชีวนะ ไม่ว่าจะเป็นหวัด ท้องเสีย เพราะเข้าใจว่าจะช่วยรักษาโรคได้ ต้องเปลี่ยนความคิดแล้วนะคะ เพราะนอกจากจะไม่หายแล้ว ยังสร้างปัญหาให้เชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ผู้เชี่ยวชาญให้ความสนใจ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงออกมาย้ำไม่ให้ประชาชนกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อพร้อมระบุ 3 อาการที่หายได้เองโดยไม่ต้องกินยา ดังนี้
3 อาการ ไม่ต้องกินยา ก็หายได้
หวัดเจ็บคอ
มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัส โดยทั่วไปจะมีอาการนาน 7 – 10 วัน แต่จะมีอาการหนักที่สุดในวันที่ 3 – 4 ในระหว่างนี้ ควรดื่มน้ำอุ่นและพักผ่อนให้เพียงพอ หลังจากนั้นอาการจะทุเลาลงตามลำดับ
อาการเจ็บคอและคอแดง เป็นอาการที่พบได้บ่อยเมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน ขณะเจ็บคอย่อมมีการอักเสบขึ้นในบริเวณลำคอ เนื่องจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อ การติดเชื้อที่คอร้อยละ 85 ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด ไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโรคมือ เท้า ปาก เป็นต้น ซึ่งยาปฏิชีวนะไม่มีผลต่อเชื้อไวรัส ดังนั้นการเจ็บคอมากกว่า 8 ใน 10 ครั้งจึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส จึงไม่ทำให้โรคหายเร็วขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นเราจึงควรสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคมไทยด้วยการเลิกเรียกยาปฏิชีวนะว่ายาแก้อักเสบ เพื่อขจัดความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีคออักเสบ ต้องกินยาแก้อักเสบ ทั้งที่คออักเสบส่วนใหญ่หายได้เองด้วยภูมิต้านทานโรคของร่างกาย โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
แต่หากมีอาการเจ็บคอ มีหนองที่ต่อมทอนซิลต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต หรืออาการแย่ลง ควรพบแพทย์
ท้องเสีย
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสหรืออาหารเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยการรักษาที่ถูกต้องคือ การดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป สำหรับอาหาร ควรกินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือ ข้าวต้ม งดอาหารรสจัด หรือ อาหารย่อยยาก หลีกเลี่ยงการทานนมทุกชนิด และหากท้องเสียไม่ติดเชื้อแบคทีเรียอาจใช้ผงถ่านคาร์บอน (Activated charcoal) ดูดซับสารพิษ และก๊าส ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง ถ้าท้องเสียร่วมกับมีไข้สูง และถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร
แต่หากมีไข้และอุจจาระมีมูกปนเลือด ต้องรีบพบแพทย์
แผลเลือดออก
สำหรับผู้ป่วยที่มีแผลเลือดออก เช่น แผลมีดบาด แผลถลอก ควรล้างทำความสะอาดให้ถูกต้อง ถ้าแผลไม่สัมผัสสิ่งสกปรก และผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรงดี เช่นไม่เป็นเบาหวาน ก็ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยจะต้องไม่ให้แผลโดนน้ำ รักษาบริเวณแผลให้สะอาด ไปทำแผลตามนัด หรือทำแผลเองอย่างถูกวิธี ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ไม่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น การรักษาความสะอาดของแผลให้ดีก็เพียงพอที่จะทำให้แผลหายได้ แต่ถ้าแผลบวมอักเสบ ต้องรีบไปหาหมอทันที
ทั้ง 3 โรคที่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้บ่อย จึงไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้นแต่อย่างใด เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแล้วยังเป็นการสิ้นเปลืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อยาด้วย ดังนั้น ก่อนใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าโรคที่เป็นนั้นจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือไม่
ใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้อง
จะเห็นได้ว่า การใช้ยาปฏิชีวนะหากใช้ผิดวิธี จะทำให้เกิดข้อเสีย ดังนั้นแล้ว เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าจะทำยังไงให้ใช้ถูกวิธี
1. ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น โรคที่ไม่ควรต้องกิน ก็อย่าฝืนกิน ทั้งนี้ ก็มียังอาการไข้บางอย่างที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (กินยาปฏิชีวนะได้) ซึ่งจะมีอาการร่วมอื่นๆ คือ
- ระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับอาการท้องเดิน
- ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับอาการเจ็บคอ ผนังคอแดง มีจุดหนอง
- ระบบผิวหนัง ได้แก่ อาการไข้ร่วมกับผิวหนังอักเสบเป็นหนอง บวมแดง
2. ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง หากหยุดยาเอง จะทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัว และกลายเป็นเชื้อดื้อยาได้
3. ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงหรือกว้างเกินไป เพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ซึ่งหากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาเริ่มแรกทันที เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นจะทำให้ไม่มียาขนานต่อไปเพื่อใช้ในการรักษา
การแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินจำเป็นต้องดำเนินการในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ร้านยา และภาคประชาชน จึงจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน
ข้อมูลประกอบจาก
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
บทความอื่นที่น่าสนใจ
ต้องอ่าน! ยาแก้ปวดไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรถึงจะปลอดภัย
มะขามป้อม ผลไม้เป็นยา บำรุงร่างกายทุกส่วน
10 สูตรยาและอาหารจีน แก้โรคระบบทางเดินอาหาร