ออกซิเจน ซีพีอาร์

ออกซิเจน VS ซีพีอาร์ จำเป็นต่อผู้ป่วยหัวใจวายแค่ไหน ?

ไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ว่าระหว่าง ออกซิเจน VS ซีพีอาร์ สิ่งไหนสำคัญหรือมีความจำเป็นต่อผู้ป่วยมากกว่ากัน กันแน่

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์

วันนี้เราจะมาขอคำตอบ เรื่อง ออกซิเจน VS ซีพีอาร์ จำเป็นต่อผู้ป่วยหัวใจวายแค่ไหน ? กับนายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต กรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก ที่ปรึกษาอนุกรรมการช่วยชีวิตของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

Q : คุณพ่ออายุ 64 เป็นโรคหัวใจ เข้าโรงพยาบาลกลางดึก หมอบอกว่าเป็นหัวใจวาย (Heart Attack) ต้องทำบอลลูนสามเส้นฉุกเฉิน ตอนนี้กลับมาอยู่บ้านแล้ว แต่ยังมีอาการเจ็บหน้าอกอยู่บ้าง ให้ย้ายมานอนชั้นล่าง พยายามเตรียมความพร้อมที่บ้าน ตัวเองฝึกทำ CPR ตามที่คุณหมอสันต์สอนในยูทูบ จนมั่นใจแล้วว่าทำได้ หนูคิดว่าจะไปหาซื้อออกซิเจนมาใช้เวลาฉุกเฉินขณะนำส่งโรงพยาบาล จะได้มีออกซิเจนให้ท่านได้ นอกจากนี้แล้วหนูควรจะเตรียมอะไรอีกไหมคะ

A : พูดถึงออกซิเจน คนทั่วไปมองว่าออกซิเจนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางการแพทย์ ชนิดที่ถ้าไม่มีก็จะถือเอาเป็นเหตุฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากแพทย์หรือโรงพยาบาลได้

สมัยก่อนผมทำงานให้ฝรั่ง มีเพื่อนคนหนึ่งชื่อริชาร์ดเป็นหมอและเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ก่อนมามีอาชีพหมอ ริชาร์ดมีอาชีพเป็นสัปเหร่อหากินอยู่แถวเมืองดัลลัส เขาเล่าว่าตอนนั้นประมาณปี ค.ศ. 1964 ซึ่งเป็นยุคที่สำนักงานสัปเหร่อ (Funeral House) ยังประกอบธุรกิจรถฉุกเฉินส่งผู้ป่วยหนักอยู่ แต่ก็กำลังเสียพื้นที่ให้ระบบรถฉุกเฉินของเทศบาลซึ่งออกรถมาทำธุรกิจเดียวกัน ทำให้ธุรกิจนี้สาละวันเตี้ยลง ๆ

ริชาร์ดเล่าว่า ณ จุดก่อนจะเจ๊งไม่มีเงินซื้อแม้แต่ออกซิเจนที่ใช้นำส่งคนไข้ เวลานำส่งผู้ป่วยหนักต้องเอาหน้ากากออกซิเจนทำทีครอบจมูกผู้ป่วยไว้ ตั้งถังออกซิเจนต่อสาย แล้วให้พนักงานคนหนึ่งนั่งเฝ้าผู้ป่วยอยู่ข้างหลัง ชวนญาติผู้ป่วยมานั่งข้างหน้าข้างคนขับ ให้พนักงานที่นั่งข้างหลังทำเสียงซื่อ…อ…อ ทำทีเป็นว่ามีออกซิเจนไหลอยู่พอให้ญาติได้ยิน เพราะที่จริงแล้วมีแต่ถังเปล่า

จะไม่หลอกว่ามีออกซิเจนก็ไม่ได้ เพราะญาติผู้ป่วยถือว่าออกซิเจนสำคัญเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย ความเชื่อเช่นนี้มีมาตั้งแต่ตอนโน้นจนถึงปัจจุบัน ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วออกซิเจนไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับการที่ผู้ป่วยหนักโรคหัวใจจะรอดหรือไม่รอดเลย เว้นเสียแต่จะเป็นผู้ป่วยที่ขาดออกซิเจนเป็นทุน เช่น เป็นโรคทางเดินลมหายใจอุดกั้นอยู่ก่อนเท่านั้น

ไม่นานมานี้มีการทำวิจัยขนาดใหญ่งานหนึ่งที่สวีเดน ตีพิมพ์ไว้ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ งานวิจัยนี้ทำกับผู้ป่วยที่หัวใจวาย (Heart Attack) ที่เข้ามารักษาในระบบโรงพยาบาล 35 แห่งที่สวีเดน จำนวน 6,243 คน นับตั้งแต่เคลื่อนย้ายจากบ้าน มาเลย โดยวัดออกซิเจนที่ปลายเล็บ แล้วเลือกคนที่ได้ออกซิเจนปลายเล็บ (O2 Sat) สูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งก็คือคนไข้เกือบทั้งหมด) มาจับฉลากแบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ใช้ออกซิเจนผ่านหน้ากากครอบปากและจมูกตลอดแบบมาตรฐานทุกวันนี้

กลุ่มที่สองไม่ให้ออกซิเจนเลย ไม่ว่าจะอาการหนักหรือพะงาบหรือหัวใจหยุดเต้นก็ไม่ให้ออกซิเจน แล้วดูผลว่ากลุ่มไหนจะเสียชีวิตมากกว่ากัน ปรากฏว่าตายเท่ากัน แม้แต่ผลเลือด เช่น ความเป็นกรดด่างของเลือดก็ไม่ต่างกัน และเมื่อตามดูไปนานหนึ่งปี ผลต่าง ๆ ก็ยังไม่ต่างกันอยู่นั่นเอง จึงสรุปจากงานวิจัยนี้ได้ว่าสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดที่ไม่มีโรคอื่นที่ทำให้ขาดออกซิเจนอยู่ก่อนแล้วออกซิเจนเป็นเพียงประเพณีนิยมในการรักษาเท่านั้น หามีประโยชน์อะไรมากไปกว่าการอยู่เปล่า ๆ ไม่

ถามว่าการเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินทางด้านหัวใจมีอะไรบ้าง ตอบว่า นอกจากการให้คนใกล้ชิดไปเรียนซีพีอาร์ (CPR) อย่างที่คุณทำไปแล้ว สิ่งที่ควรทำนอกจากนั้นคือ

  1. แผนปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกระดาษครึ่งแผ่นห้อยฝาบ้านไว้ในนั้นเขียนสั้น ๆ
    1.1 เบอร์โทรศัพท์หมอประจำตัว
    1.2 เบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาล
    1.3 จะใช้รถของใคร ถ้าให้รถโรงพยาบาลมารับ เขารู้เส้นทางหรือไม่ เขามีระบบแผนที่นำทางที่ลงบ้านเราไว้ในแผนที่เขาหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ประสานงานกับโรงพยาบาลเสียก่อน ถ้าจะเอารถจากบ้านไปส่ง จะใช้รถคันไหน ใครเป็นคนขับ คนขับรู้เส้นทางหรือยัง
    1.4 รายการยาที่ท่านกินอยู่ประจำ เขียนไว้หน้าแรกให้ชัดให้หมออ่านเห็นง่าย ๆ
  2. การใช้ชีวิตที่บ้านให้
    2.1 ออกกำลังกายจนถึงระดับเหนื่อยแฮก ๆ ทุกวัน ไม่ต้องย้ายมานอนชั้นล่าง ให้เดินขึ้นบันไดไป นอนชั้นบนนั่นแหละเพียงแต่ขึ้นลงช้า ๆ หยุดกลางบันไดถ้าจำเป็น
    2.2 กินอาหารที่มีพืชเป็นหลักและไขมันต่ำ
    2.3 จัดการความเครียดให้ดี
    2.4 ถ้ายังทำงานให้กลับไปทำงานตามปกติ ถ้าเกษียณแล้วให้ออกไปสมาคมนอกบ้านบ้าง อย่าปล่อยให้ซึมเศร้าอยู่ในบ้านคนเดียว
  3. เฉพาะกรณีที่เงินเหลือใช้และลูกหลานมีความพร้อมในการใช้งาน อาจซื้อเครื่องช็อกหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator – AED) มาห้อยฝาบ้านเหมือนห้อยเครื่องดับเพลิงไว้ และซ้อมการใช้งานปีละครั้งสองครั้ง การได้ช็อกไฟฟ้าเร็ว เป็นปัจจัยแรกสุดที่จะทำให้ผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลันมีอัตรารอดชีวิตสูงสุด เครื่องนี้ราคาเครื่องละหลายหมื่นอยู่ แต่ราคาเครื่องยังไม่สำคัญเท่ามีคนที่พร้อมจะใช้เครื่องนี้หรือเปล่า

“ส่วนออกซิเจนนั้นผมไม่นับเป็นสิ่งจำเป็น คุณซื้อมาแล้ว จะเก็บไว้ใช้ตามประเพณีนิยมก็ได้ครับ”

เรื่อง นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 485 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 21 16 ธันวาคม 2561

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สัญญาณมรณะเตือนภัย หัวใจวายเฉียบพลัน ตายไม่รู้ตัว  
” หัวใจวายขณะวิ่ง ” ถึงแข็งแรงก็ตายได้ เช็กความเสี่ยงกันเถอะ
หัวใจวาย เฉียบพลัน รู้เท่าทันก่อนชีพวาย 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.