จะเกิดความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าร่างกาย ขาดแคลเซียม

จะเกิดความเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้าร่างกาย ขาดแคลเซียม

ตั้งแต่เด็กจนโต เราต่างถูกพร่ำบอกเรื่องวิถีการกิน ว่าต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โตมาหน่อยเมื่อเริ่มใส่ใจกับรูปร่างและสุขภาพ หลายคนทุ่มเทให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการมากขึ้น ทั้งปริมาณแคลอรี่ โซเดียม หรือโคเลสเตอรอล เพื่อมุ่งสู่ปลายทางร่างกายที่ควบทั้งความเฮลตี้และดูดีไปพร้อมกัน แล้วถ้าเรา ขาดแคลเซียม ล่ะ

แคลเซียมกับร่างกาย

ในบรรดาสารอาหารและแหล่งโภชนาการต่างๆ ที่เราไขว่คว้านั้น ยังมีแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกายแบบสุดๆ บทบาทของมันคือการสร้างมวลกระดูก และชะลอการผุกร่อน ไปพร้อมๆ กับเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างร่างกายในตัว หรือก็คือร่างกายคนเราไม่ว่าจะวัยไหน ล้วนแต่ต้องการแร่ธาตุอย่าง แคลเซียม (Calcium) ด้วยกันทั้งนั้น

แน่ล่ะ เราต่างรู้ว่าแคลเซียมคือแร่ธาตุสุดสำคัญที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง แต่ด้วยความที่เรามองไม่เห็นกระดูกในร่างกายได้ (ถ้าไม่นับที่ฟัน) จึงทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยละเลยการเสริมแคลเซียมให้กับร่างกาย พอรู้ตัวอีกที มวลกระดูกที่แข็งโป๊กมาตลอด กลับส่งสัญญาณร้องบอกให้เห็นอาการที่น่าเป็นห่วงเข้าเสียแล้ว

กระดูกพรุน, เเคลเซียมเสริม ขาดแคลเซียม

เมื่อขาดแล้วจะเป็นอย่างไร

เมื่อคนเราขาดแคลเซียม ร่างกายจะส่งเสียงผ่านสารพัดอาการ ทั้งความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ ผิวแห้ง เล็บเปราะ หรือที่ร้ายแรงกว่านั้น คือโรคเกี่ยวกับกระดูกจะถาโถมมาแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดตามข้อ กระดูกอ่อนอักเสบ หรือกระทั่ง “โรคกระดูกพรุน” ซึ่งทางสถิติบ่งชี้ว่า เมื่ออายุแตะเลข 30 ปี มวลกระดูกจะเริ่มสูญสลายไป และจะมีผู้หญิงไทยร้อยละ 50 รวมถึงผู้ชายอายุมากกว่า 65 ปี ร้อยละ 20 ที่มีอาการของโรคกระดูกพรุน

ความน่ากลัวของโรคกระดูกพรุนและอาการขาดแคลเซียม คืออันตรายที่เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง เพราะปกติแล้วในช่วงอายุระหว่าง 30-35 ปี ร่างกายจะมีทั้งขั้นตอนของการ “สร้างและสลายกระดูก” ที่สมดุลกัน แต่เมื่อวันเวลาล่วงเลยจนเข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปี ขั้นตอนการสลายกระดูกจะเริ่มมีมากกว่าการสร้างอย่างชัดเจน หรือพูดได้ว่า “ครึ่งชีวิตของเรา ล้วนอยู่กับขั้นตอนการสลายกระดูกตลอดเวลา”

ขั้นตอนต่อมาเมื่อกระดูกสลายไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มรับรู้ถึงสภาพโครงสร้างแสนจะเปราะบางในตัว เพียงการกระแทกเบาๆ หรือการไอ-จาม จนเกิดบิดเอี้ยวตัวกะทันหัน ก็มากพอที่จะทำให้กระดูกแตกหักได้แล้ว และยังมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการแตกหักครั้งที่ 2 หรือ 3 ตามมา สิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถชะลออาการธรรมชาตินี้ได้ จึงมีเพียงการเสริมแคลเซียมให้กระดูกเท่านั้น

น้ำถั่วเหลือง, ถั่วเหลือง, อาหารที่มีวิตามินดี, บำรุงกระดูก, กินเจ ขาดแคลเซียม

หาแคลเซียมจากไหนได้บ้าง

แล้วเราจะไปหาแคลเซียมมาจากไหนล่ะ? จริงๆ แล้วแร่ธาตุแคลเซียมเป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด อย่างแรกที่หลายคนนึกออกคงจะเป็น “นมและผลิตภัณฑ์จากนม” ซึ่งมีปริมาณแคลเซียมที่สูงและยังหาได้ง่าย แต่หากใครไม่สะดวกดื่มนม ก็อาจเลือกแก้ไขได้ด้วยอาหารชนิดอื่น อย่าง พวกปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว หรือธัญพืชบางชนิด เช่น งาดำ เป็นต้น

ถ้าอย่างนั้น ในเมื่อแหล่งแคลเซียมอยู่ใกล้ตัวขนาดนี้ แล้วทำไมเราจึงต้องกังวลว่าร่างกายจะขาดแคลเซียมอีก คำตอบคือ ในอาหาร 3 มื้อ ที่เราทานไปแต่ละวันนั้น เฉลี่ยแล้วเท่ากับเราได้รับแคลเซียมเพียงวันละ 361 มิลลิกรัมเท่านั้น เทียบกับปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน คือ วัยเด็ก ต้องการแคลเซียมประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน , วัยรุ่น ต้องการแคลเซียมประมาณ 1,300 มิลลิกรัม/วัน และวัยผู้ใหญ่ ต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000-1,200 มิลลิกรัม/วัน หรือคิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตของคนเรา “ต้องการปริมาณแคลเซียมประมาณ 1,000 มิลลิกรัม/วัน” นั่นเอง

เพราะหากแคลเซียมถูกสะสมอย่างเพียงพอ มวลกระดูกจะได้รับการป้องกันเต็มที่ จะอายุ 30 40 หรือ 50 ปี ก็ขีดฆ่าความเสี่ยงกระดูกพรุนออกจากใบตรวจสุขภาพไปได้เลย


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แคลเซียม สารอาหารสำคัญที่มากกว่าแค่บำรุงกระดูก

สูตร กินแคลเซียม สำหรับทุกช่วงวัย ให้สุขภาพสมดุล แก่ช้า

เพิ่มแคลเซียม ให้ร่างกายวันนี้ ลดโอกาสกระดูกเปราะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.