6 เดือนลด อ้วน 10 กิโล ง่ายนิดเดียว
อ้วน คำสั้นๆ แต่น่าสะพรึงกลัวอยู่ไม่น้อย ยิ่งคุณสุภาพสตรีด้วยแล้ว อย่าได้เอ่ยคำนี้กับเธอเชียว มีหวังได้นอนไม่หลับกระสับกระส่ายกันเป็นแน่ แม้ความอ้วนจะดูน่ารังเกียจเดียดฉันท์เพียงนี้ แต่เป็นเรื่องน่าแปลกที่พบว่าคนไทยน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 2 ทศวรรษ สะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า “โรคอ้วน” กำลังบั่นทอนสุขภาพคนไทยมากขึ้นทุกขณะ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาทำความเข้าใจสิ่งไม่เล็กที่เรียกว่าอ้วนนี้ พร้อมหาวิธีพิชิตมันให้ได้ในเร็ววัน
สังคมแย่ลง อ้วนมากขึ้น
รศ.ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปสาเหตุของโรคอ้วนในปัจจุบันไว้ว่า ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเกิดจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลทางร่างกายมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาทิ อาหารฟาสต์ฟู้ด น้ำอัดลม อาหารที่ขาดคุณค่าทางโภชนาการในโรงเรียน รวมถึงการมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบแบบคนเมือง มีกิจกรรมทางร่างกายลดลงและการใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น
“ปัญหาขณะนี้คือ เรามีสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายและการบริโภคอาหาร ซึ่งต้องปรับปรุงกันอย่างเร่งด่วนต่อไป ไม่เช่นนั้นปัญหาโรคอ้วนจะมีมากขึ้น เพราะขณะนี้ประเทศไทยก็พบคนเป็นโรคอ้วนในอันดับต้นๆ ของอาเซียนแล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีปัญหานี้ได้ง่ายที่สุด”
กำจัดไขมันด้วยสำรับลดอ้วน
ทฤษฎีการลดน้ำหนักง่ายๆ คือ กินอาหารใน 1 วันให้ได้พลังงานลดลงจากเดิม 500 กิโลแคลอรี วิธีนี้สามารถลดน้ำหนักได้สัปดาห์ละ ½ – 1 กิโลกรัม ดังนั้นถ้าทำได้ถึง 6 เดือน น้ำหนักอาจลดลงได้อย่างน้อย 12 กิโลกรัม เช่น เคยดื่มเบียร์ 1 กระป๋องหรือน้ำอัดลม 1 กระป๋อง ซึ่งให้พลังงาน 500 กิโลแคลอรีเป็นประจำทุกวัน (ดูปริมาณพลังงานของอาหารได้จากฉลากโภชนาการ) ก็ลด ละ เลิกเสีย พลังงานที่ได้รับในแต่ละวันก็จะลดลงได้ง่ายๆ น้ำหนักก็จะลดลงตามไปด้วย
คุณธิษณา จรรยาชัยเลิศ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อธิบายเพิ่มเติมว่า
“การลดน้ำหนักควรลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่อดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง เพราะไม่เป็นผลดีต่อการลดน้ำหนักในระยะยาว โดยอาจใช้วิธีกินอาหารหลายมื้อ เช่น 4 – 5 มื้อ แต่ให้พลังงานรวมทั้งวันอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมไว้
“แต่ทั้งนี้อาหารก็ต้องเลือกที่กินแล้วให้พลังงานเหมาะสม สารอาหารครบ กินแล้วอิ่มนานด้วย ไม่ใช่กินหลายมื้อ แต่เลือกอาหารที่มีน้ำตาลให้พลังงานสูง ไม่อยู่ท้องต้องกินเรื่อยๆ ไม่อิ่มสักที แถมได้พลังงานส่วนเกินเติมเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป”