ติดเชื้อในกระแสเลือด

รู้ทัน! ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อในกระแสเลือด

รู้เท่าทัน! ปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อในกระแสเลือด

“ติดเชื้อในกระแสเลือด” หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ เพราะได้คร่าชีวิตใครหลายๆ คนไปมากมาย โดยเฉพาะเหล่าคนดัง ที่เหตุของการเสียชีวิตมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้หลายคนสงสัยว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดมีโอกาสหายหรือไม่ เกิดขึ้นได้อย่างไร คนที่ป่วยโรคอะไรมีความเสี่ยง มีวิธีการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบจาก นพ.ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา มาฝากกันค่ะ

การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร

การติดเชื้อในกระแสเลือด คือ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ผ่านทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล แล้วลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดที่ทำหน้าที่ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะส่วนนั้นๆ อักเสบติดเชื้อ

หากภูมิคุ้มกันไม่ดี รักษาไม่ทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลันจนช็อก และอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด ต่อมหมวกไตล้มเหลวจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

 

7 ปัจจัยเสี่ยง เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ดังนี้

1.ปัญหาสุขภาพทั่วไปจากการเจ็บป่วย เพราะร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น โรคเกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม ติดเชื้อที่ไต โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

2.ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง โรคเบาหวาน

3.ผู้ถูกไฟลวก หรือได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผลขนาดใหญ่

4.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยลูคีเมีย

5.ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล จากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ผ่าตัดหรือรักษาผู้ป่วยเพราะเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ เช่น ผู้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ต้องสวนปัสสาวะ หรือถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำ

6.เด็กทารก และผู้สูงอายุ

7.ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉีดสเตียรอยด์

8 อาการเบื้องต้น ติดเชื้อในกระแสเลือด  

การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง เมื่อร่างกายติดเชื้อ และเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด โดยมากผู้ใหญ่จะมีอาการเบื้องต้น ดังนี้

1.ชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที

2.หายใจเร็วขึ้นเกิน 20 ครั้งต่อนาที

3.ไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส

4.หนาวสั่น

5.มือและเท้าเย็นมาก

6.ไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ เพราะติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด

7.หากเกิดการติดเชื้อที่กรวยไต จะปวดหลังและปัสสาวะบ่อย

8.เกิดรอย หรือตุ่มหนอง เพราะพิษของเชื้อโรคกระจายสู่บริเวณผิวหนัง

6 อาการรุนแรง เสี่ยงต่อชีวิต

ทั้งนี้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะเกิดอาการกำเริบรุนแรง ดังนี้

1.ปัสสาวะน้อยลง

2.คลื่นไส้และอาเจียน

3.รู้สึกตัวน้อยลง

4.รู้สึกสับสน และคิดอะไรไม่ออก

5.ผิวหนังอาจเกิดจุด หรือแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ และแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง

6.เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก

การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

ในการรักษาตามทางการแพทย์ เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์ไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อได้อย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาอันสั้น เพราะปกติต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน เพื่อทราบผลการวินิจฉัยจากการตรวจด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจสารคัดหลั่งจากบาดแผล ตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ ตรวจด้วยภาพสแกน เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ

หลังแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นจากลักษณะและอาการของผู้ป่วยแล้ว จะฉีดยาปฏิชีวนะเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมหลายประเภทไว้ก่อน หลังรับยา 1-2 ชั่วโมง หากผู้ป่วยได้รับยารักษาตรงกับเชื้อ ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น

ตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อ หรือได้รับยาช้าเกินไป ก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน โดยแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ จากนั้นเมื่อได้ผลตรวจวินิจฉัยแล้ว ก็รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะแบบเม็ด หรือวิธีอื่นๆ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย

ติดเชื้อในกระแสเลือด

วิธีการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือด

เมื่อรู้จักภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว สำหรับวิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือดควรปฏิบัติดังนี้

1.รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ

2.งดสูบบุหรี่

3.เลี่ยงใช้สารเสพติด

4.พ่อ แม่ พาลูกไปรับวัคซีนให้ครบอย่างสม่ำเสมอ

5.ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น เบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี

6.ยึดหลักสุขอนามัย กินร้อนช้อนกลาง หมั่นล้างมือ

7.ระวังการอยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคต่างๆ

8.หลีกเลี่ยงไปยังสถานที่แออัด การถ่ายเทอากาศไม่ดี หรือที่ที่มีเชื้อโรค

9.หากพบความผิดปกติใดๆ ของร่างกายที่ไม่เคยเป็นมาก่อนให้รีบพบแพทย์ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ซึม หายใจเร็วผิดปกติ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เตรียมตัวก่อนผ่าตัด ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ฟื้นตัวไว ไม่ติดเชื้อ

ปอดติดเชื้อ โรคอันตรายที่มาพร้อมหน้าฝน

“ปอดติดเชื้อ” โรคยอดฮิตในผู้สูงอายุ ควรป้องกันแต่เนิ่นๆ

займ денег срочно по паспорту

Posted in BODY
BACK
TO TOP
Alternative Text
pant
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.