ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ไขความลับ! ปัจจัยที่มีผลต่อ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย (รู้เถอะ…ได้ไม่ขี้แพ้)

ภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะดีหรือไม่ดี มีปัจจัยใดบ้างที่มีอิทธิพล

ระบบ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย คือกลไกของร่างกายในการต่อสู้และทำลายเชื้อโรค รวมถึงสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกไม่ให้ก่อโรคกับร่างกายได้

วิชาแพทย์ถือว่า ระบบภูมิคุ้มกันเป็นระบบย่อยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเลือด เพราะเซลล์เม็ดเลือดขาวผลิตจากระบบเลือด แต่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานด้วยตนเองอย่างอิสระ โดยได้รับอิทธิพลจากระบบอื่นของร่างกายหลายระบบ กล่าวคือ

ปัจจัยที่มีผลต่อ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

สมอง

ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากขึ้นหรือน้อยลงได้ โดยสมองส่งโมเลกุลข่าวสาร (Cytokines) ซึ่งเป็นข่าวสารที่ส่งถึงเม็ดเลือดขาวได้โดยตรงผ่านไปทางกระแสเลือด โดยไม่ต้องอาศัยเส้นประสาทใด ๆ เหมือนเราเขียนข่าวสารในรูปอีเมลปล่อยเข้าอินเทอร์เน็ต โมเลกุลที่ผลิตออกมานี้ มี 2 ชนิด ยามใดที่จิตใจร่าเริงแจ่มใสก็จะผลิตไซโตไคน์ ชนิดที่สั่งให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้น แต่ยามใดที่จิตใจหดหู่ซึมเศร้าก็จะผลิตไซโตไคน์ชนิดที่สั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานน้อยลง การออกกำลังกายจึงช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ผ่านการผลิตสารเอนดอร์ฟินให้จิตใจร่าเริง

ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอยด์ (สเตียรอยด์)

ผลิตจากต่อมหมวกไตในภาวะเครียด มีฤทธิ์กดหรือระงับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวและระบบภูมิคุ้มกันโดยรวมโดยตรง ฮอร์โมนนี้ออกมาในภาวะเครียด ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะเครียดเป็นโรคติดเชื้อและเป็นมะเร็งง่าย

ฮอร์โมนเพศ

มีผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน เอสโทรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากขึ้น

ฮอร์โมนไทรอยด์

ทำให้การสร้างเม็ดเลือดขาวและการเผาผลาญพลังงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าขาด ฮอร์โมนนี้จะมีผลให้ระบบภูมิคุ้มกันลดการทำงานลง

วิตามินดี

เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์จะทำงานได้ต้องอาศัยวิตามินดี ซึ่งมักจะมีระดับต่ำกว่าปกติในผู้สูงอายุ การขาดวิตามินดีจึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง งานวิจัยที่โรงพยาบาลพญาไท 2 กับผู้ใหญ่คนไทยที่มีสุขภาพดี 211 คน พบว่า คนไทยวัยผู้ใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ขาดวิตามินดี ในผู้ที่มีการติดเชื้อซ้ำซากจึงควรเจาะเลือดตรวจดูระดับวิตามินดี หากพบว่าขาดก็ควรกินวิตามินดีทดแทน หรือออกรับแสงแดดให้มากขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคจึงจะกลับมาเป็นปกติ

สารช่วยปฏิกิริยาการอักเสบ

หรือที่เรียกรวม ๆ ว่าสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) บ้างได้มาจากอาหาร บ้างร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง มีจำนวนมากเสียจนความรู้แพทย์ไม่อาจทราบได้หมด ส่วนที่ได้มาจากอาหารนั้น บางครั้งเป็นธาตุเล็กธาตุน้อย (Trace Element) ส่วนใหญ่ได้จากอาหารพืชที่หลากหลาย ซึ่งร่างกายจำเป็นต้องใช้เพียงเล็กน้อย แต่เมื่อขาดจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสียการทำงานไป การกินอาหารพืชหลากหลายตามสี รสชาติ และฤดูกาล จึงเป็นวิธีช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น

การนอนหลับ

งานวิจัยพบว่า การผลิตโมเลกุลข่าวสารเกี่ยวกับการอักเสบชนิดสั่งให้เม็ดเลือดขาวทำงานมากขึ้นจะผลิตได้ดีช่วงนอนหลับ ดังนั้นการอดนอนจึงทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง

เหล่านี้คือเรื่องของระบบ ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ควรรู้

กินอาหารเสริมแบบชีวจิต เพิ่ม ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ให้ย้อนกลับไปหาคำแนะนำของกูรูต้นตำรับชีวจิต อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง เลยค่ะ คือ กินวิตามินและอาหารเสริมที่ร่างกายต้องการจริง ๆ โดยสังเกตจากอาการผิดปกติของตนเอง เช่น หากเลือดออกตามไรฟัน แปลว่าขาดวิตามินซี หากไม่ค่อยอยากอาหารกิน แปลว่าได้วิตามินและเกลือแร่ไม่พอ ซึ่งอาจต้องกินผักผลไม้ให้เยอะและหลากหลายขึ้น หากคิดคำพูดไม่ออก มักติดที่ปลายลิ้น แปลว่าขาดวิตามินบี 1, 2, 6 และ 12

จะหยุดเมื่อไร เมื่อเริ่มกินวิตามินและอาหารเสริม ก็ให้กินสัปดาห์ละ 5 วัน (วันไหนก็ได้) โดยหยุด 2 วัน (วันไหนก็ได้) และเมื่อกินติดต่อกันไปสัก 2 เดือน ก็ให้หยุด จนกว่ามีอาการอีกครั้ง

คลายเกร็งช่วยหลับลึกเพิ่มโกร๊ธฮอร์โมน เสริม ภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ไลฟ์สไตล์คนทำงาน อาจก่อความเครียด จนร่างกายมีอาการปวดเกร็ง นอนไม่หลับ ชีวจิต มีสูตรช่วยให้หลับสบาย และได้โกร๊ธฮอร์โมนเต็มที่ ด้วยการฝึกคลายเกร็งร่างกาย ( R e l a x a t i o n ) ก่อนนอนค่ะ

  1. นอนราบกับพื้น (บนเสื่อหรือที่นอน) ปล่อยตัวตามสบาย ทิ้งน้ำหนักตัว แขน และขา ให้ตัวเราจมลงไปในพื้น
  2. คลายเกร็งมือ โดยกำมือทั้งสองข้าง ออกแรงเกร็งเต็มที่ จนแขนสั่น นับ 1 – 10 แล้วปล่อยแขนเหยียดตามสบาย
  3. คลายเกร็งเท้า โดยเหยียดปลายเท้าไปข้างหน้า นับ 1 – 10 แล้วปล่อยขาหย่อนตามสบาย
  4. คลายเกร็งคอและไหล่ โดยยกศรีษะขึ้น ให้คางจรดหน้าอก หมุนคอช้า ๆ จากซ้ายไปขวาจนครบรอบ แล้วหมุนกลับจากขวามาซ้าย จากนั้นนอนหงายตามปกติ
  5. คลายเกร็งลตัว โดยแขม่วท้องให้รู้สึกเหมือนสะดือจรดกระดูกสันหลัง หายใจเข้ายาว ๆ แล้วกลั้นไว้ นับ 1 – 10
    แล้วจึงหายใจออก ทำซ้ำอีกครั้ง

บทความอื่นที่น่าสนใจ

เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย

50+ ร่างกายเปลี่ยนไป แค่ไหนกัน

5 วิธีหยุดปวดหลัง พร้อมท่าบริหารยืดกล้ามเนื้อหลังแบบง่าย

อาหารเสริม กินมากไป อันตรายหรือไม่

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.