โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือโรคซีวีเอส ชีวิต “ติดจอ” ยิ่งติดนาน ยิ่งป่วย

โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือโรคซีวีเอส ชีวิต “ติดจอ” ยิ่งติดนาน ยิ่งป่วย

ข้อมูลจากบทความของ แพทย์หญิงวีรยา พิมลรัฐ ในหนังสือ ตาดีได้อตาร้ายไม่เสีย จัดพิมพ์โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า หากคุณมีพฤติกรรมและอาการต่าง ๆ ครบทุกข้อ สันนิษฐานได้เลยว่า คุณกำลังเป็น “โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” หรือโรคซีวีเอส (Computer Vision Syndrome : CVS) อย่างแน่นอน

คุณหมอวีรยาได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในบทความว่า ผู้ที่ใช้เวลาจ้องจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเกินกว่า 3 ชั่วโมง ประมาณร้อยละ 90 มักมีอาการของโรคนี้ โดยสาเหตุของโรคดังกล่าวเกิดจากตัวอักษรหรือภาพบนจอคอมพิวเตอร์ไม่มีความเรียบคม อีกทั้งเป็นสัญญาณที่ไม่นิ่ง เราจึงต้องใช้ความพยายามในการเพ่งหน้าจอมากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อดวงตาเมื่อยล้า

เมื่อประกอบกับสภาวะแวดล้อมในห้องที่ไม่เหมาะสม เช่น มีแสงสว่างไม่เพียงพอ ระยะห่างระหว่างหน้าจอกับผู้ใช้ รวมถึงระดับความสูง – ต่ำของการวางหน้าจอไม่เหมาะสม ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อดวงตาเมื่อยล้ารุนแรงขึ้น

นอกจากนี้การเพ่งมองเป็นเวลานานยังทำให้กะพริบตาน้อยลง จึงเกิดอาการตาแห้ง เมื่อเป็นมากขึ้นก็ทำให้รู้สึกฝืดแสบหรือระคายเคืองตา ทำให้น้ำตาไหลได้

นอกจากนี้คุณหมอจุฑาไลยังชี้ว่า การจ้องหน้าจอมากเกินไปยังทำให้เกิดอาการตามัวด้วย
“เมื่อจ้องจอนานเข้า กล้ามเนื้อที่ปรับเลนส์ตาให้สามารถมองเห็นในระยะทั้งใกล้และไกลจึงเกิดการล้า ทำให้ปรับระยะการมองเห็นได้ช้า เมื่อเราย้ายสายตาจากหน้าจอไปเพ่งมองสิ่งอื่นที่อยู่ไกลออกไปจึงยังมองไม่ชัดในทันที ต้องรอสักครู่จึงจะชัดขึ้นค่ะ”

โดยอาการดังกล่าวที่เกิดสะสมมาตลอดวันจะทำให้มีอาการปวดตา ไปจนถึงปวดหัวหลังจากเลิกใช้งานคอมพิวเตอร์ได้

โดยคุณหมอจุฑาไลเสริมว่า “แม้ทุกวันนี้จะยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดเจนว่า การจ้องจอคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือสื่อสารนานไป อาจทำให้เกิดปัญหาทางสายตาได้ แต่พฤติกรรม
ดังกล่าวก่อให้เกิดความเมื่อยล้าหรือปวดดวงตาที่ก่อความรำคาญและส่งผลต่อการใช้ชีวิต ดังนั้นหมอแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อเยียวยาอาการดังกล่าวในเบื้องต้นค่ะ”

CHECKLIST! คุณเสี่ยงเป็นคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมหรือไม่

  • คุณมักจ้องจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมง โดยไม่พัก
  • หลังจากจ้องจอคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารเป็นเวลานาน คุณมักมีความรู้สึกฝืดแสบดวงตาบางครั้งก็มีน้ำตาไหลออกมา
  • คุณมักมีอาการปวดตา ปวดกระบอกตา และปวดหัวทุกเย็นหลังเลิกงาน
  • คุณมักใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารในที่ที่มีแสงน้อยหรือมีแสงสะท้อนเสมอ

5 วิธีปรับพฤติกรรมสู้โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

คุณหมอจุฑาไลมีคำแนะนำในการแก้อาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมในเบื้องต้นดังนี้

  1. พักสายตาเป็นระยะ
    “หากต้องทำงานหน้าจอต่อเนื่อง หมอแนะนำว่าให้พักด้วยการหลับตาสักครู่หนึ่ง ทุก 20 – 30 นาทีหรือหากนั่งทำงานต่อเนื่อง 1 – 2 ชั่วโมง ควรลุกไปทำอย่างอื่นสัก 5 – 10 นาที
    แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ วิธีพักสายตาเช่นนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อตาไม่ล้าเกินไป อีกทั้งยังลดอาการตาแห้งได้อีกด้วย”
  2. กะพริบตาบ่อย ๆ
    “การกะพริบตาช่วยให้น้ำตาที่ผลิตจากต่อมน้ำตาใต้เปลือกตามาเคลือบตา ทำให้ดวงตา
    ไม่แห้ง จึงลดอาการฝืดเคืองดวงตาได้”
  3. จัดสภาพแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม
    “ไม่ควรเปิดพัดลมเป่าจ่อใบหน้าและดวงตา หรือนั่งใต้แอร์เวลาทำงาน เพราะจะยิ่งทำให้ตาแห้ง อีกทั้งต้องไม่ให้มีแสงจากด้านหลังสะท้อนหน้าจอเข้าดวงตา รวมถึงไม่ทำงาน
    ในห้องที่มีแสงไม่เพียงพอค่ะ”
  4. “น้ำตาเทียม” ตัวช่วยเบื้องต้น
    “หากทำทุกอย่างที่กล่าวมาแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้หยอด “น้ำตาเทียม” เพื่อให้ดวงตามีน้ำหล่อลื่น ช่วยให้ไม่เกิดอาการแห้งแสบ หรือเคืองตา”
  5. หาหมอเพื่อดูอาการ
    “ในกรณีที่มีน้ำตาไหลตลอดเวลา หรือมีอาการปวดตามาก ๆ ควรพักสายตา หรือกินยาแก้ปวด หากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เนื่องจากพบบ่อยว่าอาการตาแห้งมากเกินไปก่อให้เกิดแผลเล็ก ๆ ที่กระจกตา ส่งผลให้เกิดอาการแสบเคืองและปวดดวงตา รวมถึงอาจนำไปสู่การติดเชื้อได้”

STORY SHARING

เพื่อให้เข้าใจอาการคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมากขึ้น เรามีตัวอย่างประสบการณ์ของ คุณวันวิสาข์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรมของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เธอป่วยเป็นโรคนี้

“เป็นคนสายตาสั้นและมีสายตาเอียงร่วมด้วยแต่เมื่อก่อนไม่ชอบใส่แว่นทำงาน รู้สึกไม่เคยชินและมักมีอาการมึนหัว จึงตัดความรำคาญด้วยการไม่ใส่เสียเลย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ทำงานที่บ้านก็มักเปิดพัดลมจ่อหน้าเป็นประจำ ต่อมาเริ่มมีอาการแสบเคืองตา บางช่วงก็มีน้ำตาไหลเป็นประจำ บ่อยครั้งที่เคืองมาก ๆ ก็จะเผลอขยี้ตาแรง ๆ ทำให้ตายิ่งแสบเคืองมากขึ้น”

“เมื่อไปพบจักษุแพทย์ คุณหมอบอกว่าอาการเคืองตาที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากตาแห้ง หมอ
จึงให้น้ำตาเทียมมาหยอดตา และกำชับให้สวมแว่นระหว่างทำงาน จึงต้องปรับพฤติกรรมใหม่ ใช้เวลาระยะหนึ่งกว่าจะชิน แต่อาการต่าง ๆ ก็ดีขึ้นค่ะ”

5 อาหารป้องกันโรคซีวีเอส

ข้อมูลจากหนังสือ The Eye Care Revolution: Prevent and Reverse Common Vision Problems. เขียนโดย นายแพทย์โรเบิร์ต เจ. อาเบล แนะนำ 7 อาหารที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของดวงตา ซึ่งช่วยป้องกันโรคซีวีเอสหรือคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม ดังนี้

  1. ปลาทะเลน้ำลึก ซึ่งอุดมไปด้วยดีเอชเอ (DHA) ที่ช่วยให้ผนังเยื่อหุ้มเซลล์ไม่แห้ง รวมถึงช่วยเยียวยาอาการตาแห้งได้ดี
  2. เครื่องเทศคู่ครัว ได้แก่ กระเทียม หอมเล็ก และหอมหัวใหญ่ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อร่างกาย รวมถึงดีต่อดวงตาด้วย
  3. ถั่วเหลือง โปรตีนพืชไขมันต่ำ ที่มีไฟโตเอสโทรเจนและวิตามินอี รวมถึงสารต้านการอักเสบซึ่งช่วยเยียวยาอาการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงตาได้เป็นอย่างดี
  4. มะเขือเทศ นอกจากมีไลโคปีนซึ่งเป็นสารต้านอนุลอิสระที่สำคัญต่อร่างกายแล้ว มะเขือเทศยังมีวิตามินซีและวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงดวงตาให้แข็งแรง ทนต่อการรบกวนของแสงสีฟ้าได้ดีขึ้น
  5. องุ่นม่วงและบลูเบอร์รี่ มีสารแอนโทไซยานินที่ช่วยให้มองเห็นในเวลากลางคืนดีขึ้น จึงลดการเพ่งจ้องจอ ทำให้กล้ามเนื้อตา ไม่ค่อยอ่อนล้า

เรื่อง ศุภรา ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 458
นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 : 1 พฤศจิกายน 2560

– – –  – – – – –  – – – – –  – – – –  – – – –  – – –  – – –  – – –  – – –  – –  – –

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เช็ก 7 สัญญาณ ชี้ ปัญหาดวงตา ที่คุณควรทำอะไรสักอย่างก่อนจะแย่กว่านี้

วิธีป้องกัน ดวงตาแห้ง ปัญหาสุขภาพตา ที่มากับหน้าหนาว

รู้หรือไม่ “แสงแดด” ทำร้ายดวงตาได้มากกว่าที่คุณคิด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.