วิธีปฏิบัติแก้อาการร้อนวูบวาบใน “วัยทอง”
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ของผู้หญิงนับเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สตรีวัยทองสามารถดูแลตนเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้
มาทำความรู้จักกับ “วัยทอง”
วัยทอง (menopause) ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก หมายถึง วัยที่มีการสิ้นสุดของการมีประจำเดือนอย่างถาวรเนื่องจากรังไข่หยุดการทำงาน และเป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธุ์ โดยปกติจะนับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี สำหรับหญิงไทย อายุเฉลี่ยที่จะเข้าสู่วัยทองคืออายุประมาณ 48 ปี
อาการของสตรีวัยทอง
สตรีวัยทองแต่ละรายอาจเกิดอาการวัยทองมากน้อยแตกต่างกันไป ตั้งแต่ไม่มีอาการจนกระทั่งมีอาการมากและกระทบต่อความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
ใครที่มีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ ที่เป็นหนึ่งในอาการของวัยทอง และกำลังมีอาการแบบนี้ หรือกำลังจะเข้าสู่วัยทอง มาเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อหยุดอาการเหล่านั้นกันดีกว่าค่ะ
ภาวะหมดประจำเดือน หรือที่เราเรียกว่า วัยทอง เกิดขึ้นเมื่อประจำเดือนหมดไป หรืออายุประมาณ 40 – 45 ปี ในระหว่างนี้มักมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ แต่อาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) คือมีอาการหนาว ๆร้อน ๆ ขึ้นมาทันทีทันใด ส่วนมากจะเป็นบริเวณส่วนบนของร่างกาย บางครั้งหน้าแดงและเหงื่อออก ตามด้วยอาการหนาวสั่น บางคนเป็นบ่อย ๆ เวลากลางคืน โดยตื่นขึ้นมาในสภาพเหงื่อเปียกท่วมตัว
-ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักตัว
ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักตัว เช่น วิ่ง ยกน้ำหนัก หรือเดินเร็ว วันละ 15-20 นาที จะช่วยลดอาการซึมเศร้าและร้อนวูบวาบ เพราะจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน นอกจากนี้ยังช่วยลดการเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และกระดูกพรุนได้อีกด้วย
-ฝึกโยคะและทำสมาธิ
ฝึกโยคะและทำสมาธิ หรือวิธีการผ่อนคลายอย่างอื่น จะสามารถช่วยรักษาอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และป้องกันอาการร้อนวูบวาบได้ด้วย
-ใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา และอยู่ในที่ที่อากาศเย็น
ใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าบางเบา อยู่ในที่ที่อากาศเย็น เพราะอากาศร้อนจะทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบได้ง่าย และควรอาบน้ำเย็นก่อนเข้านอน รวมทั้งใช้ผ้าห่มชนิดบาง เพื่อช่วยลดอาการวูบวาบ
-รับแสงแดดอ่อนๆ ตอนเช้า
รับแสงแดดอ่อนๆตอนเช้า เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินดี สำหรับช่วยในการดูดซึมแคลเซียมอย่างเพียงพอ
-หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ และเลี่ยงอาหารรสจัด
หลีกเลี่ยงอาหารก่อพิษ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไวน์ ช็อกโกแลต ชีส และเลี่ยงอาหารรสจัด เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการร้อนวูบวาบมากขึ้น
ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ