อาจารย์ยักษ์ จากแนวคิดพึ่งตนเอง สู่วิถีสุขภาพดี
เมื่อนึกถึงการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เชื่อว่า หลายๆ คนต้องมีชื่อ อาจารย์ยักษ์ หรือ ด็อกเตอร์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ซึ่ง อุทิศเวลาเกือบครึ่งชีวิตให้กับลงมือทำแนวคิดดังกล่าวจนประสบผลสำเร็จเห็นได้จริงจากการดำเนินงานของ “ชมรมกสิกรรมธรรมชาติไท” พ.ศ.2540 และสืบต่อมาเป็นการจดจัดตั้งเป็น “มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ” ปี พ.ศ.2544
ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จากการทำงานต่อเนื่อง 24 ปี ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การพึ่งตนเองได้นั้นให้เริ่มต้นจากจุดที่เล็กที่สุดและใกล้ตัวที่สุดนั่นคือ เริ่มต้นที่เราทุกๆ คน
แนวคิดพึ่งตนเอง … สู่วิถีสุขภาพดี
“ผมอยากชวนให้หันกลับมามองอีกครั้งว่า คนๆ หนึ่ง อยู่ตามลำพังไม่ได้ ในฐานะสิ่งมีชีวิตเราต้องพึ่งพาสิ่งแวดล้อม เช่น ต้นไม้ แหล่งน้ำ อากาศ และพึ่งพาสังคมได้แก่ผู้คนที่อยู่รอบข้าง
“เงินทอง ชื่อเสียง ไม่ได้มีค่าอะไรถ้าเราเจ็บป่วย ถึงเงินจะทำให้เราเข้าโรงพยาบาลแพงๆ ได้ แต่ถ้ายังมีแนวคิดว่า วันนี้ขอสบาย สนุก อยากทำอะไรก็ทำ เช่น กินอยู่ตามใจตัวเอง ในระยะยาวโรคก็จะถามหา
“ที่มาบเอื้อง กระบวนการเรียนรู้ที่มีจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ต้นไม้ 1 ต้นให้อะไรกับเราบ้าง เขามีค่ากับเรามากแค่ไหน วันนี้คุณเดินผ่านต้นไม้ไปเฉยๆ โดยไม่คิดอะไร แต่ถ้าดูแลเขาดีๆ ผ่านไป 10-20 ปี ต้นไม้ต้นนี้จะกลายเป็นเครื่องผลิตอ็อกซิเจน เป็นแหล่งดูดซับน้ำ บำรุงดิน รวมไปถึงเป็นป่าสมุนไพรที่รอคอยให้เราดึงศักยภาพของเขาไปใช้แก้วิกฤตในอนาคต”
ดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อตัวเราเอง
จากการระบาดของโควิดที่ผ่านมา อาจารย์ยักษ์ ฝากว่า สิ่งนี้เป็นเครื่องเตือนใจคนไทยทุกคนให้หันกลับมาดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว เพื่อในท้ายที่สุด ดิน น้ำ อากาศที่ดีจะกลายเป็นแหล่งอาหารและยาที่จำเป็น
“ถ้าเราทำตามใจตัวเอง บริโภคทุกอย่างที่อยากได้ ไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์เตือนแล้วว่า ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 3 องศาเซลเซียส พวกเราก็จะอยู่กันไม่ได้แล้ว
“ดังนั้น ขอให้มองโควิดเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า สุขภาพคือสมบัติลำค่าและสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้นจะทำให้พวกเรามีสุขภาพดีต่อไปได้
“สุดท้าย การที่เราจะพึ่งพาตัวเองได้จึงต้องเริ่มจากคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มองเห็นคุณค่าของต้นไม้ 1 ต้น แหล่งน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ แล้วลงมือดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวและต้องทำอย่างต่อเนื่อง”
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สังคม สิ่งแวดล้อม สำคัญอย่างไรต่อผู้สูงอายุ?