โรคข้อมืออักเสบ

3 โรคมือสุดฮิตที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

3 โรคมือสุดฮิตที่เกิดขึ้นจากการทำงาน

พนักงานออฟฟิศล้วนมีพฤติกรรมในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การนั่งหลังค่อม นั่งทำงานหน้าจอคอมนาน ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ หรือมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สูงเกินไป จนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย ซึ่งสิ่งที่เราทำทุกวันอยู่นั้นอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย และอาจเกิดโรคที่เรียกว่าออฟฟิศซินโดรม

แต่ไม่ใช่แค่ออฟฟิศซินโดรมเท่านั้นนะคะ ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่มักเกิดจากการทำงาน และมักเกิดกับมนุษย์ออฟฟิสเท่านั้น โรคเกี่ยวกับมือก็เป็นปัญหาสำคัญเช่นกัน โดย 3 โรคมือที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาที่เกิดจากการทำงาน ได้แก่

นิ้วล็อค

1) นิ้วล็อค (Trigger Finger)

สาเหตุ: เกิดจากการใช้งานมากไปหรือใช้มืออย่างไม่ถูกต้อง เช่น จับหรือเกร็งนิ้วมือเป็นเวลานานจนเกิดการอักเสบที่โคนนิ้วมือ สาเหตุเกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วมือ เมื่อปลอกหุ้นเอ็นอักเสบจะเกิดการหดตัว ทำให้เส้นเอ็นในปลอกประสาทถูกล็อค งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้

การรักษา: การรักษาโรคนิ้วล็อคในระยะแรก แพทย์จะรักษาให้หายอักเสบด้วยการทานยา หรือการฉีดยาก็จะช่วยให้ไม่ต้องผ่าตัดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานจนถึงขั้นล็อคแล้วปวดมาก งอเหยียดไม่ได้ ฉีดยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดขยายปลอกหุ้มเอ็นที่มีปัญหาเพื่อให้กลับมาใช้งานได้

เส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบ

2) กลุ่มอาการเส้นประสาทที่ข้อมืออักเสบหรือโรคพังผืดเส้นประสาทที่ข้อมือ(Carpal Tunnel Syndrome)

สาเหตุ: บริเวณข้อมือจะมีช่องว่างจำกัดและเส้นประสาทเส้นใหญ่อยู่ในบริเวณนั้น คนที่มีการใช้ข้อมือมาก ๆ เยื่อหุ้มเอ็นเกิดการอักเสบ จากนั้นจะเกิดพังผืดไปกดเส้นประสาทที่ข้อมือ ทำให้เกิดอาการ 3 อย่างคือ ปวด ชาที่มือ มืออ่อนแรง สำหรับบางคนที่มีอาการมากจะสังเกตดูได้จากบริเวณเนินพระจันทร์ (กล้ามเนื้อนูน ๆ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือจะลีบ) จะมีอาการชานิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และนิ้วกลาง และบางส่วนของนิ้วนาง

การรักษา: ในระยะแรกจะมีอาการปวดชาเล็กน้อย แพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดยา หรือใส่ปลอกข้อมือ หรือลดการใช้ข้อมือให้น้อยลง โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่หากมีผังผืดกดเส้นประสาทมาก ๆ กล้ามเนื้อบริเวณเนินพระจันทร์จะลีบฝ่อและหายไป มืออ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ได้ การผ่าตัดรักษาโรคนี้ใช้เทคนิคผ่าตัดแผลเล็กเพื่อขยายช่องเส้นประสาท ใช้เวลาประมาณ 10 – 15 นาที โดยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ เมื่อผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด คือ แผลผ่าตัดห้ามโดนน้ำ 7 วัน จากนั้นแพทย์จะทำการตัดไหม ภายหลังตัดไหมแล้วสามารถกลับไปใช้งานได้ตามปกติ

เอ็นข้อมืออักเสบ

3) เอ็นข้อมืออักเสบ (De Quervain’s Tenosynovitis)

สาเหตุ: เป็นโรคที่พบบ่อยในกลุ่มคนที่ใช้มือทำงานหนัก ๆ จนเกิดการอักเสบที่เอ็นบริเวณข้อมือทางด้านหลังฝั่งนิ้วหัวแม่มือ เจ็บเมื่อกระดกนิ้วหัวแม่มือ

การรักษา: การรักษาในระยะแรกทำได้โดยการประคบเย็นบ่อย ๆ ตามด้วยการขยับเบา ๆ เพื่อให้เอ็นมีการยืดตัว ไม่ควรทำรุนแรง ร่วมกับการพักการใช้มือข้างที่อักเสบ การรักษาเนื้องอกเส้นประสาทบริเวณมือ คนไข้จะมาพบแพทย์ด้วยก้อนที่เกิดขึ้นบริเวณข้อมือ โดยจะรู้สึกเหมือนไฟช็อต มีอาการชามือ ปวด เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับ เนื่องจากเส้นประสาทที่เราอาจมองเห็นจากภายนอกเป็นเส้นใหญ่ ๆ ความเป็นจริงแล้วมีเส้นประสาทเส้นเล็ก ๆ อยู่ข้างในเป็นร้อย ๆ เส้น ดังนั้นการผ่าตัดเนื้องอกในเส้นประสาทต้องใช้กล้อง Microsurgery ที่มีความละเอียดเป็นพิเศษในการตัดเนื้องอกหรือถุงน้ำในเส้นประสาทเพื่อแยกเส้นประสาทเล็ก ๆ ออกมา เพราะหากผ่าตัดโดนเส้นประสาท คนไข้อาจสูญเสียความรู้สึกที่มือได้

นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุทางการรักษานิ้วมือที่พิการแต่กำเนิด เช่น นิ้วเกิน นิ้วติดกัน เป็นต้น หากเกิดปัญหาเกี่ยวกับมืออย่านิ่งนอนใจ ควรรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง มือคู่สำคัญจะได้กลับมาเคลื่อนไหวได้ดีดังเดิม

ที่สำคัญโรคมือที่เกิดจากการทำงานตามที่ได้บอกไปเป็นโรคที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการปรับพฤติกรรมในที่ทำงาน และไม่ควรปล่อยปละละเลยหากเกิดสัญญาณเตือนของอาการ เพราะการดูแลสุขภาพของตนเองตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมือเหล่านี้ได้

ที่มา: รพ.กรุงเทพ

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วิธีง่ายๆ แก้ นิ้วล็อค ใน 10 นาที

7 วิธีออกกำลังมือ แก้นิ้วล็อค

หยุดออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตคนทำงาน

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.