ดนตรี สามารถ กระตุ้นความจำ ของผู้สูงวัยได้นะ
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย ซึ่งผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และปัญหาหลักในผู้สูงอายุก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง และเสื่อมถอยของระบบต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น การทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมถอยนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญใน การดูแลส่งเสริมสุขภาพ รวมทั้งป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ
เพลงที่คุ้นเคย ช่วยกระตุ้นความทรงจำระยะยาว
หลายคนคงคุ้นเคยเวลาได้ยินเพลงป๊อปที่ขึ้นชาร์จ ติดหู เหล่านี้ล้วนชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ หรือบางเพลงฟังแล้วเกิดแฟลชแบล็คขึ้นมาแบบอัตโนมัติ นั่นเพราะเพลงสามารถเชื่อมกับความทรงจำส่วนตัวของเราได้ และเมื่อเวลาผ่านไป ความทรงจำส่วนตัวเหล่านั้นก็กลายเป็นความทรงจำระยะยาว
เมื่อเพลงสามารถเรียกภาพความทรงจำของผู้สูงอายุและกระตุ้นความทรงจำให้กลับคืนมา จึงเป็นเหมือนการพาผู้สูงวัยนั่งไทม์แมชชีนกลับไปชมนิทรรศการความทรงจำของเขาหรือเธอ ผ่านตัวแมชชีนที่ชื่อว่า “ดนตรี”
ผลงานวิจัยระบุว่า หลังจากใช้ดนตรีบำบัดกับผู้สูงอายุ ผลปรากฏว่า ผู้สูงวัยที่ค่อนข้างเงียบหรือไม่ค่อยสื่อสาร สามารถเริ่มที่จะพูดหรือเริ่มเข้าสังคมได้มากขึ้น จากที่มีภาวะซึมเศร้าก็จะรู้สึกดีขึ้น ผู้ที่เคลื่อนไหวได้น้อยก็สามารถขยับตัวได้มากขึ้น
ผู้ป่วยแต่ละคนมีการตอบสนองที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเสื่อมของสมองในส่วนของการรับรู้ ทั้งนี้ทั้งนั้น นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คนที่คุณรักจะสามารถสัมผัสความรู้สึกดีๆ ในชีวิตได้อีกครั้ง
ที่มา : นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต