ชาจีน

Side Story of Chinese Tea คัมภีร์เรื่องลับฉบับ ชาจีน

เรื่องลับ ชาจีน

หากจะกล่าวถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ชาจีน ย่อมเป็นเครื่องดื่มอันดับต้น ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะสองสิ่งนี้ต่างผูกพันกันจนยากจะแยกออกจากกันได้

และด้วยประวัติความเป็นมาอันยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกว่า 4000 ปี รวมถึงสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ ชาจึงได้ฝากเรื่องราวไว้มากมาย จนกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่กล่าวกันว่ามีคนดื่มมากที่สุดในโลก รองลงมาจากน้ำเปล่าเลยทีเดียว โดยเฉพาะชาจีนที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำรับแห่งชาสุขภาพชาจีน

ด้วยเหตุนี้ ชาจีนจึงถูกหยิบยกมากล่าวถึงในเชิงสุขภาพครั้งแล้วครั้งเล่า ทว่าเรื่องราวของชาจีนนั้นแท้จริงแล้วมิได้จบลงแค่เพียงการชงดื่ม ในใบชาสีสดนั้นยังเก็บซ่อนเรื่องราวอันน่าทึ่งที่เราอาจไม่เคยรู้ไว้อีกมากมาย ดังนั้น ชีวจิต ฉบับนี้จึงขอนำเสนอคัมภีร์เรื่องลับฉบับชาจีน (Side Story of Chinese Tea) มาให้ทุกท่านได้ประหลาดใจกัน

คลิกเลข 2 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

The First Side Story of นามลี้ลับของ “ชา” กับเส้นทางสู่สยามประเทศ

ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีอยู่มากมายถึงกว่า 3000 ชนิด ซึ่งล้วนแตกต่างกันทั้งในด้านกลิ่น รสชาติ และสีสัน แต่ชาทุกชนิดต่างก็เป็นพืชในสายพันธุ์เดียวกันที่ชื่อว่า “Camellia Sinensis” ซึ่งเป็นชื่อทางชีววิทยาของพืชตระกูลชา โดยคำว่า Camellia นั้นมีความหมายว่า นางฟ้า ส่วน Sinensis นั้นหมายถึง China ที่แปลว่าเมืองจีน เมื่อนำมารวมกันจึงมีความหมายเชิงเปรียบเปรยว่า ชาเป็นเสมือนนางฟ้าแห่งเมืองจีน นั่นเอง

คนไทยเริ่มรู้จักการดื่มชามาตั้งแต่ยุคสุโขทัยแล้ว จากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน ซึ่งปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุสมัยพระนารายณ์มหาราช ส่วนการปลูกชานั้นพบแหล่งกำเนิดอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือ โดยต้นชาป่าที่พบเป็นต้นชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งชาวเหนือนิยมเรียกกันว่า ต้นเมี่ยง

น้ำชา

การพัฒนาอุตสาหกรรมชาของประเทศไทย เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2480 โดยสองพี่น้องพุ่มชูศรี ผู้ให้กำเนิดบริษัทใบชาตราภูเขาจำกัดได้รับซื้อใบชาสดจากชาวบ้านที่ทำเมี่ยงอยู่แล้ว  แต่ใบชาในช่วงนี้ถือว่ายังไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากชาวบ้านยังขาดความรู้ความชำนาญในการเก็บเกี่ยวยอดชาและตัดแต่งต้นชา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 บริษัทชาวสยามได้ลงทุนซื้อสัมปทานสวนชา และเริ่มส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกสวนชาแบบใหม่ พร้อมรับซื้อใบชาสดจากเหล่าเกษตรกรนำมาผลิตชาในนามของ “ชาลิปตัน” จนถึงปัจจุบัน

ด้านภาครัฐนั้น ได้มีการสำรวจหาแหล่งที่จะทำการปลูกและปรับปรุงชา จึงได้มีการตั้งสถานีทดลองขึ้นมาวิจัยค้นคว้าเมล็ดพันธุ์ชาที่จะสามารถนำมาปลูกได้ ก่อนที่ปี พ.ศ. 2525 จะมีการจัดตั้งสหกรณ์ใบชาแม่สลองที่จังหวัดเชียงรายขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือสมาชิกผู้ปลูกใบชาและให้คำแนะนำต่าง ๆ รวมไปถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านใบชาจากนานาประเทศมาพัฒนาเทคนิคด้านการทำสวนและผลิตชาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตชาได้กลายมาเป็นหนึ่งในผลผลิตชั้นยอดของมูลนิธิโครงการหลวง (Royal Project Foundation)

คลิกเลข 3 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

The Second Side Story วิถีลับสู่สุดยอดแห่งชา

ใบชาที่มีคุณภาพดีตามมาตรฐานย่อมมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าใบชาเกรดต่ำ คำว่า “ดี” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชาที่มีราคาแพง แต่หมายถึงชาที่มีคุณลักษณะสมบูรณ์ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเก็บรักษา เพราะยิ่งใบชามีคุณภาพต่ำก็จะมีสารแทนนินซึ่งส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกสูง ในทางกลับกันสารอันเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกลับลดน้อยลง

ด้วยเหตุนี้หากเรารู้จักวิธีดูลักษณะใบชา ก็จะสามารถประเมินคุณภาพของใบชาที่ซื้อมาได้อย่างถูกต้อง

  • ใบชาควรบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิทและทึบแสง ปกติร้านชาเก่าแก่จะนิยมห่อใบชาด้วยกระดาษฟาง แล้วบรรจุลงถุงกันอากาศอีกชั้นหนึ่ง ส่วนใบชาตามห้างสรรพสินค้ามักจะใส่ในห่อทึบแสงแล้วบรรจุลงในกระป๋องโลหะ หรือแบบที่บรรจุในห่อสุญญากาศ ล้วนแต่เป็นวิธีการบรรจุชาที่ถูกต้อง เหมาะสมกับการเลือกซื้อ

ชาจีน

  • ลักษณะใบชาที่ได้มาตรฐาน สามารถสังเกตได้หลังจากถูกน้ำร้อนแล้ว ใบชาจะคืนชีพสู่สภาพเดิม ใบชาดีจะมีสีสด ลักษณะสมบูรณ์ ไม่ขาดแหว่ง รูปร่างใบชาใกล้เคียงกันทุกใบ และไม่มีสิ่งแปลกปลอมเจือปน
  • ใบชาคุณภาพต้องมีกลิ่นที่หอมสดติดจมูกเพียงอย่างเดียว ไม่มีกลิ่นอื่นที่ไม่ใช่กลิ่นชาเจือปน
  • ชาที่ชงเสร็จแล้ว เมื่อเทลงในภาชนะจะต้องไม่มีสิ่งอื่นเจือปน นอกจากเศษกากชาที่ควรมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น
  • ชาจีนแต่ละชนิดล้วนต้องใช้อุปกรณ์ในการชงที่เหมาะสมจึงจะสามารถขับเอากลิ่น รส และสารอันเป็นประโยชน์ออกมาได้อย่างเต็มที่ หากเป็นชาเขียวและชาขาวควรใช้กากระเบื้องเคลือบและน้ำที่อุณหภูมิ 60 – 80 องศาเซลเซียสในการชงจึงจะให้ผลดีที่สุด

ในขณะที่ชาประเภทอู่หลงและชาดำต้องใช้กาดินเผาและน้ำเดือดอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ส่วนชาสมุนไพรนั้นเหมาะกับกาแก้วกับน้ำที่อุณหภูมิ 85 องศา

คลิกเลข 4 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

The Third Side Story ประโยชน์ลับๆ นอกจอกชา

รู้กันหรือไม่ว่าเรื่องราวของชามิได้จบลงเพียงแค่การชงดื่มในจอกเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้และเหลือจากการชงชายังสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพได้มากมายอย่างที่คุณคาดไม่ถึง

– ใบชาที่ตากจนแห้งแล้ว สามารถนำไปทำเป็นไส้หมอนหนุนได้ โดยหมอนที่ทำด้วยใบชาจะมีกลิ่นหอม ซึ่งมีสรรพคุณช่วยคลายความเครียด

– น้ำชาสามารถนำไปอาบชำระร่างกายเพื่อกำจัดกลิ่นตัวและป้องกันการเกิดโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การอาบน้ำชาจะทำให้สีของน้ำชาติดบนผิว ส่งผลให้สีผิวดูคล้ำขึ้น เรียกว่าเป็นการทำผิวสีแทนเทียม (Fake Tan) โดยไม่ต้องเสี่ยงกับโรคมะเร็งผิวหนังจากการอาบแดดด้วย

น้ำชา

– น้ำชาที่ถูกทิ้งไว้จนเย็นแล้ว หากนำมาสระผมจะช่วยให้ผมเงางามและนุ่มสลวย

– น้ำชาที่ถูกชงอย่างสะอาดและถูกหลักอนามัยสามารถนำมาใช้ล้างตาแทนน้ำยาล้างตาทั่วไปได้ โดยจะมีสรรพคุณช่วยลดความตึงเครียดของตา

– หากนำน้ำชามาล้างแผลสด จะช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคและบรรเทาอาการปวดได้ ไม่เพียงเท่านั้นน้ำชายังสามารถช่วยลดอาการอักเสบได้อีกด้วย

– น้ำชาสามารถล้างกลิ่นและคราบน้ำมันที่เกิดจากการหยิบจับเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี

น้ำชา

– การล้างเท้าด้วยน้ำชา ช่วยขจัดปัญหากลิ่นเท้าเหม็นได้

– การนำน้ำชาไปล้างอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ซึ่งยังมีกลิ่นติดอยู่ ช่วยขจัดกลิ่นสีได้

– การนำใบชาไปแช่ไว้ในตู้เย็นจะช่วยดูดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในตู้เย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คลิกเลข 5 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

The Fourth Side Story เกร็ดเรื่องลับฉบับใบชา

– ชาเขียวเป็นชาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด เพราะไม่สูญเสียองค์ประกอบที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไประหว่างกระบวนการหมักเหมือนกับชาดำ ส่วนชาขาวเป็นชาที่มีสารคาเฟอีนน้อยที่สุด

– ชาสมุนไพร อาทิ ชาแอปเปิล ชาสตรอเบอร์รี่ นั้นไม่ใช่ชา เพราะไม่ได้มาจากพืชในตระกูล Camellia Sinensis แต่คำว่า “ชา” ในที่นี้หมายถึง รูปแบบการปรุงแต่งและการบริโภคแบบชาเท่านั้น โดยชาสมุนไพรแบบไม่มีคาเฟอีนเลยจะมีคำว่า Infusion ต่อท้าย ส่วนประเภทที่มีคำว่า Tea ต่อท้ายนั้น หมายถึง การปรุงรสชาด้วยการนำผลไม้ตากแห้งมาผสมกับชาให้เกิดรสชาติตามนั้น

– ชาปรุงแต่งกลิ่น เป็นชาที่ไม่แนะนำให้ดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะชาประเภทนี้จะแต่งกลิ่นสังเคราะห์ลงไป ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการระคายคอ เนื่องจากน้ำมันที่ผสมอยู่ในสารระเหยสำหรับเป็นตัวกลางในการเก็บกลิ่นจะไปเกาะในคอเรา สังเกตชาประเภทนี้ได้จากคำว่า Favored ในชื่อสินค้า เช่น Apple Favored Tea เป็นต้นชาจีน

– การดื่มชาเพื่อสุขภาพไม่ควรปรุงแต่งด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมข้นหวาน นมสด หรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะเข้าไปจับตัวกับสารสำคัญในใบชาและทำลายประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้การชงชาไม่ควรชงเกิน 5 น้ำ เพราะคุณประโยชน์ของชามักถูกขับออกมาเพียง 5 น้ำ เท่านั้น

–  คนไทยส่วนใหญ่มักเข้าใจวิธีการดื่มชาแบบผิดๆ อยู่ โดยมักจะนิยมแช่ใบชาทิ้งไว้ในกาตลอดทั้งวัน เมื่ออยากดื่มจึงเทใส่แก้ว ซึ่งความจริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิด เนื่องจากชาเมื่อแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานจะขับสารแทนนินที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการท้องเสียออกมามากเกินไปเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องผูกได้ เวลาที่เหมาะสมสำหรับการแช่ชาคือ 3-5 นาที เมื่อครบเวลาให้เทน้ำชาลงในที่พักชาหรือกรองใบชาออกจากกา เมื่อน้ำชาหมดจึงค่อยนำใบชากลับมาชงใหม่อีกครั้ง นอกจากนี้ใบชาที่ชงแล้วควรเก็บไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากเกินแล้วไม่ควรนำมาชงอีก

– แคทธิซีนส์ (Catechines) เป็นสารต่อต้านมะเร็งที่พบได้ในชา แต่สารประเภทนี้จะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นสำหรับผู้ที่นิยมดื่มชาร้อนควรชงให้มีความเข้มข้นกว่าการชงชาเย็น เพราะจะสามารถรักษาสารแคทธิซีนส์ไว้ได้ นอกจากนี้การดื่มชาที่ร้อนจนเกินไป อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งหลอดอาหารได้ เนื่องจากความร้อนจากชาทำให้เกิดแผลในหลอดอาหาร เราจึงควรพักชาไว้ให้เย็นลงสักนิดหลังชงเสร็จ โดยอุณหภูมิของชาที่ดีต่อสุขภาพจะอยู่ที่ 70 – 80 องศาเซลเซียส

คลิกเลข 6 เพื่ออ่านหน้าถัดไป

– น้ำชามีผลต่อกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารดูดซับสารอาหารได้น้อยลง จึงไม่ควรดื่มชาในขณะท้องว่าง เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารผิดปกติ โดยเฉพาะชาอู่หลงประเภททิกวนอิมจะมีความเข้มข้นของออกไซด์มาก จึงทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนการดื่มน้ำชาขณะรับประทานอาหารนั้น แร่ธาตุต่างๆ จากผักใบเขียวและผลไม้จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้ จนดูดซึมเข้าไปในร่างกายไม่ได้ เป็นเหตุให้ชาวจีนและชาวอังกฤษนิยมดื่มชาหลังอาหาร หรือดื่มชาควบคู่กับของว่างมากกว่าการดื่มพร้อมมื้ออาหาร

– ชาเป็นเครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มคู่กับยาทุกชนิด เพราะจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพลง เนื่องจากสารสำคัญต่างๆ ของใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กและเกลือแร่ไม่ให้ดูดซึมเข้าร่างกาย

น้ำชา

– การดื่มชามากเกินพอดีติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดการสะสมของสารฟลูออไรด์ และสารออกซาเลต ซึ่งมีผลต่อไต ลำไส้ และกระดูก นอกจากนี้ ชายังไม่เหมาะกับผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคนอนไม่หลับด้วย

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่าการนำใบชาไปใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพนั้นมิได้จำกัดอยู่แค่กรอบของการบริโภค แต่ทุกส่วนของชาล้วนสามารถนำมาประยุกต์เพื่อเสริมสุขภาพได้อย่างน่าทึ่ง

นอกจากนี้ข้อควรระวังต่างๆ เกี่ยวกับชา ตั้งแต่การเลือกซื้อ ชง และดื่ม ล้วนเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องดื่มอันหอมกรุ่นเปี่ยมสรรพคุณบำรุงสุขภาพต้องกลายเป็นยาพิษร้ายที่กัดกร่อนร่างกายของเราไปโดยไม่รู้ตัว

หวังว่าเรื่องลับๆ จากใบชาที่นำมาฝากนี้จะช่วยให้ทุกท่านได้ดื่มด่ำกับกลิ่นหอมและรสชาติอันละเมียดละไมของชาอย่างมีความสุขควบคู่กับสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้า

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 354

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.