แผลร้อนใน โรคของช่องปาก ที่เป็นกันบ่อย
แผลร้อนใน (Aphthous) ได้แก่ แผลเปื่อยซึ่งเกิดกับเยื่อเมือกบุช่องปาก โดยพบว่าเกิดได้กับทุกเนื้อเยื่อของช่องปาก เช่น ริมฝีปากด้านในกระพุ้งแก้ เหงือก และด้านข้างของลิ้น และมักเกิดพร้อมกันหลายๆ แผลหรือหลายๆ ตำแหน่ง (แต่เกิดเพียงตำแหน่งเดียวได้) แผลร้อนในมีได้ทั้งแผลเล็ดขนาด 2-3 มิลลิเมตร 1 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร หรือเป็นแผลเปื่อยเล็กๆ เกิดรวมกันเป็นกระจุก
เมื่อเริ่มเกิดโรคจะยังไม่เกิดแผล แต่มีอาการเจ็บเยื่อเมือกในช่องปากมาก และเยื่อเมือกส่วนนั้นจะแดง บวมเล็กน้อย ต่อจากนั้น 1-3 วันจึงเห็นเป็นแผลเปื่อย มีสีขาว หรือสีเทา หรือสีเหลือง โดยรอบๆ แผลเปื่อยจะมีลักษณะแดง บวม และยังก่ออาการเจ็บมากขึ้นจนส่งผลต่อการกินและการดื่ม
แผลร้อนในเป็นโรคที่เกิดซ้ำได้เสมอ อาจทุกเดือน หรือทุก 2-3 เดือน หรือทุกปี (ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วย มักเกิดประมาณปีละ 3-4 ครั้ง) แต่อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นโรคติดต่อ และไม่กลายเป็นแผลมะเร็ง
แผลร้อนในเป็นโรคที่พบบ่อย ประมาณร้อยละ 20-30 ของประชากรทั้งหมด โดยพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่โดยทั่วไปมักเกิดในช่วงอายุ 16-25 ปี และไม่ค่อยพบเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป โดยพบผู้หญิงเป็นโรคแผลร้อนในบ่อยกว่าผู้ชาย
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
โรคแผลร้อนในเป็นโรคซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุ และจากการศึกษา ไม่พบความสัมพันธ์ชัดเจนของโรคนี้กับภาวะมีประจำเดือน หมดประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือสูบบุหรี่ แต่พบปัจจัยเสี่ยงหรือแนวโน้มที่อาจเพิ่มโอกาสเกิดโรคแผลร้อนใน ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- ชอบกินผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะนาว หรือส้ม
- กัดริมฝีปากหรือลิ้นของตนเอง หรือเคี้ยวอาหารแล้วทำให้เกิดแผลในช่องปาก หรือมีแผลจากการแปรงฟัน
- ขาดวิตามินและเกลือแร่ โดยเฉพาะวิตามินบี เกลือแร่เหล็ก และเกลือแร่สังกะสี
- มีโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการขาดวิตามินและเกลือแร่
- อาจมีความบกพร่องในภูมิคุ้มกันโรค
- อาจแพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน
- ใส่ลวดดัดฟัน
- มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ความเครียด
- นอนไม่หลับ
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผอมลงอย่างรวดเร็วจากสาเหตุต่างๆ