ลดอาการกรน เสียง…ที่ไม่มีใครอยากได้ยิน
มา ลดอาการกรน เสียงที่ไม่มีใครอยากได้ยินกันเถอะ ซึ่งการกรน (snoring) นั้นเกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ส่งผลให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางเดินหายใจแคบลงจนถึงจุดหนึ่ง ความแรงของลมหายใจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา
นอกจากนี้การกรนยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการแห้งและบวมทางเดินหายใจจึงแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน
ผู้ชายมีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือโพรงจมูกอักเสบผู้ที่ทำงานหักโหมหรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กรนได้
หากช่องคอแคบลงอีกเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าวควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยเอาไว้อาจเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือดอัมพาต ตลอดจนทำให้มีปัญหากับคนใกล้ชิด
7 วิธีเลี่ยงเสียงกรน
ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากทำลายโสตคนอื่นโดยไม่ตั้งใจเรามายับยั้งการกรนกันเถอะค่ะ
- ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น
- ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับ เนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ
- จัดท่านอน พยายามจัดท่านอนเพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคง งอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆจนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด
- ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงาย แล้วใช้หมอนเล็กๆหนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนเกิดเสียงกรนได้
- รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
- พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก
- เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้งทำให้เยื่อบุต่างๆในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย


กินอย่างไรไม่กรน
ปัญหาการนอนกรนส่วนหนึ่งเกิดจากการกิน อาหารแบบไหนควรกินหรือควรเลี่ยง ไปดูค่ะ
- ไม่ควรกินอาหารก่อนนอนมากเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารหนักๆในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน ถ้าเป็นไปได้ควรกินอาหารเบาๆ จำพวกซุปร้อนๆ เช่น ซุปมิโซะ ซุปฟักทอง ซุปข้าวโพด หรือกล้วยน้ำว้าสัก 1 – 2 ผล
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดภาวะขาดออกซิเจนสมองและกล้ามเนื้อต่างๆจะสั่งงานให้ร่างกายตื่นขึ้น แต่ถ้าหากถูกกดเอาไว้ด้วยแอลกอฮอล์หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาทจะทำให้สมองตื่นช้า และอาจตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนไม่ทันจนอาจเสียชีวิตได้
- ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆก่อนนอน การนอนกรนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะนอนหลับไม่สนิท ดังนั้นเพื่อการนอนหลับสนิทจนถึงเช้า ลองดื่มนม น้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น หรือน้ำสมุนไพรอุ่นๆ สักแก้วดูนะคะ น่าจะช่วยลดปัญหาได้
สมุนไพรลดอาการกรน
บางคนมีระบบหายใจที่ขาดความชุ่มชื้นและกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง ส่งผลให้ระบบหายใจไม่ดี จึงทำให้นอนกรน ลองใช้สมุนไพรในครัวต่อไปนี้ดูนะคะ แม้ไม่ได้ช่วยลดปัญหาการกรนโดยตรง แต่อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ระบบหายใจ ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกายด้วย
หอมเล็กแก่จัด นอกจากจะมีสรรพคุณแก้หวัด คัดจมูก ลดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแล้ว กลิ่นฉุนของหอมเล็กยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น จะนำมาดมหรือใช้ประกอบอาหารก็ได้ค่ะ
พริกขี้หนู รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และเกิดความชุ่มชื้นในลำคอ สารแคปไซซินช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลม พริกจึงมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
ขิง ใช้เหง้าขิงแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือหรือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม จะช่วยให้สดชื่น ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น
ใบแมงลัก มีฤทธิ์แก้หวัดและหลอดลมอักเสบ นำใบไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น
วิธีสังเกตอาการหยุดหายใจขณะหลับ
ในบางรายที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคอัมพาต ซึ่งอาการนี้สังเกตได้ไม่ยาก ทั้งเจ้าตัวที่นอนกรน รวมทั้งคนใกล้ชิด สามารถสังเกตอาการที่ปรากฏง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
(หนังสือความรู้เรื่องโรค นพ.ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์)
- เสียงกรนดังได้ยินชัดเจน
- ขี้เซาและง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน ปวดศีรษะ และคอแห้งตอนเช้า
- ตื่นกลางดึกบ่อยๆ ขณะนอนหลับมีการพลิกตัวไปมาอย่างผิดปกติ
- หายใจติดขัดและหยุดหายใจเป็นพักๆ
- มีอาการซึมเศร้า ความต้องการทางเพศและสติปัญญาลดลง
- ความดันโลหิตสูง จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 175