6 EXERCISES เยียวยาโรคซึมเศร้า จากคลินิกระดับโลก
ถาม
ไม่ชอบออกกำลังกาย ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายช้า แต่ต้องการออกกำลังกายเยียวยาโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ค่ะ เลยอยากรู้ว่า มีวิธีออกกำลังกายแบบอื่น เพื่อช่วยเยียวยาโรคซึมเศร้าไหมคะ
ตอบ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา บ.ก.ได้บอกเรื่องการออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวช้า Meditative Movement (MM) ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่ง ในการยกความรู้สึกออกมาจากวังวนแห่งความทุกข์และกังวลใจ โดยนำข้อมูลมาจากนิตยสารชีวจิต และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในสถาบันที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกา
แต่จากคำถามนี้ บ.ก.จึงหาแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถืออื่น พร้อมทั้งวิธีการออกกำลังกายที่เพิ่มเติมจากสิ่งที่กล่าวไปแล้ว อย่างคลินิกมาโย สหรัฐอเมริกา
ลองดูจุดประสงค์ของการออกกำลังกาย เพื่อช่วยเยียวยาโรคซึมเศร้า ก่อนเลย นั่นก็คือ ช่วยสมองหลั่งสารสุขออกมา ได้แก่ เอนโดรฟิน เอนโดแคนนาบินอยด์ ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน และลดอุณหภูมิของร่างกาย
นอกจากนี้ ยังช่วยด้านจิตใจอีกด้วย คือ เพิ่มความมั่นใจ เอาใจออกจากเรื่องที่กำลังกลุ่มกังวล เพิ่มโอกาสในการพบปะผู้คน และแก้ปัญหาสุขภาพในทางที่ถูกที่ควร
หลักการออกกำลังกายเพื่อช่วยเยียวโรคซึมเศร้า มี อยู่ 2 ข้อ คือ 1. การทำให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว และใช้พลังงานไปกับการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน งานบ้าน หรืองานอดิเรก 2.การช่วยให้ร่างกายยังคงความแข็งแรง (ทั้งๆ ที่จิตใจไม่แข็งแรง)
โดยออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3- 5 วัน ตามทฤษฎี หากรู้สึกหมดแรงหมดกำลังใจ ไม่อยากเคลื่อนไหวในช่วงแรก คลินิกมาโยก็แนะนำว่า ไม่ต้องหักโหม อาจเริ่มด้วย 10-15 เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้นบ้าง หลังจากอยู่ตัวแล้ว ค่อยเพิ่มเวลามากขึ้น
หากไม่แน่ใจว่าจะออกกำลังกายอย่างไรดี เพราะซึมเศร้าเหลือคณานับ ลำดับแรก ให้ลองคิดถึงสิ่งที่ชอบทำก่อนอย่างอื่น เช่น ทำสวน ทำกับข้าว (ส่วนบ.ก.ชอบออกไปถ่ายรูป) ลำดับต่อมา ให้ลองตั้งเป้าหมายง่ายๆ ที่ทำได้
ลำดับที่สาม อย่าคิดว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดที่จำเป็นต้องทำ เพราะความคิดเช่นนี้ จะทำให้คนที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือวิตกกังวลกับอะไรบางอย่างอยู่แล้ว จะยิ่งกังวล และจะรู้สึกผิดหากทำไม่ได้
ลำดับที่สี่ ให้นึกถึงอุปสรรคและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกาย ทั้งนี้เพื่อปรับการออกกำลังกาย ให้เข้ากับความเป็นจริงในชีวิตที่สุด เช่น หากต้องการอยู่ใกล้แฟน ก็ชวนแฟนไปออกกำลังกายด้วย หรือออกกำลังกายที่บ้าน หากไม่มีเงินซื้อชุดออกกำลังกายแพงๆ ก็ใช้วิธีเดินในสวนสาธารณะ
ลำดับสุดท้ายคือ ชื่นชมตนเองทุกครั้ง ขณะหรือหลังออกกำลังกาย แม้ว่าจะเป็นเพียงการพัฒนาเล็กๆ น้อยๆ หรือถึงจะไม่มีเลย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
ต่อไปนี้คือวิธีการออกกำลังกาย ที่ได้รับการแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
วิธีการออกกำลังกาย เยียวยาโรคซึมเศร้า
- วิ่ง หรือการออกกำลังกายอื่นที่เป็นการแอโรบิก โดยมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า การออกกำลังกายมีผลต่ออารมณ์จริง นายแพทย์เดวิด มูซิน่า จิตแพทย์ ผู้เชียวชาญจากคลีฟแลนด์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแน่ชัดว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกนั้น ช่วยผู้ป่วยจิตเวชได้จริง เพราะขณะวิ่ง สมองจะหลั่งสารสุขออกมามากกว่าการออกกำลังกายประเภทอื่น และสารสุขขนี้เองที่ช่วยให้อารมณ์ดี และลดความเจ็บปวดได้”
- การสร้างกล้ามเนื้อ โดยมีงานวิจัยในผู้ป่วยสโตรก (หรือหลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตัน) ที่ออกกำลังกายด้วยการสร้างกล้ามเนื้อ ติดต่อกันนาน 10 สัปดาห์ อาการซึมเศร้าของพวกเขาลดลง ดร.เลสลี่ เซปปินนิ จิตแพทย์จากเบเวอร์ลี่ฮิลล์ กล่าวว่า “การออกกำลังกายด้วยการสร้างกล้ามเนื้อเป็นเรื่องของการฝึกการควบคุม จึงต้องอาศัยความตั้งใจและการจดจ่ออย่างมาก” ฉะนั้นจึงทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลับมาจดจ่อ รู้ตัวทั่วพร้อมอีกครั้ง
- โยคะ ซึ่งบ.ก.แนะนำไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา งานนี้ใช้การศึกษามายืนยัน โดยเป็นการทดลองในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพศหญิงจำนวน 65 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกฝึกโยคะ 34 คน อีกกลุ่มหนึ่งไม่ทำอะไรเลย พบว่ากลุ่มที่ฝึกโยคะจะลดความคิดลบลงไปได้ ทั้งนี้ นายแพทย์ นอร์แมน อี.โรสเธล อาจารย์สอนวิชาจิตวิทยา จากโรงเรียนแพทย์ในมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การฝึกโยคะจะช่วยจิตจดจ่อ ช่วยเอาชนะความคิดลบ เพิ่มพลังความแข็งแกร่งของจิตใจ
- ไทชิ การออกกำลังกายเนิบช้าและจดจ่อแบบนี้ไม่ต่างจากโยคะ และบ.ก.ก็แนะนำไปแล้วเช่นกัน นักวิจัยศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงวัยชาวจีนจำนวน 14 คน พบว่า หลังจากการฝึกไทชิ ติดต่อกัน 3 เดือน พบว่ามีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- เดิน เนื่องจากเป็นการออกกำลังกายประเภทแอโรบิก การเดินก็ให้ผลลัพธ์ต่อการเยียวยาโรคซึมเศร้า เหมือนการวิ่ง นายแพทย์มูซิน่ายืนยัน
- ทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำสวน โยนลูกบอลเล่นกับลูก หรือล้างรถ ล้วนแล้วแต่ช่วยทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นทั้งสิ้น เนื่องจากแสงอาทิตย์ช่วยเสริมสร้างเซโรโทนิน ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดีอย่างเห็นได้ชัด ดร.โซชานน่า เบนเน็ท นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Postpartum Depression for Dummies กล่าวว่า “การเคลื่อนไหวร่างกายคือ การออกกำลังกาย จงเลือกทำกิจกรรมนอกบ้านสักอย่าง ที่คุณชอบ ก็จะช่วยเยียวยาโรคซึมเศร้าได้แล้ว”
อ้างอิง
https://www.everydayhealth.com/depression-pictures/great-exercises-to-fight-depression.aspx
บทความน่าสนใจอื่นๆ
บ.ก.ขอตอบ : 3 วิธีออกกำลังกาย แทนนั่งสมาธิ แก้จิตตก ลดภาวะซึมเศร้า