วิธีป้องกัน 5 โรคร้าย สำหรับ สาวโสด ขี้เหงา
จะว่าไปแล้ว สาวโสด ก็มีโอกาสเผชิญปัญหาสุขภาพเช่นเดียวกับสาวไม่โสดนั่นละค่ะ เพียงแต่อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นบางอาการและบางโรคมากกว่าผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว
สาวโสด มีชีวิตอิสรเสรี สนุกเพลิดเพลินกับอาหารการกิน หรือบางคนก็เผลอทุ่มเททำงานมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าไม่มีภาระต้องรับผิดชอบแต่ความจริงแล้ว สาวโสดทุกคนมีภาระสำคัญประการหนึ่งนั่นคือ การดูแลตัวเองให้แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน เรามาดูกันว่าคุณสาวๆ ควรจะดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อป้องกันโรคฮิตที่พบบ่อยในสาวโสด
-
ซึมเศร้า
สาวโสดมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากความเหงาว้าเหว่เพราะไร้คู่ ความเครียดและกดดันจากการงาน การเงิน สังคม รวมถึงความผิดปกติของระดับสารเคมีในสมองและพันธุกรรม
ถ้าสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ รู้สึกเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว ขาดความมั่นใจ ไม่สนใจเรื่องรอบตัว ขาดสมาธิ อ่อนเพลียตลอดเวลา ทำอะไรชักช้ากินจุหรือกินน้อยลง นอนไม่อิ่มหรือนอนน้อยลง โทษตัวเองบ่อย
หากคุณมีอาการ 5 ข้อขึ้นไปนาน 2 สัปดาห์ อาจเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า และถ้าถึงขั้นรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ก็แสดงว่ามีอาการซึมเศร้าระดับรุนแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน
Prevention
เราสามารถป้องกันโรคซึมเศร้าได้ด้วยการออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่รู้สึกดีมีความสุข เมื่อรู้ตัวว่าเริ่มคิดด้านลบให้เปลี่ยนวิธีคิดและทำอย่างอื่นเสีย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น และจำไว้ว่าถ้ารู้สึกเศร้าเมื่อใด ให้รีบสนใจเรื่องดี ๆ หรือหาเรื่องสนุกทำทันที
นายแพทย์มาโนช หล่อตระกูลแนะนำไว้ในหนังสือ โรคซึมเศร้า ว่า ให้รู้จักหาสาเหตุของปัญหาและแก้ปัญหานั้น พักผ่อน ท่องเที่ยว คุยกับตัวเอง และมองโลกในแง่บวก
-
ไมเกรน
ไมเกรนนั้นเป็นอาการปวดศีรษะที่ทุกข์ทรมานมาก ยังไม่มีใครทราบสาเหตุก่อโรคแน่ชัด แต่สันนิษฐานกันว่า เกิดจากความผิดปกติของสารเซโรโทนิน (Serotonin) และสารเคมีชนิดอื่นๆ ในสมอง นอกจากนี้ยังมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ ความเครียด แสงสว่างจ้า แสงไฟกะพริบ การเพ่งมองอะไรนาน ๆ อยู่ในที่ที่มีเสียงดัง อยู่ในบริเวณที่มีความร้อนหรือเย็นเกินไป อดนอน อดอาหาร ดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แพ้อาหารบางชนิด เช่น ถั่ว กล้วย ช็อกโกแลต นม เนย และช่วงใกล้มีประจำเดือน
Prevention
รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิงดร.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ แนะนำไว้ในหนังสือ แก้ปวดก่อนป่วย ว่า ให้สังเกตตัวเองว่ามีอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แล้วพยายามหลีกเลี่ยงเสีย
สำหรับวิธีป้องกันอาการปวดไมเกรนได้ดีคือ การออกกำลังกายแบบเบาๆ เป็นประจำ วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
-
ปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่
อาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ มักเกิดจากการนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ เช่นทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ขับรถท่ามกลางการจราจรติดขัดนาน ๆ เป็นประจำ การนั่งชันคอนานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ ตึงและเกร็ง
Prevention
เราสามารถป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า และไหล่ได้ โดยการปรับท่านั่งให้ถูกต้องปรับระดับเก้าอี้และโต๊ะทำงานให้เหมาะสม เท้าวางราบกับพื้น นั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่แหงนคอหมั่นบริหารกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ โดยการบิดและหมุนไปมา
หนังสือ ผู้หญิงกับการดูแลสุขภาพ โดย แพทย์หญิงพิสุทธิพร ฉ่ำใจ แนะนำวิธีบริหารกล้ามเนื้อแบบง่าย ๆ โดยเอียงศีรษะให้หูแตะไหล่ข้างหนึ่ง แล้วค่อย ๆ หมุนศีรษะเป็นวงกลมอย่างช้าๆ ก็จะช่วยลดอาการตึงเกร็งและคลายกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี
-
อ้วน
ความอ้วนไม่เพียงแต่ทำให้ไม่สวย ยังนำสารพัดโรคภัยมาเยือนอีกด้วย ก่อนที่สาวโสดผู้รักความงามจะสรุปว่าตัวเองอ้วน ควรคำนวณดัชนีมวลกายก่อน
Prevention
ถ้าไม่อยากอ้วนต้องควบคุมเรื่องอาหารการกินให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมและควรออกกำลังกายเป็นประจำ แพทย์หญิงธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แนะนำไว้ในหนังสือ 188 เคล็ดลับชะลอวัย สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ว่า ควรกินอาหารปริมาณน้อยดีกว่าปริมาณมาก เพราะการกินปริมาณมากทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายต้องทำงานเพิ่มขึ้น และยังปลดปล่อยฟรีแรดิคัลออกมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกายแน่นอน
และควรคำนวณดัชนีมวลกายเพื่อตรวจสอบว่าเราอ้วนเกินไปหรือยัง โดยใช้สูตรดัชนีมวลกาย = น้ำหนักเป็นกิโลกรัม ÷ ความสูงเป็นเมตร² เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม และสูง 150 เซนติเมตร (1.50 เมตร)
50 ÷ (1.5 × 1.5) = 22.22 ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 18.5 - 22.9
-
มะเร็งในผู้หญิง
โรคมะเร็งที่ผู้หญิงโสดเท่านั้นที่มีสิทธิ์เป็นมี 4 โรคหลัก ๆ ก็คือ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่และมะเร็งมดลูก
8.1 มะเร็งเต้านม พบมากเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย ยังไม่ทราบสาเหตุก่อโรคแน่นอน แต่มีรายงานกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงว่า อาจเกิดจากมีถุงน้ำหรือพังผืดบางชนิดในเต้านม มีคนในครอบครัวป่วย เป็นโรคอ้วนความดันโลหิตสูง และเบาหวาน มีความเครียด ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปีและหมดประจำเดือนหลังจากอายุ 55 ปีไปแล้ว มีลูกคนแรกเมื่ออายุ 35 ปีแต่งงานแต่ไม่มีลูก และโสด
Prevention
การป้องกันมะเร็งเต้านมทำได้โดยไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในห้องที่มืดสนิท ระวังการใช้เครื่องสำอางหรือสมุนไพรที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนหลีกเลี่ยงสารพิษต่าง ๆ ในอาหาร สิ่งแวดล้อม เช่น ยาฆ่าแมลง ตรวจเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกปี เมื่อมีก้อนผิดปกติให้รีบปรึกษาแพทย์
8.2 มะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมาหรือเชื้อเอชพีวีคนที่มีโอกาสติดเชื้อ ได้แก่ ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยกว่า 17 ปี หรือตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยหรือคลอดลูกมากกว่า 4 คน กินยาคุมกำเนิดนาน 5 - 10 ปี เคยเป็นโรคเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เช่น เริม ซิฟิลิส หนองใน ฯลฯ รวมทั้งไม่เคยตรวจมะเร็งปากมดลูก
Prevention
หลีกเลี่ยงการรับสารก่อมะเร็ง หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย งดสูบบุหรี่ ฉีดวัคซีนป้องกัน ตรวจหามะเร็งปากมดลูกทุกปีซึ่งการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
8.3 มะเร็งรังไข่ ข้อมูลจาก สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ระบุว่า มักพบโรคนี้ในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 50 - 60 ปีหรือหลังหมดประจำเดือน ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง คนโสด ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อย ผู้ที่ได้รับยากระตุ้นการตกไข่มีความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้แป้งที่มีส่วนผสมของทัลคัม (Talcum) โรยในที่อับชื้นเป็นประจำก็มีโอกาสเสี่ยงเช่นกัน
การตรวจหามะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกค่อนข้างทำได้ยาก เพราะเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยมักไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องหรือท้องโตขึ้น ฯลฯ
Prevention
วิธีป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ทำได้เช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ คือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารเคมีหรือย่านอุตสาหกรรม ควรตรวจภายในปีละ 1 ครั้งหลังอายุ 40 ปี
8.4 มะเร็งมดลูก มักเกิดกับผู้หญิงวัย 45 ปีขึ้นไปซึ่งเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มคือคนที่น้ำหนักเกิน เป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเป็นสาวโสดหรือแต่งงานแล้วไม่มีลูก ประจำเดือนมาตั้งแต่อายุน้อยและหมดหลังอายุ 52 ปี
Prevention
ควรลดความอ้วนถ้าน้ำหนักเกิน ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ รสเค็มน้อย หวานน้อยกินอาหารที่มีไขมันน้อย และไม่เครียด
จากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 387 (16 พฤศจิกายน 2557)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
นวดไทย นวดพื้นบ้าน 4 ภาค แก้โรคผู้หญิง โรคออฟฟิศซินโดรม
เคล็ดลับต้าน 4 โรคมะเร็งในผู้หญิง สไตล์สาวโสด
6 ความลับเกี่ยวกับ จุดซ่อนเร้น ที่ผู้หญิงอย่างเราอาจยังไม่เคยรู้