กินเร็วไป
หลายคนอาจเข้าใจว่า การรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว (กินเร็ว) มีประโยชน์ตรงที่ทำให้ประหยัดเวลาและทำให้อิ่มเร็วขึ้น ซึ่งความจริงเป็นความเข้าใจผิดครับ เพราะการที่เรากินเร็วเกินไป จะทำให้ระบบย่อยอาหารของเราทำงานหนักกว่าปกติหลายเท่า ส่งผลให้เกิดอาการอึดอัดภายในช่องท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นหน้าอกและอาเจียนออกมาได้ในที่สุด ซึ่งการอาเจียนนี้เป็นกลไกที่ร่างกายใช้ในการกำจัดอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ออกมา

เคี้ยวไม่ละเอียด
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เป็นการเพิ่มพื้นที่ของอาหารให้มีโอกาสสัมผัสกับน้ำย่อยมากขึ้น ซึ่งเมื่ออาหารผ่านการลำเลียงไปถึงกระเพาะอาหาร เข้าสู่กระบวนการย่อยกระเพาะอาหารจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์พิเศษกล่าวว่า ในกรณีของคนที่เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง ขนมปัง) ซึ่งย่อยในปาก หากรีบกลืนจะยิ่งทำให้กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น เพราะสมองจะสั่งการให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้
กินอาหารไม่เป็นเวลา
นายแพทย์พิเศษอธิบายต่อว่า ทุกครั้งที่อาหารถูกลำเลียงไปถึงกระเพาะอาหาร สมองจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมา ซึ่งในคนปกติที่รับประทานอาหารเป็นเวลา น้ำย่อยจะหลั่งออกมาในปริมาณที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลา
ในกรณีของคนที่กินอาหารไม่เป็นเวลากินจุบจิบ กินผิดเวลา ก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารปล่อยน้ำย่อยออกมาบ่อยๆ และต้องทำงานหนักขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดแสบในท้องอยู่เนืองๆ
ติดหวาน
การกินอาหารที่มีรสหวาน (เช่น ลูกอมน้ำอัดลม ช็อกโกแลต) ก่อนรับประทานอาหารนอกจากทำให้เรารู้สึกหิวน้อยลงและทานอาหารได้น้อยกว่าปกติแล้ว ความหวานยังทำให้เกิดความแปรปรวนในกระเพาะอาหารอีกด้วย
ทั้งนี้ ในระหว่างที่เรารับประทานอาหารกระเพาะอาหารจะหลั่งน้ำย่อยออกมาตามปกติ แต่เนื่องจากรสหวานไปกระตุ้นไม่ให้เรารู้สึกอยากอาหาร น้ำย่อยที่ออกมาจึงไม่ได้ย่อยอาหารอย่างที่ควรจะเป็น ในกรณีของคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่เดิม อาจส่งผลให้แผลที่เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารกว้างมากขึ้น
