กลไกการติดเชื้อวัณโรค
นายแพทย์ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักวัณโรคกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายกลไกการติดเชื้อวัณโรคว่า
ผู้ป่วยแพร่เชื้อวัณโรคได้ทางเดียวคือ ทางละอองเสมหะจากการไอ จาม ตะโกน หรือตะเบ็งเสียง แต่การหายใจตามปกติจะไม่มีละอองเสมหะออกมา
ปอดของเรามีหลอดลมที่แยกแขนงเล็กลงๆ จนถึงปลายสุดของหลอดลม เรียกว่า ถุงลมปอด ซึ่งมีอยู่ประมาณสามร้อยล้านถุง รอบถุงลมยังมีเส้นเลือดฝอยห่อหุ้มอยู่ เพื่อดูดซับออกซิเจนจากถุงลมไปเลี้ยงร่างกาย
เมื่อเราสูดหายใจเอาฝอยละอองเสมหะที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป เชื้อวัณโรคในละอองฝอยขนาดเล็กจะเข้าไปถึงถุงลมได้ ขณะที่ละอองใหญ่จะติดอยู่ที่ขนจมูกหรือขนที่หลอดลม (Cilia) และน้ำเมือกตามผนังหลอดลม ซึ่งสามารถกำจัดออกได้โดยการไอหรือจาม และทอนซิลก็จะช่วยกำจัดเชื้อโรคได้อีกทาง
ภายในถุงลมจะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งเรียกว่า “แมโครฟาจ” (Macrophage) มีหน้าที่กินและทำลายเชื้อโรคที่ลอยเข้ามาในถุงลม ซึ่งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราส่วนใหญ่จะถูกกำจัดโดยแมโครฟาจ แต่เชื้อวัณโรคมีผนังเซลล์พิเศษกว่าเชื้ออื่น จึงสามารถอยู่ในแมโครฟาจได้ และขยายพันธุ์แบ่งตัวในแมโครฟาจนี่เอง
เมื่อแมโครฟาจติดเชื้อวัณโรค เม็ดเลือดขาวจะเข้ามาโอบล้อมแมโครฟาจนั้นไว้ เพื่อกักมิให้เชื้อวัณโรคออกมาจากแมโครฟาจ เราเรียกผู้ที่มีเชื้อวัณโรคหลบซ่อนอยู่ในแมโครฟาจนี้ว่า “วัณโรคแฝง” หรือ “ผู้ติดเชื้อวัณโรค” (Latent TB Infection) ระยะนี้จะไม่มีอาการใดๆ และไม่สามารถแพร่เชื้อวัณโรคแก่ใครได้
อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่ติดเชื้อวัณโรคแล้วไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นวัณโรคทุกคน เพราะตามสถิติพบว่า ประมาณ10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดเชื้อเท่านั้นที่ป่วย และจะทยอยป่วย ไม่ได้ป่วยทันที เช่น บางคนติดเชื้อตั้งแต่เด็ก อาจจะมาป่วยตอนอายุ 60 ถึง 70 ปีก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีภูมิชีวิตแข็งแรงหรือไม่
ทางรอดวัณโรค
แม้วัณโรคจะเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่ก็ป้องกันและรักษาได้ คุณหมอศรีประพาและคุณหมอยุทธิชัยแนะนำดังต่อไปนี้
1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะภูมิคุ้มกันจะช่วยกักกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้
2. อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทดี มีแสงแดดส่องถึง จะช่วยให้ปริมาณเชื้อวัณโรคเบาบางลง เนื่องจากเชื้อไม่ทนต่อแสงแดด แต่จะอยู่ได้นานเป็นเดือน ในอุณหภูมิห้อง
3. ผู้ป่วยต้องใช้ผ้าปิดจมูกเวลาไอหรือจามจะช่วยเก็บละอองเสมหะไว้ได้เกือบหมด ลดโอกาสแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิด
4. ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาครบถ้วน จะช่วยให้แพร่เชื้อน้อยลงได้เมื่อกินยาครบ 2 สัปดาห์ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยควรมีพี่เลี้ยงดูแลและติดตามการกินยา เพื่อช่วยจัดยาให้ผู้ป่วยกินทุกวันต่อหน้าพี่เลี้ยง รวมถึงควรบันทึกการกินยาทุกครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน วิธีนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ลืมกินยา ไม่ขาดยาและไม่เกิดเชื้อดื้อยา
เมื่อไรควรไปตรวจวัณโรค
หากมีอาการไอค็อกแค็กอยู่เป็นประจำ อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของวัณโรค
คุณหมอศรีประพาแนะนำให้สังเกตอาการดังต่อไปนี้
- ไอติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ อาจไอมีเลือดปนหรือมีเสมหะสีเหลืองปนเขียว อาการมักคล้ายไข้หวัด
- มีไข้ต่ำ และมักเป็นช่วงบ่าย
- เหงื่อออกมากตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดลงเกิน 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ใน 1 เดือน
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 291
บทความน่าสนใจอื่นๆ
5 วิตามิน และแร่ธาตุ เยียวยาหวัดและภูมิแพ้