รวมวิธีบอกลา ยาลดความดัน พร้อมรับมือความดันโลหิตสูงด้วยตัวเอง
วันนี้ เรามีข้อมูลน่าสนใจ เกี่ยวกับการรับมือโรคความดันโลหิตสูง พร้อมวิธีดูแลตนเองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อบอกลา ยาลดความดัน มาฝากกันค่ะ
ปฏิบัติการบอกลายาลดความดัน
“คุณไม่ควรจะต้องกินยาลดความดันไปตลอดชีวิต”
นายแพทย์วิวัฒน์ วิริยกิจจา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ท่านว่าอย่างนั้น
กูรูสุขภาพหลายท่านก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง อธิบายว่า
“ยาส่วนมากที่หมอเขาให้คือ ยาลดความดันโลหิต ซึ่งไม่ใช่ยารักษา แต่เป็นยาคุมอาการ พอหยุดกินยาความดันโลหิตก็จะสูงขึ้นอีก เป็นการแก้เฉพาะปลายเหตุ”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี บอกข้อดีของการไม่กินยาว่า
1. ผู้ป่วยจะดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติสุข เพราะไม่ต้องรับทุกข์จากผลข้างเคียงของยา
2. ทำให้สิ้นเปลืองน้อยมาก เพราะไม่ต้องซื้อยาหรือต้องเจาะเลือดตรวจพิเศษบ่อยครั้ง
3. ผู้ป่วยมีโอกาสได้ดูแลสุขภาพของตัวเอง ทำให้มีขวัญและกำลังใจมากกว่าการกินยาตามแพทย์สั่ง ถ้าไม่กินยาแล้วจะคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติได้อย่างไร เรามีปฏิบัติการบอกลายาลดความดันมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
Step 1 หยุดพฤติกรรมทำป่วย
อาจารย์สาทิสอธิบายว่า ต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง (โดยเฉพาะผู้มีน้ำหนักมาก) มักจะเกิดจากมีคอเลสเตอรอลสูง ฉะนั้น แนะนำให้แก้ที่ต้นเหตุ คือ หยุดกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไขมัน
และอาหารหวานมันต่างๆ ควรกินอาหารชีวจิตแทน
ถ้าเป็นผู้มีน้ำหนักปกติให้กินอาหารชีวจิตสูตร 1 แต่ถ้ามีน้ำหนักเกินให้กินสูตร 2 ระหว่างนี้ให้กินยาลดความดันต่อไป ต่อเมื่อปฏิบัติตัวตามแนวชีวจิต และความดันโลหิตเริ่มลดลงแล้ว ให้ลดการกินยาลงและเลิกในที่สุดแต่ย้ำว่า ต้องค่อยๆผ่อนปริมาณยา อย่าลดฮวบฮาบทันที
Step 2 ออกกำลังกายพิชิตความดัน
คอเลสเตอรอลที่มีมากเกินไปในร่างกายเป็นตัวการร้ายที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง คุณหมอวิวัฒน์อธิบายว่า
“ปกติเส้นเลือดจะมีความยืดหยุ่นและสามารถขยายออกได้เล็กน้อย เมื่อได้รับเลือดจากหัวใจที่บีบตัวเต็มที่ ความยืดหยุ่นนี้ทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ คือ ไม่สูงเกิน 120 มิลลิเมตรปรอท แต่หากมีไขมันไปเกาะ เส้นเลือดจะแข็งตัว ไม่ยืดขยาย เมื่อหัวใจบีบตัว ความดันโลหิตจึงพุ่งสูงเกินกว่า 120 มิลลิเมตรปรอท”
การออกกำลังกายคือทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาโรคความดันโลหิตสูงได้ คุณหมอวิวัฒน์กล่าวดังนี้
“การออกกำลังกายช่วยรักษาความดันโลหิตสูงได้ เพราะหนึ่ง ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน โดยเฉพาะไขมันซึ่งจะทำให้ไขมันที่เกาะตามเส้นเลือดลดลง
“สอง เมื่อออกกำลังไปสักพัก ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข มีรายงานวิจัยว่า สารสุขตัวนี้ช่วยลดความดันโลหิตได้
“สาม ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เส้นเลือดทั่วร่างกายแข็งแรง มีความยืดหยุ่น การบีบตัวของหัวใจมีประสิทธิภาพ คือ ใช้แรงบีบตัวเพียงเล็กน้อย แต่ส่งเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ จึงทำให้ความดันโลหิตลดลงได้”
ส่วนประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น คุณหมอวิวัฒน์แนะนำว่า
“ผมแนะนำการวิ่ง เดิน หรือรำกระบอง ยึดหลักว่า ต้องให้เหนื่อยต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีเทคนิคง่ายๆคือ ไม่ต้องให้เหนื่อยมากจนทนไม่ไหว แต่ให้เหนื่อยพอดีๆและใช้เวลานานประมาณสัก 30 นาทีขึ้นไป
“ระหว่างออกกำลังกาย ถ้ารู้สึกเหนื่อย ปวด ขอให้หยุด อย่าฝืน พอหายเหนื่อยแล้วค่อยทำต่อ แต่ไม่ใช่ว่าเหนื่อยนิดเดียวแล้วหยุดทำจะไม่ได้ประโยชน์”
นอกจากนี้คุณหมอวิวัฒน์ยังแถมเรื่องเล่าเพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยที่อยากโบกมือลายาลดความดันดังนี้ค่ะ
“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอด้านอายุรกรรม เขามีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ผมแนะนำให้วิ่ง เขาก็ทำตาม วิ่งทุกวัน จนตอนนี้ไม่ต้องกินยาลดความดัน น้ำตาลในเลือดก็เป็นปกติ เพื่อนยังแนะนำให้คนไข้ของเขาวิ่งเพื่อแก้โรคความดันโลหิตสูงด้วย”
แค่ 2 ขั้นตอน ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ เอาล่ะ ใครที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ลองตั้งเป้าว่าฉันจะลดการกินยาลดความดันให้ได้ ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลค่ะ
ติดตามข้อมูลสุขภาพน่าสนใจได้ที่ เฟซบุคแฟนเพจ : นิตยสารชีวจิต
ติดตาม instagram : cheewajitmedia
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เช็กสัญญาณเตือน อาจเป็นความดันสูงหากมีอาการเหล่านี้ (พร้อมวิธีรับมือ)
ความเครียด และนอนไม่หลับ ปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง
แยกให้ออก ไขมันดีหรือร้าย ต้านโรคความดันโลหิตสูงได้หากกินเป็น
แจกสูตรต้านโรคความดันโลหิตสูง : สูตรชีวจิต