อาการร้อนวูบวาบ, แก้ร้อนวูบวาบ, วัยทอง, ผักผลไม้, นวดกดจุดแบบจีน

นวดกดจุดแบบจีน แก้ร้อนวูบวาบ

นวดกดจุดแบบจีน แก้ร้อนวูบวาบ

แก้ร้อนวูบวาบ ผู้หญิงเมื่ออายุย่างเข้า 40 ปี รังไข่จะเริ่มเสื่อมสภาพ ปริมาณการตกไข่จะลดลง และในที่สุดก็เข้าสู่วัยหมดระดู ซึ่งมักใช้เวลา 4 ปี ฉะนั้นการหมดระดูของผู้หญิงจะอยู่ในช่วงอายุ 43 – 52 ปี

การเข้าสู่วัยหมดระดู ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ผู้หญิงจะต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเริ่มมีอาการบางอย่างมารบกวนทำให้สภาพจิตใจแย่ลง

สัญญาณเตือนก่อนหมดระดู เริ่มจากมีรอบระดูยาวขึ้นเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนต่างๆ เช่น ฮอร์โมนเอสโทรเจนที่รังไข่สร้างจะลดลง ระดับฮอร์โมนเอฟเอสเอช (FSH – Follicle Stimulating Hormone) ที่สร้างจากต่อมใต้สมองเพื่อกระตุ้นให้มีการตกไข่จะสูงขึ้น

อาการที่พบได้บ่อย คือ ร้อนวูบวาบโดยจะเกิดผื่นแดงบริเวณศีรษะ คอ หน้าอก แบบทันทีทันใด เหงื่อออกมาก ใจสั่นอาการมักเกิดนาน 2 - 3 วินาที ถึง 10 นาทีหรือเป็นถี่ทุก 1 - 2 ชั่วโมง อาการจะปรากฏนาน 1 - 2 ปี มักเป็นบ่อยช่วงกลางคืน ซึ่งรบกวนการนอนหลับและนำไปสู่ภาวะเครียดได้

เชื่อว่า อาการร้อนวูบวาบ เกิดจากระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ อาการจะมากหรือน้อยมีปัจจัยเรื่องเชื้อชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยผู้หญิงในทวีปอเมริกาและยุโรปจะมีอาการมากกว่าผู้หญิงในทวีปอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น ความอ้วน การสูบบุหรี่ความเครียด หรือเคยเป็นโรคซึมเศร้า

สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนกระตุ้นอาการได้ เช่น อยู่ในสภาพอากาศร้อนจัด ใส่เสื้อผ้ารัด กินอาหารรสเผ็ดร้อน หรือตกอยู่ในสถานการณ์รีบเร่ง เคร่งเครียด

แพทย์แผนจีน อธิบายสาเหตุที่รังไข่ทำงานลดลงว่า เกิดจากพลังไตอ่อนแอ โดยเฉพาะไตหยิน เมื่ออายุมากขึ้นความเป็นหยินซึ่งหมายถึงน้ำในร่างกายจะลดลง เมื่อน้ำลดลงทำให้เกิดความร้อนได้ง่าย อาการร้อนวูบวาบที่เกิดขึ้นจึงมาจากภาวะหยินไม่พอ การปรับสมดุลด้วยอาหารจึงมีประโยชน์อย่างมากในผู้ที่มีอาการร้อนวูบวาบ

อาหารที่แนะนำ ได้แก่ ถั่วเหลือง แครอต ข้าวโพด งาดำ เชอร์รี่ น้ำมะพร้าว แอ๊ปเปิ้ล ตังกุย ควรงดอาหารมัน มีรสเค็ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารกลุ่มนี้จะยิ่งทำลายหยินและทำให้เกิดความร้อนมากขึ้น

ผักผลไม้, แก้ร้อนวูบวาบ, วัยทอง, อาการร้อนวูบวาบ
กินผักและผลไม้ ช่วยปรับสมดุลร่างกาย แก้อาการร้อนวูบวาบได้

นอกจากอาการร้อนวูบวาบที่บ่งบอกว่าร่างกายมีความร้อนมากขึ้นแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หงุดหงิดขี้โมโห ท้องผูก ปากแห้ง คอแห้ง นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง หากปล่อยให้ความร้อนดำเนินต่อไปโดยไม่ควบคุมร่วมกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง จะเป็นการกระตุ้นให้มีภาวะเลือดหนืดและเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันตามมา เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองเพิ่มขึ้น

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.