ไขปัญหา วัคซีนโควิดในเด็ก ทำไมยังฉีดไม่ได้!
เรื่องการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กดูเหมือนว่าเป็นเรื่องร้อนใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ทำไมนะเด็กๆ ถึงยังไม่ได้ฉีดสักที วันนี้แอดจะมาเล่าให้ฟัง พร้อมบอกวิธีปฏิบัติตัวของผู้ปกครองในระหว่างที่เด็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีนค่ะ
สาเหตุแรกที่ทำให้เด็กๆ อายุต่ำกว่า 18 ปียังไม่ได้ฉีดนั้นก็มาจากในช่วงต้นยังไม่มีการทดสอบวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำให้ไม่มีผลการศึกษาว่าเด็กในวัยดังกล่าวเมื่อได้รับวัคซีนแล้วจะมีผลเช่นไร
แต่ขณะนี้มีผลทดสอบออกมาแล้ว และในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12 – 17 ปี ในขณะที่เด็กอายุ 12 ปีลงมานั้นกำลังอยู่ในระหว่างการอนุมัติใช้ สำหรับประเทศอังกฤษนั้นก็กำลังจะมีการประชุมหารือเรื่องการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กเช่นเดียวกัน
สาเหตุที่สองคือ โรคที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนโควิด แม้ว่าจำนวนเด็กอายุตั้งแต่ 12 – 17 ปี ที่ติดเชื้อโควิดจะสูงขึ้น แต่หลายประเทศยังรีรอที่จะฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นั่นก็เพราะมีการศึกษาพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั่นเอง ซึ่งนี่เป็นความเสี่ยงที่พบได้ในอัตรา 1 ใน 5 หมื่นคนและมักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
ในขณะเดียวกันก็มีศึกษาแล้วว่า แม้เด็กๆ เหล่านี้จะติดโควิด แต่เพราะความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันร่างกาย ก็ทำให้อาการไม่รุนแรง จึงเป็นข้อถกเถียงกันว่าหรือเราไม่ควรนำเด็กๆ เหล่านี้ไปเสี่ยงกับการฉีดวัคซีนที่อาจส่งผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีผลรุนแรงกว่าการติดเชื้อโควิด
แต่ถึงอย่างนั้นในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยได้จัดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวอยู่ในกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เนื่องจากเด็กในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยร้ายแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด
และด้วยผลการศึกษาที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ ทำให้ในขณะนี้ แต่ละประเทศมีแนวทางการฉีดวัคซีนในเด็กที่แตกต่างกันออกไป คือ
- สหรัฐอเมริกา อิสราเอล เยอรมัน และฝรั่งเศส ฉีดไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 ปี ขึ้นไป
- ชิลี ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับเด็กอายุ 6 ปี ขึ้นไป
- อังกฤษ และไทย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กอายุ 12 – 15 ปี ที่มีโรคอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
- คิวบา ประกาศฉีดวัคซีน Abdala และ Soberana ซึ่งเป็นวัคซีนโปรตีน ที่ผลิตเองในประเทศ ให้กับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป
และในระหว่างที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ทางราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลาน
- แนะนำให้ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดฉีดวัคซีน
- สร้างวินัยในการป้องกันตัวเองให้กับเด็ก เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม
- หลีกเลี่ยงสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- แนะนำผู้ปกครองทำงานที่บ้าน
- งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก
แอดเพิ่งอ่านเจอว่าในเร็วๆ ซึ่งอาจเป็นช่วงเดือนตุลาคม หรือต้นปีหน้าอาจมีการอนุมัติใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี ก็อาจจะทำให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่คลายความกังวลลงได้บ้าง
ข้อมูล ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย, กรุงเทพธุรกิจ, Thai PBS
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด แนะผู้มีอาการแพ้ อาจไม่ควรฉีดวัคซีนบางยี่ห้อ
ฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ อีกหนึ่งวิธีช่วยผู้ป่วยทุเลาโรค
เปิด 4 ขั้นตอน กว่าจะได้ วัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยเพียงพอ ต้องผ่านอะไรบ้าง