โรคเอสแอลอี
จากประสบการณ์ของตัวเอง เดิมดิฉันมีปัญหาเรื่องปวดข้อนิ้วมือตอนกลางคืนถึงเช้าบ่อยๆ ถึงขนาดเคยสงสัยว่าตัวเองจะเป็น “ โรคเอสแอลอี ”
เมื่อเริ่มรำกระบองทุกท่าสักสัปดาห์หนึ่ง อาการที่เป็นมาเป็นปีก็ดีขึ้น และเมื่อทำต่อไปเรื่อยๆ พบว่าอาการปวดนั้นหายแล้ว
…ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปาฏิหาริย์ใดๆ แต่เป็นเพราะการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีนั่นเอง
เช่นกันกับหลายโรค หรือจะเรียกว่าทุกโรคเลยก็ได้ หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างดี โรคที่ว่าร้ายนักร้ายหนาก็บรรเทา หรือไม่ก็หายได้อย่างมหัศจรรย์
ไม่เว้นแม้แต่ โรคเอสแอลอี (SLE ย่อมาจาก Systemic Lupus Erythematosus) หรือที่เราคุ้นหูในชื่อโรคพุ่มพวง โรคร้ายไร้สาเหตุไร้เชื้อโรค แต่ก่ออาการรุนแรง คร่าชีวิตผู้ป่วยไปนักต่อนัก
หากแต่ประสบการณ์ของผู้ป่วยเอสแอลอีทั้งสามคนที่มาเล่าให้ฟังช่วยสะท้อนการบรรเทาโรคด้วยวิธีง่ายๆ…ดูแลตัวเอง
อย่ารอช้า ไปฟังพวกเธอกันเลยค่ะ
บอกตัวเองไม่ให้ป่วย…ช่วยได้
คุณเชื่อเรื่องจิตสั่งกายไหมคะ จิตบอกว่ากายป่วย โรคที่เป็นก็ทรุดลงเรื่อย ตรงกันข้าม จิตบอกว่ากายไม่ป่วย โรคที่ใครๆ ต่างส่ายหน้ายอมแพ้เพราะคิดว่าแก้ไขอะไรไม่ได้ กลับหยุดก่ออาการให้รำคาญใจซะอย่างนั้น
คุณวิไลลักษณ์ ฐิติพลดำรง วัย 39 ปี จะเล่าเรื่องมหัศจรรย์ของ “จิตสั่งกาย” ให้ทราบกันค่ะ
เธอเริ่มป่วยด้วยโรคเอสแอลอีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว “อยู่ดีๆ ก็เหนื่อยเพลียมาก ไม่มีแรงทำงานโดยไม่รู้สาเหตุ มาทำงานที่ออฟฟิศก็ต้องขอเวลานอน คือจะง่วงนอนตลอดเวลา นอนไปปุ๊บก็จะรู้สึกสดชื่น
แต่แป๊บเดียว แล้วก็กินไม่ได้ เดินไม่ได้ เดินไปนิดหนึ่งก็เหนื่อยน้ำหนักลดลงเยอะ มากกว่า 5 กิโลกรัมในเดือนเดียว แต่ไม่มีไข้
“ที่ผิวหนังก็มีรอยเขียวๆ เหมือนโดนอะไรทุบ แถมปวดกระดูกสันหลังมากและปลายนิ้วเจ็บเหมือนถูกตอก ตอนนั้นแก้ปัญหาด้วยการเอามือแช่ในน้ำอุ่น หรือไม่ก็จับอะไรร้อนๆ ตลอดเวลา”
เพราะไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นอะไรมาก คุณวิไลลักษณ์รออยู่เป็นเดือนกว่าจะไปหาหมอ ซึ่งวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอสแอลอีและมีการอักเสบที่ระบบเลือด ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ
“เกล็ดเลือดต่ำมากจะทำให้เพลียมาก รอยเขียวๆ ที่ผิวหนังหมอบอกว่าเป็นเพราะมีเลือดออกใต้ผิวหนัง ที่เจ็บปลายนิ้วนั้นเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยตีบและเลือดมาเลี้ยงไม่ได้”
เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยเอสแอลอีรายอื่นๆ คุณหมอรักษาด้วยยา ซึ่งในกรณีของคุณวิไลลักษณ์ เธอต้องกินยาในปริมาณสูงมากๆ มากกว่า 10 เม็ดต่อวัน ส่งผลให้เธอได้รับผลข้างเคียงจากยาในเวลาอันรวดเร็วราวสองเดือนหลังจากเริ่มกินยา
“พอกินเยอะๆ จะรู้สึกใจไม่สงบ กระวนกระวาย หงุดหงิดงุ่นง่านนอนไม่หลับทั้งวันทั้งคืน หน้าบวม ตัวบวมฉุ”
ในรายของคุณวิไลลักษณ์ หลังจากกินยาสักพักเกล็ดเลือดจะเพิ่มขึ้น หมอก็จะลดยาลง แต่เมื่อใดก็ตามที่ตรวจพบว่าเกล็ดเลือดต่ำอีก หมอก็จะสั่งยาในปริมาณมากขึ้นอีก ซึ่งเธอก็ต้องเผชิญหน้ากับผลข้างเคียงของยาอีก เป็นวัฏจักรเช่นนี้ซึ่งเธอไม่ชอบใจนัก โดยเฉพาะอาการดังกล่าวทำให้สมองไม่ปลอดโปร่ง ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
“ช่วงที่มีอาการหมอจะตรวจพบว่าเกล็ดเลือดต่ำ ต้องกินยาอีก ซึ่งกินทีก็ต้องกินติดต่อกันนานเป็นปีกว่าเกล็ดเลือดจะสูงและลดยาได้ และเราพบว่าเกล็ดเลือดของเรามันขึ้นลงตามปริมาณยา ไม่ได้สเตเบิ้ล(stable – คงที่) ด้วยตัวมันเอง”
เธอจึงเบื่อ ประกอบกับอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี สุดท้ายด้วยความใจเด็ด คุณวิไลลักษณ์หันหลังให้ยา แล้วกลับมาดูแลตัวเองด้วยแนวทางชีวจิตอย่างเข้มข้น