บรรเทาโรคเอสแอลอีด้วยการดูแลตัวเอง

บรรเทาโรคเอสแอลอีด้วยการดูแลตัวเอง

ปวดเพราะเอสแอลอี เกาต์ หรือรูมาทอยด์

คุณหมอกิติกล่าวว่า อาการปวดข้อของ โรคเอสแอลอี ไม่ต่างจากโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เพียงแต่คนไข้ที่เป็น โรคเอสแอลอี จะเป็นคนไข้ที่มีอายุน้อยกว่าคนไข้ที่เป็นโรคข้ออักเสบรูมาทอยด์ เพราะสองโรคนี้จะมีอาการปวดข้อนิ้วมือ ข้อมือ และมีอาการข้อบวมเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้แยกกันไม่ออก ซึ่งต้องอาศัยการตรวจเลือดเพิ่มเติม

ส่วนเกาต์จะสังเกตความแตกต่างได้ง่ายกว่า เพราะเกาต์จะเป็นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี นอกจากนี้เวลาปวดเพราะโรคเกาต์ ผู้ป่วยจะเริ่มด้วยอาการปวดมากบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหรือข้อเท้าเท่านั้น ไม่ใช่ข้อนิ้วมือหรือข้อมือ

โรคเอสแอลอี

สาเหตุของ โรคเอสแอลอี

เราไม่ทราบว่า โรคเอสแอลอี เริ่มเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดจากสาเหตุอะไรแน่ แต่ทางการแพทย์เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกัน

ยีน จากการศึกษาโดยทีมวิจัย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสปี ค.ศ. 1997 และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสาธารณสุขโคโลราโด ปี ค.ศ. 2001 พบผลลัพธ์แบบเดียวกันว่า มียีนบางตัวที่ก่อให้เกิดโรคนี้โดยตรง หรือมียีนบางลักษณะเมื่อเกิดปฏิกิริยากับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะก่อให้เกิดโรคนี้

ในปีเดียวกัน คุณหมอเจมี่ มาร์ธ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโกทำการทดลองในหนูและพบว่า ระบบภูมิ-คุ้มกันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่จะก่อโรคนี้ ในกระบวนการสร้างคาร์โบไฮเดรตในร่างกายซึ่งผิดไปจากปกติ คุณหมอมาร์ธกล่าวว่า “สิ่งที่เราเอาเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าอาหาร มลภาวะ สารเคมี ล้วนแล้วแต่สามารถเปลี่ยนเซลล์คาร์โบไฮเดรตได้ทั้งสิ้น”

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างเป็นสาเหตุ เพราะคนไข้โรคหัวใจบางรายที่กินยา Procainamide หรือคนไข้ความดันโลหิตสูงบางรายที่กินยา Hydralazine ก็มีอาการของ โรคเอสแอลอี แต่เมื่อหยุดยาโรคก็หายไป

แต่เรื่องของยาก็ไม่เกิดขึ้นบ่อย เมื่อเทียบกับแสงแดด สารเคมี หรือโลหะหนัก รวมถึงความเครียดและเชื้อโรคต่างๆ นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศหญิงก็มีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ เพราะผู้ป่วยบางรายมีอาการของ โรคเอสแอลอี ช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือขณะตั้งครรภ์

เอนไซม์ เดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2000 นิตยสาร Nature Genetics รายงานว่านักวิทยาศาสตร์พบว่าเอนไซม์ Dnase-1 มีส่วนทำให้เกิด โรคเอสแอลอี เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายสายป่าน DNA หลังจากการตายของเซลล์ จากการทดลองในหนูพบว่า หากกระบวนการทำลายสายป่าน DNA ขัดข้อง ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านระบบภูมิคุ้มกัน และขณะเดียวกันในการศึกษาผู้ป่วยโรคเอสแอลอี 10 ราย พบว่ามี 4 รายที่เอนไซม์ Dnase-1 ทำงานน้อยลง

ประวัติครอบครัว พบว่าผู้ป่วย โรคเอสแอลอี 10 เปอร์เซ็นต์มีพ่อแม่หรือญาติป่วยเป็นโรคนี้ด้วย และพบเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เป็นโรคนี้มีแม่ป่วยเป็นโรคเอสแอลอี

เป็นโรคเอสแอลอีปฏิบัติตัวอย่างไร

เพราะเป็นโรคที่ซับซ้อน ยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่พบ นอกจากการรักษาที่ถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยยังต้องได้รับคำแนะนำและปฏิบัติตัวให้ถูกต้องอีกด้วยเพื่อการรักษาจะได้ผลดี??นั่นคือ

– ผู้ป่วยต้องเข้าใจเกี่ยวกับ โรคเอสแอลอี

– ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ตั้งแต่รับประทานยา มาติดตามการรักษา และการปฏิบัติตัว

– หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้โรคกำเริบ เช่น แสงแดดไม่ควรถูกแสงแดดแรงในช่วงเวลา 8.00 น.-16.00 น.

– หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ การทำงานหนัก ตรากตรำ อดนอนไม่สบายใจ อาจทำให้โรคกำเริบ

– หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ เช่น อยู่ห่างจากผู้ป่วยโรคหวัด เพราะผู้ป่วย โรคเอสแอลอี มักได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิหรือยาสเตียรอยด์ ทำให้การต่อต้านการติดเชื้อลดลง เมื่อติดเชื้อจึงรุนแรงกว่าคนปกติ และสามารถกระตุ้นให้โรคเอสแอลอีกำเริบ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

– พยายามพักผ่อนให้พอเพียง และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันได้รับการปรับให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น เป็นการป้องกันการติดเชื้อ

– กินอาหารเพื่อสุขภาพ (ยิ่งถ้าเป็นตามสูตรชีวจิตยิ่งดี เพราะอาหารชีวจิตเพิ่มความแข็งแรงของระบบอิมมูนซิสเต็ม) และอาหารจำเป็นต้องสะอาดหรือต้มสุกเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อย่างเช่นส้มตำพบบ่อยๆ ว่า ทานส้มตำแล้วติดเชื้อไทฟอยด์สูงมาก และเมื่อเชื้อไทฟอยด์เข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่หายไปง่ายๆ

โรคเอสแอลอี

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 232

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.