เรื่องนี้เพื่อผู้สูงวัย…กับการเตรียมพร้อมกายใจ ก่อนช่วงสุดท้ายของชีวิต!

เรื่องนี้เพื่อผู้สูงวัย…กับการเตรียมพร้อมกายใจ ก่อนช่วงสุดท้ายของชีวิต!

เคยคิดกันบ้างมั้ยว่าทุกวันนี้คนเราใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ได้ตระหนักถึงจุดสุดท้ายของชีวิต นั่นก็คือเรื่องของ “ความตาย” บางคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวยังมาไม่ถึง บางคนมองเป็นเรื่องปกติที่ไม่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมใดๆ ในชีวิต แต่แท้จริงแล้วความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่ทุกคนคิด

เราเคยได้ไปอ่านเจอผลการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องการรับรู้และทัศนคติของประชาชนต่อการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยนึกถึงและหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงความตาย แต่จะเริ่มนึกถึงความตาย เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพ สาเหตุที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการพูดถึงความตาย เพราะทัศนคติความเชื่อ และพฤติกรรมของคนในสังคมไทยมองว่าการพูดถึงการตายเป็นเรื่องไม่เป็นมงคลต่อชีวิตและครอบครัว

และเมื่อคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่นึกถึงเรื่องนี้ การรับรู้เรื่องการดูแบบประคับประคองที่เป็นบริการการดูแลระยะสุดท้ายซึ่งมีมานานแล้วก็ได้รับการรับรู้น้อยตามไปด้วย ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย บริการดูแลแบบประคับประคองนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต

ผลสำรวจยังพบว่า คนไทยกว่า 75% ไม่เคยรู้ว่ามีบริการดังกล่าว คนที่รู้ส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาสุขภาพ หรือมีประสบการณ์จากการดูแลคนในครอบครัว และ 79% ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการวางแผนการดูแลล่วงหน้าก่อนตาย หรือการทำพินัยกรรมชีวิต (Living will) มาก่อน จึงไม่ได้เตรียมการสำหรับช่วงท้ายของชีวิต

วันนี้ “ชีวจิตออนไลน์” จึงต้องการหยิบเรื่องนี้พูดถึงให้คุณผู้อ่านได้รับรู้พร้อมกัน เกี่ยวกับการเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนช่วงสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง เพราะเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากการวางแผนชีวิตในช่วงอื่นนั่นเองค่ะ

เชื่อว่าลึกๆ แล้วทุกคนล้วนมีความต้องการที่จะมีชีวิตช่วงท้ายที่ทรมานน้อยที่สุด ไม่เป็นภาระแก่คนรอบข้าง และจากไปอย่างมีคุณภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการตายดีของหลายคน แต่บางคนมีสิ่งที่ต้องการมากกว่านั้น เช่น ไม่ต้องการให้ปั๊มหัวใจ ไม่ต้องการสอดท่อช่วยหายใจ หรือการรักษาบางอย่างที่ทำไปเพียงเพื่อจะยื้อชีวิตเราไว้เท่านั้น แต่เราเคยบอกความประสงค์เหล่านั้นให้แก่คนรอบข้างแล้วหรือยัง

การทำพินัยกรรมชีวิต หรือ Living Will จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ปัจจุบันความคุ้มครองทาง กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้

นอกการจากการเขียน Living Will จะช่วยแสดงความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วยแก่คนรอบข้างแล้ว ยังช่วยให้ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาแบบประคับประคองได้อย่างสบายใจ

นอกจากนี้ในมุมมองทางการแพทย์ การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative care เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยและครอบครัวได้วางแผนเลือกวิธีการรักษาร่วมกัน เช่น ต้องการอยู่ที่บ้านหรือโรงพยาบาล เมื่อหัวใจหยุดเต้น อยากให้แพทย์กระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นหรือไม่ ต้องการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ การใช้เครื่องช่วยหายใจหรือไม่ เป็นต้น ผู้ป่วยสามารถแสดงต้องการเหล่านี้ไว้ได้ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ได้ใน 2 รูปแบบ

  1. จัดทำเอกสารเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของตนเองเกี่ยวกับการเลือกวิธีการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย
  2. มอบหมายให้บุคคลใกล้ชิดมีอำนาจตัดสินใจเรื่องการดูแลทางการแพทย์ในวาระสุดท้ายของตน

ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยระยะท้ายมักมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่ญาติอาจตกใจและรับมือไม่ถูก เช่น หายใจติดขัด หอบ อาการกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ อ่อนเพลีย หรือ ระบบการย่อยอาหารที่ผิดปกติไป ญาติจึงต้องเตรียมความพร้อมและฝึกรับสภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เราปฏิเสธความตายไม่ได้ แต่การเตรียมการที่ดีจะลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การปรับทัศนคติและตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมการก่อนตายจึงเป็นเรื่องที่ไม่ว่าอายุเท่าใด ก็ควรทำความเข้าใจและเตรียมไว้ล่วงหน้าได้เสมอค่ะ

สำหรับใครที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการเตรียมใจก่อนช่วงสุดท้ายของชีวิต และต้องการรับรู้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถไปพบกันได้ที่งาน  “กินดี อยู่ดี by ชีวจิต” วันที่ 7-10 พฤศจิกายนนี้ ณ ฮอลล์ 5 อิมแพ็ค เมืองทองธานี  

ภายในงานจะมีเสวนาเกี่ยวกับ “เตรียมความพร้อมกายใจ เดินทางสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่างเปี่ยมสุข” วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2562  โดยทุกท่านจะได้รับข้อมูลที่อัดแน่นไปด้วยสาระประโยชน์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมายหลายท่าน

แล้วอย่าลืมไปพบกันที่งานนะคะ!

ขอบคุณข้อมูลจาก: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

“การจัดสวนบำบัด” ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ และซึมเศร้า!

สูงวัยสุขภาพดีได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ชีวิตตามหลัก 6 อ.

เทคนิคช่วยกล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันการหกล้มในผู้สูงวัย!

 

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.